29 พฤษภาคม 2560

ภาษาแปลกๆมีหลายชนิด

         บทความเรื่อง "ภาษาแปลกๆมีหลายชนิด" 
                                       โดย Haiyong Kavilar

เนื่องจากว่า ในเย็นวันอังคารที่จะถึงนี้ (30/5/17) ก็จะก้าวเข้าสู่วันเพนเทคอสหรือเทศกาลชาวูโอตของชาวยิว ในวันเพนเทคอสแรกหลังจากที่พระเยซูทรงเป็นขึ้น ก็เกิดปรากฏการณ์การพูดภาษาแปลกๆเป็นครั้งแรกในพระคัมภีร์ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงอยากแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับภาษาแปลกๆจากหนังสือที่ผมกำลังเขียนอยู่ ส่วนหนึ่งของหนังสือที่ผมเขียนได้กล่าวถึง ภาษาแปลกๆที่หลากชนิด (Diverse Kinds of Tongues) เนื้อหาของบทความนี้ ผมได้ตัดต่อจากหนังสือที่ผมกำลังเขียนอยู่ ขอให้เพื่อนๆได้รับการเสริมสร้างผ่านบทความนี้นะครับ  
ผลลัพธ์เมื่อภาษาแปลกๆพัฒนา
            เมื่อภาษาแปลกๆของเราพัฒนาไปได้ระยะหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราจะสามารถพูดภาษาแปลกๆได้หลายรูปแบบหรือหลายชนิด 
            ภาษาแปลกๆเป็นของประทานหนึ่งที่มีหลายชนิด บางครั้งภาษาแปลกๆที่เราพูด ก็เป็นถ้อยคำภาษาที่ใช้สรรเสริญพระเจ้า บางครั้งภาษาแปลกๆก็อาจเป็นถ้อยคำภาษาที่ใช้วิงวอนต่อพระเจ้า บางครั้งภาษาแปลกๆก็อาจเป็นถ้อยคำภาษาในเชิงสงครามที่ใช้ต่อต้านสิ่งชั่วร้าย

ใน (1 โครินธ์ 12:10) ได้กล่าวถึงภาษาแปลกๆที่มีหลายชนิด
(1 โครินธ์ 12:10) ให้​อีก​คน​หนึ่ง​พูด​ภา​ษา​แปลกๆ
(1 โครินธ์ 12:10) to another various kinds of tongues,
 ปกติแล้วคำว่า ภาษาแปลกๆ จะแปลมาจากคำว่า Tongues ในภาษาอังกฤษ กระนั้นใน (1 โครินธ์ 12:10) ข้อพระคัมภีร์นี้ไม่ได้กล่าวถึง Tongues(ภาษาแปลกๆ) เพียงอย่างเดียว แต่ได้กล่าวถึง Various Kinds of Tongues(ภาษาแปลกๆที่หลากชนิด)ด้วย
 Tongues = ภาษาแปลกๆ
Various Kinds of Tongues = ภาษาแปลกๆที่หลากชนิด
 น่าเสียดายที่พระคัมภีร์ภาษาไทยฉบับนี้ไม่ได้แปลคำว่า Various Kinds of tongues เป็น ภาษาแปลกๆที่หลากชนิด แต่กลับแปลเป็นเพียง ภาษาแปลกๆ โดยไม่ได้เติมวลี ที่หลากชนิดซึ่งถ้าว่ากันตามภาษาอังกฤษหรือภาษากรีกแล้ว (1 โครินธ์ 12:10) สามารถแปลได้ว่า ให้อีกคนหนึ่งพูดภาษาแปลกๆที่หลากชนิด
             เมื่อของประทานด้านภาษาแปลกๆของเราได้รับการพัฒนา ภาษาแปลกๆที่เราพูดได้มักจะไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ชนิดเดียว แต่เราจะพูดภาษาแปลกๆได้หลายชนิดหรือหลายรูปแบบ

            ต่อไปนี้เป็นลักษณะของภาษาแปลกๆในชนิดต่างๆ ซึ่งผมได้จำแนกทั้งหมดเป็น 4 ชนิดคือ
1. ภาษาแปลกๆชนิดสรรเสริญ   2. ภาษาแปลกๆชนิดวิงวอนคร่ำครวญ
3. ภาษาแปลกๆชนิดสงคราม     4. ภาษาแปลกๆชนิดเผยพระวจนะ


ภาษาแปลกๆชนิดสรรเสริญ
            ภาษาแปลกๆชนิดนี้ เป็นถ้อยคำภาษาที่ใช้สรรเสริญพระเจ้า เป็นลักษณะภาษาที่สื่อสารต่อพระเจ้าและยกย่องพระเจ้า โดยเนื้อหาของภาษาแบบนี้มักจะเกี่ยวข้องกับความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าหรือความรักของพระเจ้า บางครั้งเนื้อหาของภาษาแปลกๆแบบนี้ อาจเป็นการทูลขอการเติมเต็มจากพระเจ้าหรือป่าวประกาศการสถิตอยู่ด้วยของพระองค์ ในบางครั้งเนื้อหาของภาษาแปลกๆแบบนี้ อาจเป็นการขอบพระคุณพระเจ้าด้วยก็ได้

ภาษาแปลกๆชนิดวิงวอนคร่ำครวญ
          ภาษาแปลกๆชนิดนี้ เป็นถ้อยคำภาษาที่เป็นการวิงวอนคร่ำครวญต่อพระเจ้า เนื้อหาของภาษาแปลกๆชนิดนี้มักจะเป็นการทูลขอเผื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง โดยลักษณะของน้ำเสียงระหว่างการพูดภาษาแปลกๆแบบนี้ มักจะเป็นน้ำเสียงแบบอ้อนวอนและคร่ำครวญ

ภาษาแปลกๆชนิดสงคราม
            ภาษาแปลกๆชนิดนี้ เป็นถ้อยคำภาษาของการสู้รบกับสิ่งชั่วร้าย ภาษาแปลกๆชนิดสงคราม ไม่ได้เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกับพระเจ้าเท่านั้น แต่เป็นภาษาที่พูดต่อสิ่งชั่วร้ายด้วย ระหว่างที่พูดภาษาแปลกๆแบบสงคราม ผู้ที่พูดมักจะมีความรู้สึกถึงการสู้รบกับสิ่งชั่วร้าย โดยเนื้อหาของภาษาแปลกๆชนิดนี้ มักจะเกี่ยวข้องกับการทำลายอำนาจของสิ่งชั่วร้าย และป่าวประกาศให้อาณาจักรพระเจ้าได้แผ่ขยายออกไป

ภาษาแปลกๆชนิดเผยพระวจนะ
          ภาษาแปลกๆชนิดนี้ มิได้เป็นถ้อยคำภาษาที่ใช้สื่อสารกับพระเจ้า แต่เป็นถ้อยคำภาษาที่พระเจ้าสื่อสารกับมนุษย์ บางครั้งระหว่างการนมัสการหรือการอธิษฐานในที่ประชุม บางคนอาจรู้สึกได้รับการดลใจให้พูดภาษาแปลกๆออกมา โดยภาษาแปลกๆที่พูดออกมานี้ไม่ได้เป็นถ้อยคำภาษาที่ใช้สื่อสารกับพระเจ้า แต่เป็นถ้อยคำภาษาที่พระวิญญาณทรงสื่อสารเนื้อหาบางอย่างกับที่ประชุม คำแปลของภาษาแปลกๆแบบนี้อาจจะเป็น เราได้สถิตอยู่กับพวกเจ้า และพระหัตถ์ของเราดำรงอยู่กับพวกเจ้า หรือ เราจะอวยพรเจ้า และพิทักษ์รักษาเจ้า เป็นต้น

หมายเหตุ
            ภาษาแปลกๆบางชนิดเป็นถ้อยคำภาษาที่ใช้สื่อสารกับพระเจ้า แต่ภาษาแปลกๆบางชนิดก็เป็นถ้อยคำภาษาที่พระเจ้าทรงพูดกับมนุษย์ และภาษาแปลกๆบางชนิดก็เป็นถ้อยคำภาษาที่พูดต่อสิ่งชั่วร้ายเพื่อยับยั้งการงานของมัน นอกจากนี้ภาษาแปลกๆบางชนิดก็ยังเป็นถ้อยคำภาษาที่ใช้พูดกับตัวผู้พูดเองด้วย ซึ่งอาจเป็นการปลุกใจหรือปลุกจิตของตัวผู้พูดให้ตื่นขึ้นมา

ใน (1 โครินธ์ 14:2) ได้เขียนไว้ว่า
  (1 โครินธ์ 14:2) เพราะ​ว่า​คน​ที่​พูด​ภา​ษา​แปลกๆ[a tongue] นั้น ไม่​ได้​พูด​กับ​มนุษย์ แต่​ทูล​ต่อ​พระ​เจ้า
(1 โครินธ์ 14:2) For one who speaks in a tongue speaks not to men but to God

ในข้อพระคัมภีร์ได้กล่าวว่า ภาษาแปลกๆ ไม่ได้เป็นถ้อยคำที่สื่อสารกับมนุษย์ แต่เป็นถ้อยคำที่ใช้สื่อสารกับพระเจ้า อย่างไรก็ตาม ภาษาแปลกๆในข้อพระคัมภีร์นี้ไม่ได้หมายถึงภาษาแปลกๆทุกประเภท แต่หมายถึงภาษาแปลกๆในชนิดหนึ่ง เพราะในภาษาอังกฤษหรือในภาษากรีก คำว่าภาษาแปลกๆในข้อพระคัมภีร์นี้เป็นรูปเอกพจน์คือ a tongue ซึ่งต่างจากคำว่า Tongues ที่เป็นรูปพหูพจน์

            ในข้อพระคัมภีร์นี้เปาโลกำลังอธิบายถึงภาษาแปลกๆในชนิดหนึ่ง อย่างเจาะจง ซึ่งภาษาแปลกๆในชนิดนี้เป็นถ้อยคำภาษาที่ใช้สื่อสารกับพระเจ้า ซึ่งถ้าผู้ใดจะพูดภาษาแปลกๆในชนิดนี้ ผู้นั้นก็ควรจะจดจ่อกับพระเจ้าในระหว่างที่พูดด้วย อย่างไรก็ตามภาษาแปลกๆก็ยังมีชนิดอื่นๆอีก ซึ่งภาษาแปลกๆในชนิดอื่นอาจไม่ได้เป็นการสื่อสารกับพระเจ้าโดยตรง แต่เป็นการสื่อสารสู่มนุษย์หรืออาจเป็นการอธิษฐานต่อต้านสิ่งชั่วร้ายก็ได้

            เมื่อภาษาแปลกๆของผู้ใดได้รับการพัฒนา ผู้นั้นก็มักจะพูดภาษาแปลกๆได้หลายชนิดมากขึ้น จากที่เคยพูดในรูปแบบเดียวหรือชนิดเดียว ก็สามารถพูดได้หลายรูปแบบหรือหลายชนิด

            ภาษาแปลกๆที่มีการพัฒนาสามารถช่วยปลดปล่อยฤทธิ์เดชในการอธิษฐานได้มากยิ่งขึ้นทั้งในกลุ่มแคร์และในชีวิตส่วนตัว นอกจากนี้ภาษาแปลกๆที่หลากชนิดยังสามารถเปิดช่องทางให้พระวิญญาณได้ทำกิจที่หลากหลายมากขึ้นอีกด้วย

            ขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเติมเต็มเพื่อนๆ และขอให้ของประทานด้านภาษาแปลกๆที่เพื่อนๆมีอยู่นั้นจงลุกโชนยิ่งขึ้นเถิด อาเมน

หนังสือแนะนำเพิ่มเติม
Sides, DaleDiverse Kinds of Tongues.  USA:
Liberating Ministries for Christ International,  2003.

Uvieghara, GregoryDiversities of Tongues.  USA:
Xulon Press,  2011.


24 พฤษภาคม 2560

ร่วมแสดงความยินดี ครบรอบ50 ปี การกลับมาครอบครองกรุงเยรูซาเล็ม

ดร.เยเก้น ผู้อำนวยการ องค์กรสถานฑูตคริสเตียนนานาชาติ กรุงเยรูซาเล็ม (ICEJ)
เชิญร่วมส่งความยินดีของท่านร่วมกับพี่น้องคริสเตียนทั่วโลกนับพัน ในวาระ ครบรอบ50 ปี ในการกลับมาเป็นเมืองหลวงหนึ่งเดียวของกรุงเยรูซาเล็ม
โดยชื่อของท่านจะถูกรวมในสมุดแสดงความยินดี ซึ่งจะมอบให้แก่นายกกรุงเยรูซาเล็ม
กรุณาลงนามที่ http://jerusalemjubilee.com/

อิสยาห์ 33:20 จง​มอง​ดู​ศิโยน เมือง​แห่ง​เทศ​กาล​เลี้ยง​ของ​พวก​เรา ดวง​ตา​ของ​ท่าน​จะ​เห็น​เย​รู​ซา​เล็ม เป็น​ที่​อยู่​อัน​สงบ เป็น​เต็นท์​ที่​ไม่​ต้อง​ขน​ย้าย หลัก​หมุด​ของ​มัน​จะ​ไม่​มี​วัน​ถูก​ถอน เชือก​ผูก​ของ​มัน​ก็​ไม่​มี​วัน​ขาด


23 พฤษภาคม 2560

รวมบทความเรื่อง วิธีจัดการ 8 อันธพาลวิญญาณชั่ว

วิธีจัดการ 8 อันธพาลวิญญาณชั่ว


8 อันธพาลวิญญาณชั่ว ที่เราต้องอธิษฐานขอให้พระเจ้าทรงจัดการ อย่าปล่อยให้ วิญญาณชั่ว ลอยนวลมีดังนี้ 

1. วิญญาณราคะตัณหา (Spirit of lust) แอสโมดิวส์(Asmodeus)

2. วิญญาณตะกละ(Spirit of gluttony) เบลเซบับ(Beelzebub)

3. วิญญาณความโลภ(Spirit of greed) แมมมอน (Mammon)

4. วิญญาณเกียจคร้าน (Spirit of sloth ) เบลเฟกอร์ (Belphegor)

5. วิญญาณริษยา (Spirit of envy ) ลิเวียธาน (Leviathan)

6. วิญญาณโทสะ (Spirit of wrath) วิญญาณมังกรแห่งพระดาโกน ( Dragon Spirit)

7. วิญญาณการควบคุม (Spirit of control) เยเซเบล (Jezebel)

8. วิญญาณความหยิ่ง (Spirit of pride) ลูซิเฟอร์ (Lucifer)

สามารถอ่านได้ตาม Link ครับ

วิธีจัดการ 8 อันธพาลวิญญาณชั่ว 1



วิธีจัดการ 8 อันธพาลวิญญาณชั่ว 2



วิธีจัดการ 8 อันธพาลวิญญาณชั่ว 3



วิธีจัดการ 8 อันธพาลวิญญาณชั่ว 4


ภาษาแปลกๆ ไม่ใช่แค่เสียงที่เปล่งออกมาลอยๆ

ภาษาแปลกๆ ไม่ใช่แค่เสียงที่เปล่งออกมาลอยๆ โดย Haiyong Kavilar

 ( 1 โครินธ์ 13:1 ) แม้​ข้าพ​เจ้า​จะ​พูด​ภา​ษา​แปลกๆ ที่​เป็น​ภา​ษา​มนุษย์​หรือ​ทูต​สวรรค์​ได้ แต่​ไม่​มี​ความ​รัก ข้าพ​เจ้า​เป็น​เหมือน​ฆ้อง​หรือ​ฉาบ​ที่​กำ​ลัง​ส่ง​เสียง

        จากข้อพระคัมภีร์นี้ บริบทหลักคือเรื่องของความรัก ทว่าข้อพระคัมภีร์นี้ยังบอกเป็นนัยว่า ภาษาแปลกๆ สามารถเป็นภาษาของทูตสวรรค์หรือภาษาของมนุษย์ก็ได้ 
          ในภาษากรีกเองคำว่า ภาษาแปลกๆ มาจากศัพท์คำว่า glossa ซึ่งศัพท์คำนี้จะแปลว่า ลิ้น ก็ได้หรือ ภาษา ก็ได้ ฉะนั้นภาษาแปลกๆจึงเป็นถ้อยคำภาษาที่มีเนื้อความ ไม่ใช่แค่การเปล่งเสียงออกมาลอยๆเท่านั้น ใน (1 โครินธ์ 14:9-10) เปาโลก็ได้เน้นย้ำอีกว่า ภาษาแปลกๆ เป็นถ้อยคำภาษาที่มีความหมาย

ภาษาแปลกๆโดยทั่วไปแล้ว มักจะเป็นหนึ่งในภาษาบนโลกนี้ที่มนุษย์ใช้กัน มีคำพยานจากมิชชันนารีมากมายที่เล่าว่า ขณะที่มิชชันนารีกำลังพูดภาษาแปลกๆที่ประเทศหนึ่งอยู่ คนท้องถิ่นในประเทศนั้นกลับรู้ความหมายของภาษาแปลกๆที่มิชชันนารีพูด เนื่องจากว่าภาษาแปลกๆที่มิชชันนารีพูดนั้น คือภาษาถิ่นของคนในประเทศนั้นพอดี ทว่าตัวมิชชันนารีที่พูดภาษาแปลกๆกลับไม่รู้ความหมายของภาษาที่ตนพูดเลย

        ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสค้นคว้าเกี่ยวกับการแปลภาษาแปลกๆจากคำเทศนาและหนังสือหลายๆเล่ม ในบรรดาหนังสือที่ผมใช้ค้นคว้านั้น มีอยู่เล่มหนึ่งที่ผมชอบเป็นพิเศษ หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า Tongues Interpret & Prophecy (ภาษาแปลกๆ การแปล และการเผยพระวจนะ) เขียนโดย Don Basham (ดอน บาแชม) หนังสือเล่มนี้นอกจากจะให้ข้อแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับภาษาแปลกๆและการแปลแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังบรรจุคำพยานที่เลอค่ามากมาย


        เนื่องจากว่าอีกไม่นานก็ใกล้ถึงวันเพนเทคอสแล้ว ผมจึงขอเล่าคำพยานเกี่ยวกับภาษาแปลกๆและการแปลที่น่าตื่นเต้นจากหนังสือเล่มนี้ เพื่อจะให้เพื่อนๆได้เห็นว่าภาษาแปลกๆไม่ได้เป็นเสียงที่เปล่งออกมาลอยๆ แต่เป็นถ้อยคำภาษาที่มีความหมาย

"เมื่อผม[ดอน บาแชม]อยู่นิวซีแลนด์ในเดือนมิถุนายน ปี 1970 ผมได้ประสบการณ์กับการอัศจรรย์เรื่องภาษาแปลกๆและการแปลถึงสองครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ ศาสนจารย์ชาร์ล ซิมสัน นักเทศน์และครูสอนพระคัมภีร์ที่ผมทำพันธกิจด้วยได้มาร่วมรับใช้ที่นิวซีแลนด์ก่อนหน้าผมไม่กี่เดือน ครั้งหนึ่งในระหว่างการประชุมที่ชาร์ลจัดขึ้น มีชายคนหนึ่งได้ลุกขึ้นมาและพูดภาษาแปลกๆ แล้วชาร์ลก็ได้ปลดปล่อยคำแปลออกมา ไม่นานหลังจากนั้น ก็มีคริสเตียนชาวเมารีที่ได้อยู่ในการประชุมนั้น (ชาวเมารี คือชาวพื้นเมืองของนิวซีแลนด์ในยุคก่อนที่ชาวอังกฤษจะเข้ามา ปัจจุบันนี้ชาวเมารีเป็นกลุ่มคนส่วนน้อยในประเทศนิวซีแลนด์) ได้เล่าให้ฟังว่า ภาษาแปลกๆที่ชายคนนั้นพูดในที่ประชุมนั้นเป็นภาษาของชาวเมารี และคำแปลที่ชาร์ลปลดปล่อยออกมานั้น ก็เป็นคำแปลที่ถูกต้องด้วย ทว่าทั้งชาร์ลและชายผู้ที่พูดภาษาแปลกๆไม่ได้มีความรู้พื้นฐานอะไรเกี่ยวกับภาษาเมารีเลย

อีกเหตุการณ์อันน่าประหลาดใจเกิดขึ้นกับศิษยาภิบาลชาวนิวซีแลนด์สองคน ซึ่งพวกเขาได้แบ่งปันเรื่องราวของพวกเขาให้ผมฟัง เรื่องราวของพวกเขามีอยู่ว่า ขณะที่พวกเขากำลังทำพันธกิจการอธิษฐานเผื่อเพื่อให้ผู้คนได้รับการบัพติศมาในพระวิญญาณบริสุทธิ์ ก็มีชายคนหนึ่งเป็นคริสเตียนชาวเมารี แต่ชายคนนี้ไม่มีความรู้ภาษาอังกฤษและแทบจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ทำให้ชายคนนี้ไม่สามารถที่จะเข้าใจคำสอนหรือรับการเสริมสร้างจากพันธกิจของพวกเขาได้

ทันใดนั้น หนึ่งในผู้ทำพันธกิจคนหนึ่งได้เริ่มพูดภาษาแปลกๆออกมาและวางมือบนพี่น้องชาวเมารีคนนี้ และคริสเตียนชาวเมารีคนนี้ก็เริ่มยิ้มพร้อมผงกศีรษะลงด้วยด้วยความตื่นเต้น ต่อจากนั้นไม่นานคริสเตียนชาวเมารีคนนี้ก็เปิดปากและพูดภาษาแปลกๆออกมา

เมื่อทำพันธกิจเสร็จเรียบร้อย ก็มีผู้รับใช้คนหนึ่งที่รู้ภาษาเมารีเล่าให้ฟังว่า ตอนที่แอล[ผู้ทำพันธกิจที่วางมือให้กับคริสเตียนชาวเมารี] พูดภาษาแปลกๆอยู่ ถ้อยคำที่แอลพูดออกมานั้นเป็นภาษาเมารี ซึ่งแอลได้พูดภาษานี้ออกมาอย่างเหนือธรรมชาติเพราะปกติแล้วแอลไม่มีความรู้ภาษาเมารีเลย ยิ่งไปกว่านั้น เนื้อหาของภาษาแปลกๆที่แอลพูดก็เป็นข้อแนะนำเกี่ยวกับวิธีการรับบัพติศมาในพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทำให้คริสเตียนชาวเมารีที่รับการวางมือนั้นได้เข้าใจว่าเขาจะรับการบัพติศมาในพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างไร คริสเตียนชาวเมารีผู้นั้นจึงได้เปิดปากและเริ่มพูดภาษาแปลกๆออกมา

ความน่าตื่นตาตื่นใจก็คือ แอลผู้ซึ่งแทบจะพูดภาษาเมารีไม่ได้เลย กลับให้ข้อแนะนำของการรับบัพติศมาในพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นภาษาเมารี อันเป็นข้อแนะนำเดียวกันกับที่เขาสอนเป็นภาษาอังกฤษพอดี”


18 พฤษภาคม 2560

บทความเกี่ยวกับเรื่องประสบการณ์ในพระวิญญาณ

บทความเกี่ยวกับเรื่องประสบการณ์ในพระวิญญาณ (click เข้าไปอ่านตาม link ได้ครับ
คนล้มอย่าห้าม (คนไม่ล้ม ...อย่าผลักดัน)

เข้าใจประสบการณ์พระวิญญาณ

ประสบการณ์พระวิญญาณมีไว้เพื่ออะไร

ประสบการณ์การล้มในพระวิญญาณ

15 พฤษภาคม 2560

ความแตกต่างระหว่าง พระเมตตา กับ พระคุณ

บทความเรื่อง ความแตกต่างระหว่าง พระเมตตา กับ พระคุณ
โดย Haiyong Kavilar
เรื่องเล่าจากเอเบอร์เล
ฮาร์โรล เอเบอร์เล (Harold Eberle) ได้กล่าวเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างพระเมตตากับพระคุณไว้ว่า สมมติว่าคุณกำลังขับรถ แต่คุณขับเร็วเกินกำหนดของกฏหมาย แล้วตำรวจมาจับกุมคุณ คุณก็อาจขอความเมตตาต่อตำรวจเพื่อไม่ให้ออกใบสั่งกับคุณ ถ้าตำรวจตัดสินใจปล่อยคุณไปโดยไม่เอาผิด สิ่งที่คุณได้รับจากตำรวจคือ “พระเมตตา” นั่นคือคุณไม่ได้รับในสิ่งที่คุณสมควรได้รับ แต่เอาใหม่ สมมติถ้าตำรวจไม่เพียงแต่ไม่เอาผิดคุณ แต่ยังมอบเงินให้กับคุณฟรีๆถึง 1 ล้านบาท แล้วพูดกับคุณอีกว่า “ขอให้มีความสุขนะ” สิ่งที่คุณได้รับเพิ่มนี้คือ “พระคุณ” ซึ่งคือคุณได้รับในสิ่งที่คุณไม่สมควรได้รับ ซึ่งแตกต่างจากพระเมตตาที่เป็นการไม่ได้รับในสิ่งที่คุณสมควรได้รับ

พระเมตตา -> ไม่ได้รับในสิ่งที่สมควรได้รับ
พระคุณ -> ได้รับในสิ่งที่ไม่สมควรได้รับ

พระเมตตาเกี่ยวกับพระโลหิต
ในหนังสือโรมบทที่ 5 ได้กล่าวว่าผู้เชื่อได้รอดพ้นจากพระพิโรธของพระเจ้าและได้รับการชำระให้ชอบธรรมโดยพระโลหิต สิ่งที่ผู้เชื่อได้รับผ่านพระโลหิตนี้นับเป็นพระเมตตา เนื่องด้วยพระโลหิตของพระคริสต์ พระเจ้าก็ทรงละเว้นโทษของผู้เชื่อ โดยพระโลหิต ผู้เชื่อจึงไม่ได้รับโทษที่สมควรจะได้รับ

พระคุณเกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์
สิ่งที่พระเจ้าประทานให้ผู้เชื่อ ไม่เพียงแต่เป็นพระเมตตาที่ไม่เอาผิดผู้เชื่อเท่านั้น ทว่าพระเจ้ายังประทานพระคุณให้กับผู้เชื่อแถมเป็นพิเศษด้วย ในหนังสือโรมบทที่ 6-8 เป็นบริบทของพระคุณที่ต่อยอดมาจากโรมบทที่ 5 อันเป็นบริบทของพระเมตตา ในบริบทแห่งพระคุณนี้ เปาโลได้อธิบายว่า โดยกำลังของเนื้อหนัง เปาโลก็มิอาจที่จะบรรลุพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเขาได้ แต่โดยพระคุณของพระเจ้า เปาโลกลับมีพลังที่จะบรรลุสู่พระประสงค์ของพระเจ้าได้ ซึ่งในช่วงท้ายของบริบทแห่งพระคุณนี้ (โรม 8) เปาโลได้กล่าวถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ จึงกล่าวได้ว่าพระคุณเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระวิญญาณ ซึ่งต่างจากพระเมตตาที่เกี่ยวข้องกับพระโลหิต

เข้าใจพระคุณจากมุมมองเรื่องของประทาน
รากศัพท์ของคำว่าพระคุณคือคำว่า Charis ส่วนรากศัพท์ของคำว่าของประทานคือคำว่า Charisma เห็นได้ว่ารากศัพท์ของคำว่าพระคุณกับของประทานมีความใกล้เคียงกันมาก โดยทั่วไปแล้ว ของประทานมักจะมีความหมายถึง ความสามารถพิเศษจากพระวิญญาณที่ทำให้ผู้เชื่อทำกิจบางอย่างได้ (เช่น การรักษาโรค หรือการเผยพระวจนะ) ส่วนพระคุณก็เป็นสิ่งหนึ่งที่คล้ายกับของประทาน นิยามของพระคุณจึงมีความใกล้เคียงกับนิยามของของประทาน จึงกล่าวได้ว่า พระคุณคือ ความสามารถพิเศษจากพระวิญญาณที่ทำให้ผู้เชื่อได้บรรลุถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเขา

พระประสงค์ของพระเจ้าก็มีอยู่หลายด้าน ด้านหนึ่งก็อาจเป็นการดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์ ส่วนอีกด้านหนึ่งก็อาจหมายถึงการทำให้การทรงเรียกสำเร็จ แต่ไม่ว่าจะเป็นพระประสงค์ด้านความบริสุทธิ์หรือพระประสงค์ด้านการทรงเรียก โดยกำลังของเนื้อหนัง ผู้เชื่อก็มิอาจบรรลุพระประสงค์เหล่านี้ได้ สิ่งสำคัญที่มนุษย์จำต้องมีเพื่อบรรลุพระประสงค์ก็คือ พระคุณ

พระคุณนับเป็นสิ่งที่ก้าวไปไกลกว่าพระเมตตา พระเมตตาทำให้ผู้เชื่อไม่ได้รับโทษที่สมควรได้รับ แต่พระคุณ (สิ่งที่ผู้เชื่อได้รับโดยที่ผู้เชื่อไม่สมควรได้รับ) ทำให้ผู้เชื่อสามารถบรรลุพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเขาได้ พระคุณคือพลังหรือความสามารถพิเศษจากพระวิญญาณที่ทำให้ผู้เชื่อสามารถพิชิตการทรงเรียกได้

วิธีรับพระคุณเกี่ยวกับความเชื่อ
พระคุณเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้เชื่อก้าวหน้าสู่พระประสงค์ของพระเจ้า การรับพระคุณจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การทรงเรียกของผู้เชื่อพุ่งทะยานไป ทว่าก่อนที่ผู้เชื่อจะเต็มล้นในพระคุณ ผู้เชื่อควรตระหนักว่า พระคุณคือสิ่งที่พระเจ้าให้เราแม้เราจะไม่สมควรได้รับ ต่อให้ผู้เชื่อทำผิดมากขนาดไหน ต่อให้ผู้เชื่อกระทำสิ่งที่ชั่วร้ายมามากขนาดไหนก็ตาม ผู้เชื่อก็สามารถรับพระคุณได้

(กาลาเทีย 3:2,5) ข้าพเจ้าใคร่รู้ข้อเดียวจากท่านว่า ท่านได้รับพระวิญญาณโดยการประพฤติตามธรรมบัญญัติ หรือได้รับโดยความเชื่อตามที่ได้ฟัง? ... พระองค์ผู้ประทานพระวิญญาณแก่ท่านทั้งหลาย และทรงสำแดงฤทธานุภาพท่ามกลางพวกท่าน ทรงทำเช่นนั้นโดยการประพฤติตามธรรมบัญญัติ หรือโดยความเชื่อของพวกท่านตามที่ได้ฟัง?

ในข้อพระคัมภีร์นี้ เปาโลต้องการสื่อสารว่า การที่ผู้เชื่อในกาลาเทียได้รับพระวิญญาณนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประพฤติตามธรรมบัญญัติหรือการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามกฏเกณฑ์ต่างๆ แต่ผู้เชื่อในกาลาเทียได้รับพระวิญญาณก็เนื่องโดยความเชื่อ กล่าวได้ว่า “ความเชื่อ” นับเป็นช่องทางหลักที่ทำให้ชาวกาลาเทียได้รับพระวิญญาณ สำหรับพระคุณก็เช่นเดียวกับ ผู้เชื่อไม่ได้รับพระคุณผ่านทางการดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์ และผู้เชื่อก็ไม่ได้รับพระคุณผ่านทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามกฏเกณฑ์ แต่ผู้เชื่อได้รับพระคุณก็โดยความเชื่อ ทั้งนี้เพราะช่องทางหลักที่ผู้เชื่อได้รับพระคุณก็คือความเชื่อ หากจะเปรียบพระคุณเป็นของขวัญ ความเชื่อก็เปรียบดั่งมือที่ยื่นรับกล่องของขวัญ

เมื่อผู้เชื่อเข้าใจว่า พระคุณมิได้มาโดยการดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์แต่ได้มาโดยความเชื่อ ขั้นตอนต่อมาของการรับพระคุณคือ “การอธิษฐานขอ” จากพระเจ้า ผู้เชื่อสามารถทูลขอพระคุณจากพระเจ้าได้ทุกเวลาโดยไม่จำเป็นรอให้ตนเองต้องบริสุทธิ์ 100% ก่อน แม้ในเวลาที่ผู้เชื่อรู้สึกว่าตนไม่พร้อม ผู้เชื่อก็สามารถทูลขอพระคุณจากพระเจ้าได้ เพราะเงื่อนไขของการรับพระคุณไม่ได้อยู่ที่ความพร้อมหรือความบริสุทธิ์ แต่อยู่ที่ความเชื่อ

โดยพระคุณที่ได้รับจากพระเจ้านี้ จะทำให้ผู้เชื่อมีพลังที่จะบรรลุถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเขา เคล็ดลับสำคัญสู่การบรรลุพระประสงค์(ไม่ว่าจะเป็นด้านความบริสุทธิ์หรือด้านการทรงเรียก) ก็คือพระคุณ ในจดหมายฝากแทบทุกฉบับของเปาโลก็มักจะอวยพรผู้อ่านว่า “ขอพระคุณจงมีแด่ท่านทั้งหลายเถิด”
โอ ขอให้พวกเรามีความเชื่อและทูลขอพระคุณจากพระเจ้าทุกวันเถิด !

หนังสือแนะนำเพิ่มเติม
Grace the Power to Reign เขียนโดย Harold Eberle
Understanding the Whole Bible เขียนโดย Jonathan Welton

14 พฤษภาคม 2560

วันประกาศอิสรภาพประเทศอิสราเอล (Independence Day)

วันประกาศอิสรภาพประเทศอิสราเอล (Independence Day) หรือ ยม ฮาทซมาอุท (Yom Ha'atzmaut - יום העצמאות‎‎) ตรงกับวันที่ 5 เดือนอิยาร์ (Iyar)ปี 5708 หรือนับตามปฏิทินสากลตรงกับวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ.1948
 (ปีนี้ครบรอบ 69 ปี สำหรับคนยิวจะฉลอง ยม ฮาทซมาอุท (Yom Ha'atzmaut)ในวันที่ 5 อิยาร์ ซึ่งตรงกับช่วงเย็นวันที่ 1 พ.ค.2017 ที่ผ่านมา)
เดวิด เบน-กูเรียน (David Ben-Gurion) ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศอิสราเอล (State of Israel) ได้ประกาศอิสรภาพ โดยชาวยิวจากทั่วโลกได้สถาปนาประเทศใหม่สำหรับชาวยิวขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ เพื่อรวบรวมชาวยิวที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกมาอยู่รวมกันในดินแดนพันธสัญญาที่พวกเขาเชื่อว่าพระยาห์เวห์ทรงประทานให้สำเร็จตามถ้อยคำการเผยพระวจนะของผู้เผยพระวจนะเอเสเคียล เอเศเคียล 36:24 “เพราะว่าเราจะเอาเจ้าออกมาจากท่ามกลาง ประชาชาติและรวบรวมเจ้ามาจากทุกประเทศ และนำเจ้าเข้ามาในแผ่นดินของเจ้าเอง”
การเริ่มต้นเกิดประเทศอิสราเอลอีกครั้งนับแต่ถูกอาณาจักรโรมันโจมตีและทำลายพระวิหารไปในปี ค.ศ.70 พวกเขากระจัดกระจายไปทั่วโลก
หลังจากประกาศอิสรภาพได้แค่เพียงแค่วันเดียว คือวันที่ 15 พฤษภาคม 1948 ในขณะอิสราเอลกำลังสร้างประเทศ ปรากฏว่า 5 ชาติอาหรับ ได้รวมตัวกันทำร้ายอิสราเอล ซึ่งเป็นเหมือนทารกแรกเกิด ประเทศอียิปต์,ซีเรียจอร์แดน,เลบานอนและอิรัก ( 40 ล้านคนชาวอาหรับ และ 1.5 ล้านคนติดอาวุธ) โจมตีอิสราเอล เรียกว่าเป็นสงครามการประกาศเอกราช (War of Independence)
สงครามยังคงมีอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 8 เดือน อิสราเอลได้รับบาดเจ็บหนักในทุกด้าน แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจคือ ประเทศอิสราเอลซึ่งเพิ่งได้รับเอกราชใหม่ไม่ถูกทำลาย ตามถ้อยคำสัญญาในพระธรรม 
อิสยาห์ 54:17 "อาวุธ​ทุก​ชนิด​ที่​ทำ​ขึ้น​เพื่อ​ต่อ‍สู้​เจ้า​จะ​ไม่​ชนะและ​เจ้า​จะ​พิสูจน์​ว่า​ลิ้น​ทุก‍ลิ้น​ที่​ลุก‍ขึ้น​ต่อ‍สู้​เจ้า​ใน​การ​พิพาก‌ษา​นั้น​ชั่ว‍ร้ายนี่​คือ​มรดก​ของ​บรร‌ดา​ผู้​รับ‍ใช้​ของ​พระ‍ยาห์‌เวห์และ​การ​ให้​ความ​ยุติ‍ธรรม​ต่อ​พวก‍เขา​นั้น​มา​จาก​เรา” ...
อิสราเอลจึงเปรียบดังนาฬิกาของโลกที่นับถ้อยหลังสู่วันสิ้นยุคของโลก
พระเยซูทรงทำให้เราทราบการล่มสลาย และการได้รับเอกราชของอิสราเอล และเวลาที่พระองค์จะเสด็จมาครั้งที่สอง โดยผ่านคำเปรียบเรื่องต้นมะเดื่อ
ลูกา 21:29-36
29 พระองค์ตรัสคำอุปมาแก่เขาว่า "จงดูต้นมะเดื่อ(Israel)และต้นไม้ทั้งปวงเถิด
30 เมื่อผลิใบออกแล้ว ท่านทั้งหลายก็เห็นและรู้อยู่เองว่า ฤดูฝนจวนจะถึงแล้ว
31 เช่นนั้นแหละ เมื่อท่านทั้งหลายเห็นเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น ก็ให้รู้ว่าแผ่นดินของพระเจ้าใกล้จะถึงแล้ว
32 เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า คนในชั่วอายุนี้จะไม่ล่วงลับไปก่อนสิ่งทั้งปวงนั้นบังเกิดขึ้น
33 ฟ้าและดินจะล่วงไป แต่ถ้อยคำของเราจะสูญหายไปหามิได้เลย
34 "แต่จงระวังตัวให้ดี เกลือกว่าใจของท่านจะล้นไปด้วยอาการดื่มเหล้าองุ่นมาก และด้วยการเมา และด้วยคิดกังวลถึงชีวิตนี้ แล้วเวลานั้นจะมาถึงท่านดุจบ่วงแร้วอย่างกระทันหัน
35 เพราะว่าวันนั้นจะมาถึงคนทั้งปวงที่อยู่ทั่วพื้นแผ่นดินโลก
36 เหตุฉะนั้นจงเฝ้าอยู่ทุกเวลา จงอธิษฐานเพื่อท่านทั้งหลายจะมีกำลังที่จะพ้นเหตุการณ์ทั้งปวงซึ่งจะบังเกิดมานั้น และจะยืนอยู่ต่อหน้าบุตรมนุษย์ได้

พระคริสต์จะเสด็จมาครั้งที่สองนั้น หมายถึง เมื่อเริ่มประเทศอิสราเอลแล้ว ไม่เกินหนึ่งชั่วอายุของคน พระเยซูคริสต์จะเสด็จกลับมา   เราไม่ทราบว่าพระเยซูจะมาเมื่อใด แต่เราทราบดีว่าพระองค์จะกลับมารับเราแน่ เราจึงตั้งหน้าตั้งตารอคอย เฝ้าระวังและอธิษฐานเผื่อเสมอสำหรับความรอดที่จะมาถึงอิสราเอลและคนทั้งหลาย    ชาโลม ขอสันติภาพเกิดขึ้นในกรุงเยรูซาเล็ม
อิสยาห์ 62:1-2
1เพื่อ​เห็น​แก่​ศิโยน ข้าพ​เจ้า​จะ​ไม่​ระ​งับ​เสียง จน​กว่า​ความ​ชอบ​ธรรม​ของ​นคร​นี้​จะ​ออก​ไป​เหมือน​ความ​สว่าง และ​ความ​รอด​ของ​นคร​นี้​ออก​ไป​เหมือน​คบ​เพลิง​ที่​ลุก​อยู่ 2 บรร​ดา​ประ​ชา​ชาติ​จะ​เห็น​ความ​ชอบธรรม​ของ​ท่าน และ​พระ​รา​ชา​ทั้ง​หลาย​เห็น​ศักดิ์​ศรี​ของ​ท่าน และ​เขา​จะ​เรียก​ท่าน​ด้วย​ชื่อ​ใหม่ ซึ่ง​พระ​โอษฐ์​ของ​พระ​ยาห์​เวห์​จะ​ประ​ทาน

ความฝัน: ความรักต่อโลกใบนี้(Dream: Affections of this World)

ความฝัน: ความรักต่อโลกใบนี้(Dream: Affections of this World)

โดย อาเชอร์ อินเทรเตอร์()

เมื่อไม่นานนี้ผมมีความฝันว่าผมได้ก้าวเข้าไปในการทดสอบฝ่ายวิญญาณที่มาเป็นชุดแบบซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมรู้สึกท้อใจและเหนื่อยอย่างมากที่ต้องผ่านการทดสอบมากมายเหล่านั้น ผมรู้ว่า
เป้าหมายก็คือการไปถึงการเชื่อฟังอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง แต่
ในความฝันนั้นมีทูตสวรรค์ตนหนึ่งส่งยิ้มมาให้ผม ในขณะที่ผมรู้สึกล้มเหลวและเหมือนกำลังจะยอมแพ้ ทูตสวรรค์อธิบายว่า    บททดสอบสุดท้ายนั้นก็คือการเอาชนะความรักต่อโลกใบนี้ (ความปรารถนาแบบโลกผมฟังด้วยความละอายเมื่อทูตสวรรค์บอกว่าผมมีความปรารถนาแบบโลกมากมายทีเดียว
ยากอบ 4:4 – การเป็นมิตรกับโลกคือการเป็นศัตรูกับพระเจ้า
ยอห์น 2:15 – อย่ารักโลก หรือสิ่งของในโลก
นี่ไม่ใช่การกลับใจจากความบาป โดยทั่วไปเราผู้ติดตามเยชูวาห์อย่างจริงจังจะไม่ทำบาป และไม่ต้องการทำบาปแต่แล้วเราก็อาจจะมีความรักต่อสิ่งของบนโลกอยู่ภายใน แม้ว่าเราจะไม่ได้ทำบาป ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่เยชูวาห์บอกให้เราอธิษฐาน:
มัทธิว 6:13 ขออย่านำข้าพระองค์เข้าไปในการทดลอง
ความรักสิ่งของบนโลกนำเราเข้าไปสู่การทดลองอันนำไปสู่ความบาปและความหายนะ การเอาชนะความรักต่อโลกเป็นบททดสอบสุดท้าย เพราะมันเป็นการถอนรากออกจากใจของเราถึงแหล่งที่มาของการทดลองที่อาจเกิดขึ้น
ลูกา 9:23 – ถ้าผู้ใดใคร่ตามเรามา ให้ผู้นั้นเอาชนะตนเอง และรับกางเขนของตนแบกทุกวัน
นี่คือก้าวแรกในการติดตามเยชูวาห์โดยให้ปฏิเสธตนเอง โดยที่เรากล่าวว่า"ไม่" ต่อความปรารถนาแบบโลก ให้ใจเรามีเสรีภาพและบริสุทธิ์ในการติดตามพระองค์

ข้อมูลจาก http://reviveisrael.org 

07 พฤษภาคม 2560

พระเจ้าพิโรธผู้เชื่อได้หรือไม่?

บทความเรื่อง พระเจ้าพิโรธผู้เชื่อได้หรือไม่?
โดย Haiyong Kavilar

รอดพ้นจากพระพิโรธ
เมื่อผู้ใดเชื่อในพระเยซูคริสต์ ผู้นั้นก็ได้รับการชำระให้ชอบธรรมและได้รับการอภัยบาป แต่พระเจ้าสามารถโกรธหรือพิโรธผู้เชื่อได้หรือไม่?
มีข้อพระคัมภีร์หลายข้อที่ชี้ว่าในพันธสัญญาใหม่ พระเจ้ามิได้โกรธผู้เชื่ออีกต่อไป

(รม.5:9-10) เพราะ​ฉะนั้น​เมื่อ​เรา​ถูก​ชำระ​ให้​ชอบ​ธรรม​แล้ว​โดย​พระ​โล​หิต​ของ​พระ​องค์ ยิ่ง​กว่า​นั้นเรา​จะ​พ้น​จาก​พระ​พิโรธ​ของ​พระ​เจ้า​โดย​พระ​องค์ เพราะ​ว่า​ถ้า​ขณะ​ที่​เรา​ยัง​เป็น​ศัตรู​ต่อ​พระ​เจ้า​เรา​ได้​กลับ​คืน​ดี​กับ​พระ​องค์ โดย​ที่​พระ​บุตร​ของ​พระ​องค์​สิ้น​พระ​ชนม์

(อิสยาห์ 54:9) สำ​หรับ​เรา​แล้ว เรื่อง​นี้​ก็​เหมือน​สมัย​ของ​โน​อาห์ เรา​ได้​ปฏิ​ญาณ​ว่า น้ำ​สมัย​โน​อาห์ จะ​ไม่​ท่วม​แผ่น​ดิน​โลก​อีก​อย่าง​ไร เรา​ก็​ปฏิ​ญาณ​ว่า เรา​จะ​ไม่​โกรธ​เจ้า และ​จะ​ไม่​ดุ​ด่า​เจ้า​อีก​อย่าง​นั้น

        เมื่อผู้คนเชื่อในพระเยซูคริสต์ นอกจากเขาจะได้รับการอภัยและได้รับการชำระให้ชอบธรรมแล้ว เขายังได้เข้าสู่พันธสัญญาใหม่ด้วย ตลอดพระคัมภีร์พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อผู้คนที่อยู่ในพันธสัญญากับนอกพันธสัญญาอย่างแตกต่างกัน เช่น ในพันธสัญญาเดิม พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อชนชาติอิสราเอลไม่เหมือนกับชนชาติอื่น เพราะชนชาติอื่นมิได้อยู่ในพันธสัญญา แต่ชนชาติอิสราเอลอยู่ในพันธสัญญา สำหรับพันธสัญญาใหม่ก็เช่นกัน พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อผู้คนที่อยู่ในพันธสัญญาใหม่กับผู้คนที่อยู่นอกพันธสัญญาใหม่อย่างแตกต่างกัน ผู้ใดก็ตามที่อยู่ในพันธสัญญาใหม่ พระเจ้ามิได้ทรงพิโรธต่อผู้นั้น แต่สำหรับผู้คนที่อยู่นอกพันธสัญญาใหม่ พระเจ้าทรงมีมาตรฐานอีกอย่างหนึ่ง
แม้พระเจ้าเป็นความรัก แต่พระเจ้าทรงมีมาตรฐานต่อคนในพันธสัญญาและคนนอกพันธสัญญาอย่างแตกต่างกัน ซึ่งสิ่งนี้เห็นได้ชัดเจนตลอดพระคัมภีร์ไม่ว่าจะเป็นในพันธสัญญาไหนก็ตาม

สำหรับผู้เชื่อที่อยู่ในพันธสัญญาใหม่ พระเจ้าทรงมีมาตรฐานที่จะไม่พิโรธต่อพวกเขาและพระองค์มิได้สะสมพระพิโรธไว้ในอนาคตสำหรับพวกเขาด้วย บางครั้งเมื่อผู้เชื่อทำสิ่งไม่เหมาะไม่ควร พระวิญญาณบริสุทธิ์ที่อยู่ภายในผู้เชื่อก็อาจเสียพระทัยหรือรู้สึกไม่พอใจ กระนั้นพระเจ้าทั้ง พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ ก็ไม่ทรงพิโรธต่อผู้เชื่อ

03 พฤษภาคม 2560

ร่วมฉลองเทศกาลสัปดาห์(Shavuot) 5777

ช่วงวันที่ 5-7เดือนสิวัน (ปี 2017 ตรงกับเย็นวันที่ 30 พ.ค.-1 มิ.ย.)ชาวยิวมีการฉลองเทศกาลสัปดาห์(Shavuot:ชาวูโอ๊ท) หรือ Pentecost(แปลว่า 50) ในปี 5777
ปีนี้จะเป็นการฉลองครบรอบ 50 ปีจากการได้รับชัยชนะจากสงคราม 6 วัน  (Six Days War) ในช่วงวันที่ 5-10 มิถุายน 1967 เป็นชัยชนะของประเทศอิสราเอลทีี่สามารถยึดครองกรุงเยรูซาเล็มกลับมาได้สำเร็จ
ในพันธสัญญาเดิม(OT)เป็นการฉลอง7 สัปดาห์หลังจากเทศกาลปัสกา(Pesach) ที่พวกเขาออกจากการเป็นทาสในอียิปต์ ตลอดช่วงเวลาในถิ่นทุรกันดารพระยาห์เวห์ทรงจัดเตรียมมานาจำนวน 1 หม้อโอเมอร์ให้กับพวกเขาในแต่ละวัน จึงมีการนับโอเมอร์ในแต่ละวันจากเทศกาลปัสกาถึงเทศกาลสัปดาห์ได้ 49 วัน(7 สัปดาห์) เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งพระพร
เทศกาลนี้พระยาห์เวห์ทรงประทานพระบัญญัติ10 ประการจารึกบนแผ่นศิลา(Luchot)บนภูเขาซีนาย เป็นพันธสัญญารักนิรันดร์ของพระยาห์เวห์ที่ทรงทำกับชนชาติอิสราเอล
เทศกาลนี้พวกเขาได้นำผลแรกที่เพิ่มพูนจากเทศกาลปัสกาคือนำขนมปัง 2 ก้อนมาถวายซึ่งทำจากข้าวสาลีที่พวกเขาปลูกได้เอง มานาก็หมดไปเพราะนั่นเป็นเพียงอาหารชั่วคราว หลังจากนั้นไปพวกเขาได้กินพืชผลที่พวกเขาได้ปลูกในดินแดนใหม่ไม่ใช่ดินแดนทาสในอียิปต์
พวกเขาจึงได้เก็บหม้อมานา ศิลาพระบัญญัติ และไม้เท้าอาโรนไว้ในหีบพันธสัญญาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในเทศกาลนี้
ในพันธสัญญาใหม่(NT) พระเยซูคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์บนกางเขนในเทศกาลปัสกา หลังจากนั้น 3 วันทรงฟื้นจากความตาย ทรงอยู่กับพวกสาวกอีก 40 วัน เพื่อทรงสอนเรื่องอาณาจักรสวรรค์
ในวันที่พระเยซูทรงเสด็จขึ้นสวรรค์ ทรงกำชับว่าให้รอคอยการเสด็จมาของพระวิญญาณบริสุทธิ์ (กจ.1:8)
และในวันที่ 50 หลังจากปัสกาในเทศกาลเพ็นทอสต์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้เสด็จมาเหนือสาวก 120 คนที่เฝ้าอธิษฐานรอคอยที่ห้องชั้นบน กรุงเยรูซาเล็ม(กจ.2) เป็นการเริ่มต้นเกิดคริสตจักรอย่างเป็นทางการ และข่าวประเสริฐเรื่องอาณาจักรสวรรค์ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก
นี่คือการเชื่อมระหว่าง 2 สิ่งคือพันธัญญาเดิมกับพันธสัญญาใหม่ คือแผ่นศิลา 2 แผ่น ซึ่งเป็นพันธสัญญาแห่งรักนิรันดร์ ระหว่างพระยาห์เวห์กับคนของพระองค์
ขนมปัง 2 ก้อนคือ คนยิวกับคนต่างชาติเชื่อมกันเป็นคนใหม่คนเดียวกัน ผ่านทางในพระเยซูคริสต์(อฟ.2:15) ทรงเป็นอาหารแห่งชีวิต(bread of life) พระบัญญัติ 2 ข้อใหญ่คือจงรักพระเจ้าด้วยสุดใจและจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง
รวมเป็นหนึ่งผ่านทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่อยู่ภายในเรา
พระองค์ทรงประทานพระบัญญัติใหม่คือพระบัญญัติแห่งรัก ที่ไม่ได้จารึกบนแผ่นศิลาแต่จารึกในหัวใจ(2คร.3:3) ความรู้อาจจะเพิ่มรอยหยักที่หัวสมอง แต่ความรักของพระองค์เป็นรอยสลักจารึกในใจว่าเราเป็นของพระองค์ เพราะพระวิญญาณเป็นเสมือนแหวนหมั้นคริสตจักรไว้เพื่อรอคอยองค์เจ้าบ่าว ในวันสมรสของพระเมษโปดกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตตามพระสัญญา

02 พฤษภาคม 2560

เยรูซาเล็มและสวนเอเดนเป็นหนึ่งเดียวกัน

 เยรูซาเล็มและสวนเอเดนเป็นหนึ่งเดียวกัน 

โดย อาเชอร์ อินเทรเตอร์(Asher Intrater)

พระวจนะที่ยอห์นเขียนมีมุมมองเฉพาะถึงทุกมิติของพระวจนะตั้งแต่เบื้องต้นจนสุดปลาย เนื่องจากเขาเป็นผู้เขียนพระคัมภีร์      คนสุดท้าย ยอห์นมักพูดถึง เบื้องต้นจนสุดปลาย” (ยอห์น 1:1, 1ยน 1:1 และวว 1:8,17)

มุมมองเรื่องเบื้องต้นจนสุดปลายนี้กระจ่างชัดมากโดยเฉพาะในบทท้ายๆของพระธรรมวิวรณ์ สองบทแรกในพระธรรมปฐมกาลอธิบายถึงสรรพสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นและสวนเอเดน ในขณะที่สองบทสุดท้ายของพระธรรมวิวรณ์อธิบายถึงการรื้อฟื้นของสรรพสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นและสวนเอเดน

สองบทสุดท้ายมีเนื้อความเพิ่มเติมเป็นพิเศษเกี่ยวกับ เยรูซาเล็มใหม่” (21:9-22:3) นครเยรูซาเล็มอันสง่างามนี้กลายเป็น       จุดศูนย์กลางของการรื้อฟื้นสวรรค์ สวรรค์และโลกมาร่วมกันเช่นเดียวกับเยรูซาเล็มมิติสวรรค์และมิติโลกร่วมเป็นหนึ่ง เป้าประสงค์แห่งสง่าราศีของทั้งสวนเอเดนและเยรูซาเล็มเป็นหนึ่งเดียวกันและเหมือนกัน

วิวรณ์ 21:1-2และข้าพเจ้าเห็นฟ้าใหม่และโลกใหม่นครบริสุทธิ์ คือเยรูซาเล็มใหม่ที่พระเจ้าทรงให้เลื่อนลอยลงมาจากสวรรค์…”

วิวรณ์ 22:1-2 “…แม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิตใสดั่งแก้วไหลจากพระที่นั่งของพระเจ้าและพระเมษโปดก ลงมากลางถนนใหญ่ของนครนั้น สองฟากแม่น้ำมีต้นไม้แห่งชีวิต… ”

วิวรณ์ 22:14 “ …เขาจะได้มีสิทธิ์ในต้นไม้แห่งชีวิตและผ่านประตูเข้าสู่นครนั้นได้…”

วิวรณ์ 22:19 “…ส่วนแบ่งของเขาในต้นไม้แห่งชีวิต

การรวมกันของนครเยรูซาเล็มและสวนเอเดนอยู่ในพระธรรมวิวรณ์บทสุดท้าย สองบทสุดท้ายของพระธรรมวิวรณ์ประสานเรื่องราวสำคัญของพระคัมภีร์คือสวนเอเดนและนครเยรูซาเล็มเข้าไว้ด้วยกัน มุมมองที่ดูน่าตกใจนี้ได้ผนวกแผนงานของพระคัมภีร์ตั้งแต่เบื้องต้นจนสุดปลายเอาไว้ด้วยกัน

ในสวนเอเดนพระเจ้าวางแผนให้ประชากรทวีคูณจนเต็มแผ่นดิน ในท้ายที่สุดจะได้เป็นชุมชนที่ไร้ตำหนิซึ่งมีกษัตริย์ผู้สมบูรณ์แบบ เมืองหลวงของอาณาจักรนั้นก็อยู่ที่กลางสวรรค์ สวนสวรรค์และเมืองหลวงแห่งอาณาจักรจึงเหมือนเป็นหนึ่งเดียวและที่เดียวกัน

อาดัมถูกไล่ออกไปทางทิศตะวันออกของสวนเอเดน อับราฮัมถูกส่งกลับมายังทิศตะวันตกยังคานาอัน อาดัมทำบาปที่ต้นไม้ในสวนเอเดน พระเยซูจำต้องถูกแขวนบนต้นไม้(ตรึงกางเขน) ในกรุงเยรูซาเล็มเพื่อไถ่ถอนบาปของมนุษยชาติ อับราฮัมต้องถวายบุตรตนอิสอัคบนที่เดียวกันกับที่ดาวิดต้องสร้างพระวิหารตรงนั้น บริเวณนั้นเองพระเยซูเสด็จขึ้นยังสวรรค์ และแผ่นดินผืนนั้นพระองค์   จะกลับมาเพื่อตั้งอาณาจักรพระองค์บนโลก

ที่สุดแล้วสวนเอเดนจะฟื้นคืนมาพร้อมกับบรรดาสิ่งทรงสร้างทั้งหลายโดยมีนครเยรูซาเล็มเป็นศูนย์กลาง การรื้อฟื้นสวรรค์ นครเยรูซาเล็มใหม่อันสง่างาม และการรวมสวรรค์และโลกเข้าด้วยกันทั้งหมดจะเกิดขึ้นด้วยกันที่ปลายสุดแห่งแผนการของพระเจ้า

ขอบคุณข้อมูลจาก http://reviveisrael.org