21 กรกฎาคม 2560

ในโบสถ์เดียวกัน ทุกคนต้องมีความเห็นด้านคำสอนเหมือนกันหรือไม่?

ในโบสถ์เดียวกัน ทุกคนต้องมีความเห็นด้านคำสอนเหมือนกันหรือไม่? โดย Haiyong Kavilar

          อัครทูตปีเตอร์ แวกเนอร์ ได้ให้ความเห็นว่าตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา คริสตจักรในโลกตะวันตกก็ได้ประสบกับการปฏิรูปเรื่องสำคัญ นั่นก็คือการปฏิรูปเรื่องอัครทูตครั้งใหม่(New Apostolic Reformation) ซึ่งการปฏิรูปนี้กำลังนำการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อรูปแบบการทำคริสตจักร นับตั้งแต่การจัดวางลำดับสิทธิอำนาจ รูปแบบการนมัสการ และอื่นๆ การปฏิรูปเรื่องอัครทูตครั้งใหม่นี้กำลังพลิกโฉมคริสตจักรอย่างลึกซึ้งนับตั้งแต่ที่มีการปฏิรูปโปรเตสแตนต์เป็นต้นมา

               ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีทางการสื่อสารพัฒนาไปมาก แม้เราจะเป็นสมาชิกในโบสถ์หนึ่ง แต่ด้วยเทคโนโลยีทางอินเตอร์เนท เราก็สามารถฟังคำเทศนาของโบสถ์อื่นๆได้อย่างง่ายดาย ปัจจุบันนี้ สมมติถ้าเราอยู่คณะเพนเทคอส เราก็สามารถหาฟังคำสอนจากคณะเพรสไบทีเรียนหรือคณะอื่นๆได้ไม่ยาก ด้วยเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่กว้างไกล แม้ว่าเราจะอยู่ไปโบสถ์หนึ่งเป็นประจำ แต่เราอาจจะชอบคำเทศนาของโบสถ์อื่นมากกว่า ซึ่งท้ายสุด แม้ร่างกายเราจะไปโบสถ์หนึ่งเป็นประจำ แต่หัวใจของเราอาจจะไม่เห็นด้วยกับคำสอนในโบสถ์ที่เราไปเป็นประจำ บางครั้งกรอบความคิดของเรา ก็ได้รับอิทธิพลจากหลายๆโบสถ์รวมกัน ซึ่งอาจจะเป็นกรอบความคิดที่มาจากโบสถ์ของตนเองผสมผสานไปกับคำสอนของโบสถ์อื่นๆ

            เหตุที่เทคโนโลยีทางอินเตอร์เนทที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว การทำให้ทุกคนในโบสถ์แห่งหนึ่งมีกรอบความคิดที่เหมือนกันก็เป็นไปได้ยากมาก เพราะแต่ละคนก็สามารถได้รับอิทธิพลจากคำสอนของโบสถ์อื่นๆซึ่งหาฟังได้ตามอินเตอร์เนท ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อาณาจักรพระเจ้าสามารถรุดหน้าไปจะไม่ได้อยู่กับการบีบบังคับให้ทุกคนในโบสถ์มีกรอบความคิดแบบเดียวกัน แต่การรุดหน้าของอาณาจักรพระเจ้าก็คือความหลากหลายในพระกายแต่ยังคงความเป็นหนึ่งเดียวกัน

            ปีเตอร์ แวกเนอร์ ได้กล่าวถึงความหลากหลายของพระกายไว้ในหนังสือ The Book of Acts A Commentary (อรรถาธิบายหนังสือกิจการ) ไว้ว่า แม้บางคนจะรู้สึกอึดอัดกับความมากมายของโบสถ์ต่างๆ ขององค์กรมิชชัน ของคณะนิกาย หรือของเครือข่ายอัครทูต ทว่าโดยปกติแล้ว ตราบเท่าที่ความเป็นหนึ่งในฝ่ายวิญญาณยังดำรงอยู่ ยิ่งองค์กรมีอยู่หลากหลายมากเท่าใด อาณาจักรของพระเจ้าก็ยิ่งรุดหน้าไปได้มากเท่านั้น
  
            ในฤดูกาลนี้ ก็เป็นวาระหนึ่งของการเปลี่ยนถ่ายจากการขับเคลื่อนแบบศิษยาภิบาลสู่การขับเคลื่อนแบบอัครทูต ลักษณะหนึ่งของการขับเคลื่อนแบบศิษยาภิบาลคือ การไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง การคงอยู่กับในสภาพเดิม และการบังคับให้สมาชิกทุกคนมีความเห็นเหมือนกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา แต่ลักษณะของการขับเคลื่อนแบบอัครทูตจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นระยะๆ มีการกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์ กรอบความคิดแบบอัครทูตจะพร้อมเผชิญกับความเห็นต่างและความหลากหลายเพื่อให้อาณาจักรพระเจ้าได้รุดหน้าต่อไป ในกรอบความคิดแบบอัครทูต ผู้คนในกองทัพแห่งอาณาจักรไม่จำเป็นต้องมีความคิดเห็นด้านคำสอนที่เหมือนกัน แต่ผู้คนในกองทัพสามารถร่วมประสานกันได้ โดยที่แต่ละฝ่ายต่างก็ทำหน้าที่ตามการทรงเรียกที่ตนได้รับจากองค์พระผู้เป็นเจ้า

            หากเพื่อนๆศึกษากระบวนการเคลื่อนไหวในกลุ่มอัครทูต เพื่อนๆจะพบว่าในหลายครั้งอัครทูตแต่ละคนก็มีความเห็นในด้านคำสอนที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น อัครทูตปีเตอร์ แวกเนอร์ กับ อาจารย์โรเบิร์ต ไฮเลอร์ แม้ว่าพันธกรทั้งสองท่านนี้จะอยู่ในองค์กรเดียวกัน แต่พันธกรทั้งสองท่านนี้ก็มีนิยามเกี่ยวกับของประทาน ถ้อยคำของความรู้(Word of Knowledge) ที่ไม่เหมือนกัน และยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องภาษาแปลกๆที่แตกต่างกันด้วย (แวกเนอร์มองว่าภาษาแปลกๆนับเป็นของประทานอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะมีของประทานนี้ ด้วยเหตุนี้แวกเนอร์จึงมองว่า คริสเตียนบางคนที่ไม่มีของประทานการพูดภาษาแปลกๆต่อให้เขาพยายามมากขนาดไหนเขาก็พูดภาษาแปลกๆไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม ไฮเลอร์มองว่าภาษาแปลกๆเป็นของประทานที่ผู้เชื่อทุกคนสามารถปลดปล่อยออกมาได้ ด้วยเหตุนี้ไฮเลอร์จึงมองว่าทุกคนสามารถพูดภาษาแปลกๆได้ - รายละเอียดของความแตกต่างนี้เพื่อนๆสามารถหาอ่านได้จากหนังสือ Your Spiritual Gifts Can Help Your Church Grow ที่เขียนโดยแวกเนอร์ กับหนังสือ Experiencing the Sprit ที่เขียนโดยไฮเลอร์)
 
เพื่อนของผมคนหนึ่งได้แปลคำกล่าวของคริส แวลโลตันไว้ว่า
         คริส แวลโลตัน เล่าว่า มีอยู่วันนึงพระเจ้าทรงตรัสกับเขาเรื่อง “การเปลี่ยนถ่ายสภาพจากการเป็นนิกายไปสู่สภาวะแห่งความเป็นเครือข่ายอัครทูต”

สิ่งที่จุดประกายความคิด โดยยังไม่ต้องพูดถึงความถูกผิด เราจะพบว่า ในช่วงระยะเวลาสองพันปีที่ผ่านมา การแยกตัวออกจากคาทอลิกเกิดขึ้นเพียงสองครั้งเท่านั้น ครั้งนึงคือ มาร์ติน ลูเธอร์ ส่วนการแยกตัวภายในนิกายโปรเตสแตนต์เกิดขึ้นมากมายต่อเนื่องเรื่อยมาแม้แต่เพียงแค่ระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาก็มี.....สิ่งที่น่าสังเกตคือ ระบบการปกครองของคาทอลิก มีโป๊ปเป็นผู้นำสูงสุด ซึ่งแปลว่า “พ่อ” ส่วนโปรเตสแตนต์ มีชื่อว่า “ผู้ประท้วง”
        ความเป็นนิกาย (Denomination) คือ พวกเขามารวมตัวกันเพราะความเห็นพ้อง และเมื่อไม่เห็นพ้อง พวกเขาก็แยกตัวออกจากกัน แล้วถ้าเราอยู่ใน “ความเป็นนิกาย” เราจะพยายามอย่างยิ่ง ทำยังไงก็ได้ เพื่อไม่ให้พวกเรา “ไม่เห็นพ้อง” แล้วจากนั้น เพื่อไม่ให้เกิดการ “ไม่เห็นพ้อง” เราก็ต้องจำกัดการออกความเห็น ซึ่งการออกความเห็นมาจากการที่เราเริ่มคิด ดังนั้นแล้ว สิ่งที่พวกเราทำกันใน “ความเป็นนิกาย” คือ ทำยังไงก็ได้ เพื่อที่เขาจะไม่ใช้ความคิด เพราะการคิด เป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่งยวดใน “ความเป็นนิกาย” และเมื่อเราทำการเทศนา เราจะเทศน์เพื่อโน้มน้าวความคิดคน แทนที่จะเทศน์เพื่อจุดประกายความคิดคน เพราะการจุดประกายความคิด จะทำให้คนเริ่มคิด และความคิดเป็นสิ่งอันตรายอย่างยิ่งยวดต่อ “ความเป็นนิกาย” ซึ่งนั่นทำให้ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมนวัตกรรมใหม่ ๆ มักจะไม่เกิดขึ้นจากภายในคริสตจักร เพราะคริสตจักรส่วนมากฝังรากฐานอยู่ใน “ความเป็นนิกาย”

ความเป็นเครือข่ายอัครทูต (Apostolic) พวกเขามารวมตัวกัน ไม่ใช่เพราะพวกเขาเห็นพ้องต้องกัน แต่เพราะความเป็นครอบครัว ความเป็นสมาชิกในครอบครัวเป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้ ความเป็นเพื่อนเลือกได้ คริสตจักรไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมันเป็นองค์ประชุมในที่ประชุมที่ไหนสักแห่ง แต่เกิดขึ้นเพราะมันเป็นพันธสัญญาที่เกิดขึ้นเมื่อเรารับพระคริสต์เข้ามาในชีวิต ซึ่งพันธสัญญาหมายถึง “ฉันจะอยู่กับเธอจนกว่าความตายจะแยกจากกัน” และที่เรามาอยู่ร่วมกัน ก็ไม่ใช่เพราะเราเชื่อทุกอย่างเหมือนกันหมดเลย แต่เป็นเพราะเรามี “พ่อ” องค์เดียวกัน เรามีครอบครัวเดียวกัน อยู่ในครอบครัวเดียวกัน เราอยู่กันเป็นเครือข่ายแบบอัครทูต ซึ่งนั่นหมายความว่า ฉันไม่จำเป็นต้องมีความเห็นพ้องต้องกันกับคนอื่น ๆ ภายใต้หลังคาเดียวกันนี้ก็ได้ แล้วความคิดเรื่องถุงหนังองุ่นใหม่นี้ ควรจะมีโครงสร้างองค์กรที่ทำให้พวกเราสามารถใช้ชีวิต มีความคิด มีแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ ได้ เพราะว่าการที่ฉันมีความคิดแตกต่าง แปลก ๆ ใหม่ ๆ ไม่เหมือนกับเธอ ก็ไม่ได้หมายถึง ฉันอยู่ร่วมกันกับเธอต่อไปไม่ได้อีกแล้ว และก็ไม่ได้หมายถึง การตีความพระคัมภีร์ต่างออกไปจากเธอ จะกลายเป็นการสื่อว่า ฉันไม่จงรักภักดีกับเธออีกต่อไปแล้ว ซึ่งเอาจริง ๆ นะ การที่ฉันเห็นต่าง กลับเป็นตัวสะท้อนว่า ฉันจงรักภักดีต่อเธอเสมอมาต่างหากด้วยซ้ำไป  

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
ขอขอบคุณ Tweelapaporn สำหรับการแปลคำกล่าวของ คริส แวลโลตัน

หนังสือ Changing Church เขียนโดย C. Peter Wagner

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น