06 กรกฎาคม 2560

ยุคสุดท้ายไม่ใช่อนาคตของพวกเรา

ยุคสุดท้ายไม่ใช่อนาคตของพวกเรา โดย Haiyong Kavilar
เมื่อกล่าวถึงคำว่า ยุคสุดท้าย บางคนก็นึกถึง ภัยพิบัติและความทุกขเวทนาต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ว่าคำว่า ยุคสุดท้าย ในพระคัมภีร์มีความหมายว่าอย่างไร? ใช่อนาคตของพวกเราหรือไม่? ในมุมมองแบบอนาคตมืดมนมองว่า ยุคสุดท้าย หมายถึงอนาคตของพวกเรา

  
อัครทูตในพระคัมภีร์เชื่อว่ายุคสมัยของเขาคือ ยุคสุดท้าย
            ในพระคัมภีร์ ดูเหมือนว่าอัครทูตที่เขียนพันธสัญญาใหม่ต่างก็มีความเชื่อว่าพวกเขาอยู่ในยุคสุดท้ายหรือในวาระสุดท้ายแล้ว ขณะที่เปโตรเริ่มจะเทศนาในวันเพนเทคอส เขาได้กล่าวว่า

(กิจการ 2:16-17) แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตามคำที่โยเอลผู้เผยพระวจนะกล่าวไว้ว่า ‘พระเจ้าตรัสว่า ในวาระสุดท้าย เราจะเทพระวิญญาณของเราบนมนุษย์ทั้งหมด บุตรา บุตรีของท่านทั้งหลายจะเผยพระวจนะ

คำว่าวาระสุดท้ายนี้ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Last Days ที่แปลว่าวันสุดท้าย นี่หมายความว่าเปโตรเข้าใจว่าตัวเขาเองกำลังอยู่ในยุคสุดท้าย ซึ่งไม่ใช่แค่เปโตรเท่านั้นที่เข้าใจอย่างนี้ แม้แต่เปาโล ยากอบ กับยอห์นก็เข้าใจแบบนี้

(1 โครินธ์ 10:11) เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับพวกเขาเพื่อเป็นตัวอย่าง และได้เขียนไว้เพื่อเตือนสติเราผู้ซึ่งมาถึงวาระสุดท้ายของยุคนี้แล้ว

(ยากอบ 5:3) ท่านสะสมสมบัติไว้สำหรับวาระสุดท้าย

(1 ยอห์น 2:18) ลูกทั้งหลายเอ๋ย บัดนี้เป็นวาระสุดท้าย[Last Hour]แล้ว

จดหมายยอห์นเป็นจดหมายที่เขียนในช่วงเวลาท้ายๆของพระคัมภีร์ โดยคำว่าวาระสุดท้ายในภาษาอังกฤษที่ปรากฏในหนังสือยอห์นจะใช้คำว่า Last Hour หรือ ชั่วโมงสุดท้ายซึ่งเป็นการใช้คำที่แตกต่างจากจดหมายของอัครทูตคนอื่นที่ใช้เพียงคำว่า Last Days ที่แปลว่า วันสุดท้ายนั่นหมายความว่าอัครทูตที่เขียนพระคัมภีร์นั้น ในช่วงแรกๆพวกเขาต่างเชื่อว่าตนเองกำลังอยู่วันสุดท้ายของยุคแล้ว แต่พอวันเวลาผ่านไปจนถึงสมัยของยอห์น พวกเขาก็เชื่อว่าตนเองกำลังอยู่ในชั่วโมงสุดท้ายแล้ว

แนวทางการตีความคำว่า ยุคสุดท้าย
            เป็นที่แน่นอนว่า ผู้เขียนพระคัมภีร์ต่างเชื่อว่าตนเองกำลังอยู่ในยุคสุดท้าย แต่คำว่ายุคสุดท้ายนั้นหมายความว่าอะไร? และยุคสุดท้ายกินเวลานานขนาดไหน?

            มีแนวคิดหนึ่งที่สอนว่ายุคสุดท้ายเริ่มต้นตั้งแต่วันเพนเทคอสและจะยืดยาวจนถึงการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซู แต่เมื่อพิจารณาแนวคิดนี้อย่างจริงจัง แนวคิดนี้จะดูเหมือนจะขัดกับอารมณ์ความรู้สึกของยอห์นที่เชื่อว่าตนกำลังอยู่ในชั่วโมงสุดท้ายแล้ว

            เป็นการดีที่จะพิจารณาถึงความหมายของคำว่า ยุคสุดท้าย เป็นไปได้ไหมที่คำว่ายุคสุดท้ายจะไม่ได้หมายถึงจุดจบของโลก แต่หมายถึงจุดจบของพันธสัญญญาเดิม

            เมื่อพระเยซูตายบนไม้กางเขน พันธสัญญาใหม่ก็ถือกำเนิดขึ้น ส่วนพันธสัญญาเดิมที่มีการถวายเครื่องบูชาก็เป็นอันยุติ จริงอยู่ที่ว่าการตายบนไม้กางเขนของพระเยซู จะเป็นการยุติพันธสัญญาเดิม แต่โดยกางเขน พันธสัญญาเดิมก็ยังไม่ยุติอย่างบริบูรณ์ เพราะพระวิหารซึ่งเป็นสถานที่ของการถวายสัตวบูชาของพันธสัญญาเดิมยังคงตั้งอยู่

            ในพันธสัญญาเดิม พระวิหารนับเป็นศูนย์รวมจิตใจสำคัญของผู้คน ทว่าในพันธสัญญาใหม่ คริสตจักรได้กลายมาเป็นพระวิหารของพระเจ้า พระวิหารที่เป็นอาคารสถานที่จึงไม่จำเป็นต้องมีอีก แม้ว่าพันธสัญญาเดิมจะสิ้นสุดลงแล้วที่กางเขน แต่พระวิหารในเยรูซาเล็มก็ยังมีอยู่ ทว่าในปี คศ.70 (40 ปี หลังการตายของพระเยซู) พระวิหารในเยรูซาเล็มก็ถูกทำลาย พันธสัญญาเดิมที่มีพระวิหารเป็นสัญลักษณ์สำคัญก็ได้ปิดฉากลงอย่างบริบูรณ์

            สรุปแล้วผมต้องการจะสื่อว่า คำว่า ยุคสุดท้าย ในพระคัมภีร์ไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุดของโลก แต่หมายถึงการสิ้นสุดของพันธสัญญาเดิมซึ่งสิ้นสุดลงอย่างบริบูรณ์เมื่อพระวิหารถูกทำลายในปี คศ.70 เมื่ออัครทูตในพระคัมภีร์กล่าวว่าตนเองกำลังอยู่ในวาระสุดท้าย พวกเขากำลังสื่อว่าพวกเขากำลังอยู่ในวาระสุดท้ายของพันธสัญญาเดิม พวกเขากำลังอยู่ในวาระที่ว่าอีกไม่นานพระวิหารในเยรูซาเล็มจะถูกทำลายและเมื่อพระวิหารในเยรูซาเล็มถูกทำลาย วาระสุดท้ายหรือยุคสุดท้ายก็ได้ผ่านพ้นไป 
            ในพระคัมภีร์ได้กล่าวพยากรณ์ไว้ว่าในช่วงยุคสุดท้าย หัวใจของผู้คนจะเสื่อมทราม ซึ่งถ้าดูจากประวัติศาสตร์แล้วจะพบว่า ในช่วงก่อนปี คศ.70 ก็เกิดความเสื่อมทรามกับผู้คนโดยเฉพาะในเยรูซาเล็ม ตามบันทึกประวัติศาสตร์ว่ากันว่า ขณะที่กองทัพโรมกำลังล้อมกรุงเยรูซาเล็มในช่วงปี คศ.70 นั้น ความรักของผู้คนในเยรูซาเล็มก็เยือกเย็นลงมากและการกันดารอาหารก็เกิดขึ้น ความกันดารอาหารนี้รุนแรงถึงขนาดที่ว่าพ่อแม่ต้องฆ่าทารกที่เป็นบุตรของตนเพื่อนำมาต้มกิน

ถ้าเราตีความว่า ยุคสุดท้ายหมายถึงอนาคตพวกเรา การตีความแบบนี้ก็จะสร้างความคาดหวังของอนาคตแบบมืดมน โดยจะเชื่อว่าในอนาคตหัวใจของผู้คนจะต่ำทรามลง แต่ถ้าเราตีความว่า ยุคสุดท้ายหมายถึงช่วงปี คศ.70 การตีความแบบนี้ก็จะสร้างความคาดหวังที่สดใสขึ้น เพราะการตีความนี้มองว่าความมืดมนหรือความต่ำทรามได้เกิดขึ้นและสิ้นสุดลงไปแล้วในช่วงปี คศ.70

(1 ทิโมธี 3:1-6) แต่จงเข้าใจข้อนี้คือ วาระสุดท้ายนั้นจะเป็นเวลาที่น่ากลัว เพราะผู้คนจะเห็นแก่ตัว รักเงินทอง โอ้อวด หยิ่งยโส ชอบดูหมิ่น ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ อกตัญญู ชั่วร้าย ไร้มนุษยธรรม ไม่ให้อภัยกัน ใส่ร้ายกัน ไม่ยับยั้งชั่งใจ ดุร้าย เกลียดชังความดี ทรยศ มุทะลุ โอหัง รักความสนุกมากกว่ารักพระเจ้า ยึดถือทางพระเจ้าแต่เพียงเปลือกนอก แต่ปฏิเสธฤทธิ์เดชของทางนั้น จงอย่าเกี่ยวข้องกับคนพวกนั้น เพราะในพวกนั้นมีบางคนที่แอบไปตามบ้าน แล้วครอบงำบรรดาผู้หญิงเบาปัญญาที่หนาด้วยบาปและหลงใหลไปตามตัณหาต่างๆ

หากเราตีความข้อพระคัมภีร์นี้ตามมุมมองแบบอนาคตมืดมน(มุมมองที่มองว่ายุคสุดท้ายคืออนาคตของพวกเรา) ก็จะมองว่าในอนาคต ผู้คนจะเลวทรามลงไปเรื่อยๆ แต่หากเราตีความตามมุมมองแบบอดีตมืดมนบางส่วน(มุมมองที่มองว่ายุคสุดท้ายคือช่วงปี คศ.70) ก็จะมองว่าความเลวทรามอย่างนี้ เกิดขึ้นในช่วงก่อนพระวิหารจะถูกทำลายในปีคศ.70 เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงอนาคตของพวกเรา เพราะตัวเปาโลเองก็เข้าใจว่าตัวเขากำลังอยู่ในวาระสุดท้าย ซึ่งวาระสุดท้ายนี้หมายถึงวาระที่พันธสัญญาเดิมกำลังจะสิ้นสุดอย่างบริบูรณ์

สรุป
ยุคสุดท้ายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วในช่วงปีคศ.70 ดังนั้นคำพยากรณ์ที่บอกว่าในวาระสุดท้ายคนจะเสื่อมทรามลงนั้น หมายถึงเฉพาะช่วงปีคศ.70 เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงอนาคตของพวกเราแต่อย่างใด เวลาที่เราเห็นความเสื่อมทรามของอาชญากรในข่าว เราไม่ควรจะผูกอาชญากรเหล่านั้นเข้ากับข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวกัน หากเราสำรวจข้อมูลทางสังคมวิทยา เราอาจพบว่าสังคมไม่ได้เสื่อมทรามลง แต่กำลังดีขึ้นด้วยซ้ำ เพราะอาณาจักรพระเจ้ากำลังแผ่ขยายไปทั่วแผ่นดินโลก


แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
หนังสือ Victorious Eschatology เขียนโดย Harold Eberle และ Martin Trench
หนังสือ Understanding the Whole Bible เขียนโดย Jonathan Welton

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น