เวลตันกับพันธสัญญาอันประเสริฐกว่า โดย Haiyong Kavilar
ที่ผ่านมา
ผมไม่ได้เห็นความสำคัญของความรักสักเท่าใด จากประสบการณ์ของผมที่ผ่านมา
ผมรู้สึกว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้ของประทานเกิดผลก็คือ “ปัญญา” แม้ว่าผู้เผยพระวจนะที่มีชื่อเสียงหลายท่าน
(เช่น คริส แวลโลตัน, แพททรีเซีย คิง,
ฌอว์น บอลซ์) จะเน้นย้ำเน้นหนาว่า ความรักเป็นสิ่งสำคัญ
แต่ผมกลับไม่ได้รู้สึกเห็นค่าของความรักสักเท่าใด จากประสบการณ์ของผม ผมรู้สึกว่า
เพียงแค่ผมพึ่งปัญญาและข้อแนะนำจากผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ในด้านการเผยพระวจนะ
ผมก็สามารถรับมือกับคำเผยพระวจนะและปลดปล่อยคำเผยพระวจนะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากแล้ว
แม้ว่าผู้เผยพระวจนะที่มีชื่อเสียงหลายท่านได้ให้ความสำคัญกับความรัก
ทว่าคำแนะนำในเรื่องความรักจากผู้เผยพระวจนะเหล่านี้ก็ไม่สามารถจูงใจผมได้มากนัก
เหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะ เหตุผลในการจูงใจเหล่านั้นมักจะเป็นมาจากประสบการณ์และความรู้สึก
แต่ไม่ได้ใช้เหตุผลจากพระคัมภีร์มากนัก
เนื่องจากตัวผมค่อนข้างให้ความสำคัญกับพระคัมภีร์มาก
ดังนั้นการที่จะจูงใจผมในเรื่องใด
ก็ควรใช้เหตุผลจากพระคัมภีร์ประกอบกับการอรรถาธิบายที่มีเหตุผล
การใช้เพียงประสบการณ์ประกอบกับข้อพระคัมภีร์เล็กๆน้อยๆอาจไม่จูงใจคนอย่างผมสักเท่าไร
โจนาธาน เวลตัน (Jonathan Welton) |
และแล้ว วีรบุรุษคนหนึ่งก็มาถึง
วีรบุรุษของผมคนนี้เป็นนักวิชาการ เป็นอัครทูต และเป็นผู้เผยพระวจนะด้วย
วีรบุรุษของผมคนนั้นก็คือ โจนาธาน เวลตัน เนื่องจากที่ผ่านมา
ผมสังเกตว่าผู้เผยพระวจนะที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เน้นในเรื่องของประสบการณ์และความรู้สึกมาก
แต่ไม่เน้นในเรื่องของวิชาการทางพระคัมภีร์สักเท่าไร ในทางตรงกันข้าม
เมื่อผมสังเกตเห็นนักวิชาการทางพระคัมภีร์หลายท่านที่มีชื่อเสียง
แม้ผมจะเห็นถึงความสามารถในทางวิชาการของพวกเขา
แต่ในเรื่องเกี่ยวกับการเผยพระวจนะแล้ว ดูเหมือนพวกเขาจะไม่มีประสบการณ์สักเท่าไร
ทว่า โจนาธาน เวลตัน
เป็นผู้หนึ่งที่มีทั้งด้านการเผยพระวจนะและด้านวิชาการผสมผสานกัน
ผมจึงรู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้รู้จักกับอัครทูตคนนี้
ในเรื่องของความรักแล้ว โจนาธาน เวลตัน สามารถโน้มน้าวใจให้ผมเห็นความสำคัญของความรักมากขึ้น
เขา(เวลตัน)สามารถโน้มน้าวใจผมในเรื่องความรักได้มากยิ่งกว่าผู้เผยพระวจนะที่มีชื่อเสียงหลายๆท่าน
สิ่งสำคัญที่ทำให้ผมเห็นความสำคัญของความรักก็คือ
ระบบการตีความพระคัมภีร์ที่เวลตันได้คิดค้นขึ้นมา ซึ่งมีชื่อว่า
ศาสนศาสตร์พันธสัญญาอันประเสริฐกว่า (Better
Covenant Theology)
ศาสนศาสตร์พันธสัญญาอันประเสริฐกว่าอธิบายว่า
เมื่อพระคริสต์สำเร็จการไถ่ที่กางเขน พันธสัญญาแห่งโมเสสก็เป็นอันสิ้นสุด
ส่วนพันธสัญญาแห่งดาวิดกับพันธสัญญาแห่งอับราฮัมก็ลุล่วง เมื่อพันธสัญญาใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นที่กางเขน
ธรรมบัญญัติของโมเสสทั้งหมด (613 ข้อ) ก็เป็นอันยุติ
คริสเตียนเรามักจะคุ้นเคยกับพระมหาบัญญัติสองข้อนั่นคือ
รักพระเจ้าสุดใจกับการรักเพื่อนบ้าน แต่พระมหาบัญญัติสองข้อนี้เป็นเพียงการสรุปรวบยอดของบัญญัติ
613 ข้อในพันธสัญญาเดิม แต่ในพันธสัญญาใหม่ พระเยซูผู้ซึ่งเป็นคนกลางแห่งพันธสัญญา
ได้กำหนดบัญญัติไว้เพียงข้อเดียวคือ “จงรักซึ่งกันและกัน”
และเนื้อความต่างๆจากจดหมายฝากของเหล่าอัครทูตก็มีรากฐานมาจากพระบัญญัติข้อเดียวนี้
ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา
เวลตันได้ประกาศถึงเสาหลัก 10 ประการสำหรับศาสนศาสตร์พันธสัญญาอันประเสริฐกว่า
ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
เสาหลัก 10
ประการของศาสนศาสตร์พันธสัญญาอันประเสริฐกว่า
เสาหลักที่1 การบังเกิดของพระเยซู เป็นการสำเร็จพันธสัญญาแห่งอับราฮัม (มัทธิว 1:1, กาลาเทีย 3:6, กิจการ
3:24-26)
เสาหลักที่2 การตายของพระเยซู เป็นการสถาปนาพันธสัญญาใหม่ (ฮีบรู 9:14-15)
เสาหลักที่3 พันธสัญญาใหม่กระทำโดยพระบิดาในฐานันดรของพระเจ้า
และพระบุตรในฐานันดรของมหาปุโรหิตแบบเมลคีเซเดค
เสาหลักที่4 การเสด็จขึ้นสู่สวรรค์และการประทับบนบัลลังค์ในสวรรค์ของพระเยซู
เป็นการสำเร็จพระสัญญาแห่งอาณาจักรของดาวิด (มัทธิว 1:1, กิจการ 2:29-36)
เสาหลักที่5 การล่มสลายของพระวิหารในปี คศ.70 เป็นการขจัดพันธสัญญาเดิมอย่างถาวร และทำให้ข้อพระคัมภีร์ (ฮีบรู 8:13) สำเร็จ ( ดูเพิ่มเติมได้ใน ฮีบรู 7:12, 10:9)
เสาหลักที่6 ระหว่างกางเขนจวบจน
คศ.70 กินเวลา 40 ปี
ซึ่งในช่วง 40 ปีนี้เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านแห่งพันธสัญญาของคริสตจักรในยุคแรก
(กิจการ 6:13-15,
21:21; กาลาเทีย 4:28-30)
เสาหลักที่7 ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านนี้
พันธสัญญาเดิมกับพันธสัญญาใหม่ดำรงอยู่อย่างควบคู่กัน
( 1 โครินธ์ 2:6, ฮีบรู 8:13, 9:8-10; 1 ยอห์น 2:8)
( 1 โครินธ์ 2:6, ฮีบรู 8:13, 9:8-10; 1 ยอห์น 2:8)
เสาหลักที่8 “วาระสุดท้าย” และ “การสิ้นยุค”
คือช่วงศตวรรษที่1
ซึ่งหมายถึงวาระสุดท้ายของพันธสัญญาเดิมและการสิ้นสุดของยุคพันธสัญญาเดิม
เสาหลักที่9 ระบบศักดินาและระบบญาติมิตรของพันธสัญญาแห่งโมเสสก็ไม่เป็นที่บังคับอีกต่อไป
ทั้ง เทศกาลต่างๆ สะบาโต กฏหมายแพ่ง ระเบียบทางพิธีกรรม
รวมถึงกฏเกณฑ์ทางศีลธรรม ทั้งหมดนี้ถูกขจัดเรียบร้อยแล้ว (โคโลสี 2:16-17; เอเฟซัส 2:15; กาลาเทีย 4:10-11, 5:6; ฮีบรู 9:9-10)
เสาหลักที่10 พระบัญญัติของพันธสัญญาใหม่คือ
“จงรักซึ่งกันและกันอย่างที่เราได้รักท่านทั้งหลาย” (ยอห์น 13:34, 15:12, 15:17; 1 โครินธ์ 9:19-22; 1 ยอห์น 3:23; 2 ยอห์น 1:6)
แหล่งข้อมูลแนะนำเพิ่มเติม
หนังสือ Understanding the Whole Bible เขียนโดย Jonathan Welton
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น