ข้อคิดเพื่อครอบครัว
"เปิดบัญชีหัวใจฝากไว้ในธนาคารแห่งความรัก"
สำหรับบทความครั้งนี้ ผมขอนำคำให้โอวาทที่ผมไปแบ่งปันในงานแต่งงานของบ่าวสาวคู่หนึ่งในคริสตจักรแห่งพระบัญชาเพื่อเป็นข้อคิดสำหรับครอบครัว เนื่องจากเจ้าสาวเป็นนักบัญชีและผมต้องการเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน เป็นยุคที่ข้าวของแพง ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด ดำเนินชีวิตอย่างเพียงพอตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียง จึงจะอยู่ได้
เราต้องรู้จักประหยัดเก็บ "ออมเงิน" ไม่ใช่การ "อมเงิน"(คอร์รัปชั่น)นะครับ การแต่งงานสร้างครอบครัวเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งแต่เป็นการลงทุนด้วยหัวใจและกำไรทั้ง 2 ฝ่ายคือความรักที่เพิ่มพูนเหมือนดอกเบี้ย
แม้ว่าเราจะอดออมให้สอยอย่างประหยัดแต่มีสิ่งหนึ่งที่เราสามารถใช้อย่างฟุ่มเฟือยได้ คือ การแบ่งปันความรักออกไปอย่างไม่มีวันหมด
การที่คู่รักตัดสินใจมาใช้ชีวิตครอบครัว จะต้องมั่นใจว่าตัดสินใจเลือกอย่างเหมาะสมแล้ว เพราะเป็นการลงทุนชีวิต ต้องอยู่กับคนที่"ใช่"ไม่ใช่เพียงคนที่"ชอบ" การแต่งงานจึงเป็นการตัดสินใจ การลงทุนมีความเสี่ยง แต่สำหรับครอบครัวคริสเตียน เรามั่นใจว่าไม่ได้เสี่ยง เพราะเราฝากชีวิตไว้ในหลักการแห่งพระวจนะของพระเจ้าคือ "พระคริสตธรรมคัมภีร์"
และพระเยซูคริสต์เป็นหลักประกันดั่ง บริษัทเมืองสวรรค์ประกันชีวิตนิรันดร์ ไม่จำกัด
เงื่อนไขคือ ผู้เชื่อในพระบุตรนั้นไม่พินาศแต่จะมีชีวิตนิรันดร์
ในพระธรรมยอห์น 3:16 ผู้ที่เชื่อวางใจในพระบุตรจะไม่พินาศแต่จะมีชีวิตนิรันดร์ นั่นเป็นคำสัญญาที่ทำให้เรามั่นใจ ในการลงทุนชีวิต
มาร่วมชีวิตครอบครัวด้วยการ
"เปิดบัญชีหัวใจฝากไว้ในธนาคารแห่งความรัก" ซึ่งมีข้อคิดจากต้นฉบับความรักแบบพระเยซูคริสต์ ให้คำจำกัดความไว้ในหนังสือพระคริสตธรรมคัมภีร์ จากพระธรรมจดหมายฝาก
1 โครินธ์ 13:4-7
4 ความรักนั้นก็อดทนนานและกระทำคุณให้ ความรักไม่อิจฉา ไม่อวดตัว
5 ไม่หยิ่งผยอง ไม่หยาบคาย ไม่คิดเห็นแก่ตนเองฝ่ายเดียว ไม่ฉุนเฉียว ไม่ช่างจดจำความผิด
6 ไม่ชื่นชมยินดีเมื่อมีการประพฤติผิด แต่ชื่นชมยินดีเมื่อประพฤติชอบ
7 ความรักทนได้ทุกอย่างแม้ความผิดของคนอื่น และเชื่อในส่วนดีของเขาอยู่เสมอ และมีความหวังอยู่เสมอ และทนต่อทุกอย่าง
พระวจนะตอนนี้ อัครทูตเปาโลกล่าวถึงความรักแท้ของพระเจ้า เป็นแม่แบบของความรักให้ผู้เชื่อได้เลียนแบบอย่างเพื่อจะปฏิบัติต่อกันและกัน
ดังนั้นทันทีที่ผ่านพิธีแต่งงาน นั่นเป็นคำสัญญาที่เปิดบัญชีหัวใจร่วมกัน และไปฝากไว้ในธนาคารแห่งความรัก” ขอเปรียบเทียบการดำเนินชีวิตครอบครัวเป็นการลงทุนชีวิตร่วมกัน ต้องทำธุรกรรมในชีวิตร่วมกันโดยฝากชีวิตให้พระเยซูคริสต์ซึ่งเป็นหลักประกันไว้ มี 3 สิ่งที่ทำคือ ฝาก ถอนและโอน
นั่นคือ "ฝากประจำความรักด้วยใจอดทนนาน ถอนความผิดด้วยใจให้อภัย และโอนถ่ายความรักที่กระทำคุณให้”
1.
ฝากประจำความรักด้วยใจอดทนนาน
การฝากคือการเอาไปเก็บไว้ การเปิดบัญชีหัวใจในครอบครัวเป็นการฝากชีวิตร่วมกันต้องดูแลซึ่งกันและกัน สามีอาจจะบอกภรรยาดังนี้ว่า
"รูปของคุณ" ผมจะเก็บไว้ใน Hard disk แต่"หัวใจของคุณ" ผมเก็บไว้ใน This Heart” หัวใจคุณฝากประจำใจผมแล้ว
การแต่งงานเป็นการฝากตลอดชีพไม่ได้เป็นฝากแบบเผื่อเรียก "ไม่ใช่แบบรักชั่วคราว ความสัมพันธ์แบบชั่วข้ามคืน" การแต่งงานต้องเป็นการตัดสินใจจากทั้ง 2 คนที่มีการพัฒนาความสัมพันธ์จากความเป็นพี่น้อง ต่อมาเป็นเพื่อนสนิท มาเป็นแฟน เป็นคู่หมั้นและคู่แต่งงาน
ไม่ใช่รักฉาบฉวยเหมือนวัยรุ่นสมัยนี้ ที่ลงเอยด้วยความสัมพันธ์ทางกาย แทนที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ทางใจให้มั่นใจก่อน ทำให้เกิดเป็นปัญหาสังคม แทนที่จะเป็นทองแผ่นเดียวกันมั่นคงเป็นปึกแผ่น แต่กลายเป็นเหมือนทองเนื้อเก้าแทน เรียกว่า "คบคนผิดเลยเสียตัว คบคนชั่วเลยเสียใจ"
ได้รู้บทเรียนรักว่า คบกันแรกๆก็ทำตาม “สัญญา” แต่ต่อมาก็ทำตาม”สันดาน” ดังนั้นผมขอเตือนใจคนที่เป็นคนโสดว่า "ถ้าคบคนพาล อยู่บนคานยังดีกว่า"
แต่ผมขอคัดค้านการขึ้นคานของทุกคนนะครับ อยากให้มีคู่ที่ดี
"คนโสดไม่ใช่คนอ่อนแอแต่เข้มแข็งพอที่จะรอคอยคนที่คู่ควร" ผมขออวยพรให้คนโสดไปถึงวันแต่งงาน "ในวันนั้นที่รอคอย แม้วันนี้ยังลอยคอ รอคอยอยู่" เลือกให้ดีนะครับ การแต่งงานเป็นการฝากประจำตลอดชีพนะครับ
ข้อคิดสิ่งแรก คือ การฝากประจำความรักด้วยใจอดทนนาน
(ข้อ 4) ความรักนั้นก็อดทนนานและกระทำคุณให้
คำว่า “อดทนนาน” หมายถึง "การผ่อนผันให้" เป็นท่าทีภายในที่มีความอดทนต่อสิ่งต่างๆ ยอมผ่อนผันให้ แม้ว่าจะถูกกระทำอย่างไม่ยุติธรรมก็ตาม รักที่อดทนนานจะสามารถชนะจิตใจคนได้ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นต้นแบบของการมีความรักที่อดทนนาน (1 ปต.2:23) และพระองค์รู้ว่าผู้เชื่อสามารถแสดงความรักแบบนี้ต่อผู้อื่นได้เช่นกัน
ครอบครัวจะต้องมีการการปรับตัวต่อกัน จากต่างคนต่างอยู่แล้วตอนนี้มาอยู่ร่วมกัน อาจจะมีกระทบกันบ้าง เราต้องมีการ ผ่อนหนักผ่อนเบาซึ่งกันและกัน
ตามพระวจนะ โคโลสี 3:13-14 ที่กล่าว
13 จงผ่อนหนักผ่อนเบาซึ่งกันและกัน และถ้าแม้ว่าผู้ใดมีเรื่องราวต่อกัน ก็จงยกโทษให้กันและกัน องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงโปรดยกโทษให้ท่านฉันใด ท่านจงกระทำอย่างนั้นเหมือนกัน
14 แล้วจงสวมความรักทับสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เพราะความรักย่อมผูกพันทุกสิ่งไว้ให้ถึงซึ่งความสมบูรณ์
การแต่งงานจะมีการสวมแหวนให้แก่กัน คู่สามีภรรยาเมื่อมีปัญหาต้องผ่อนหนักให้เป็นเบา ให้อภัยกัน สวมความรักเหมือนแหวนแต่งงาน
จงจำไว้ดังนี้ว่า "แหวนนี้คือ "ธำมรงค์" เป็น "สัญลักษณ์" ที่"ธำรงค์"ไว้ซึ่งของ "สัญญารัก"
สามีภรรยาต้องมีการดูแลกันและกัน เหมือนการเปิดบัญชีธนาคาร ธนาคารต่างๆจะมีคำขวัญ(Slogan) ต่างๆ ขอให้ครอบครัวมีความรักแบบนี้
ความรักแบบธ. นครหลวงไทย- "ใส่ใจดูแลคุณ"
ความรักแบบธ.กสิกรไทย - "บริการ(ดูแลกัน)ทุกระดับประทับใจ"
ความรักแบบธ.กรุเทพฯ - สามีภรรยา"เป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่บ้าน"
ความรักแบบธ.ไทยพานิชย์ มั่นคงด้วยรากฐาน บริการด้วยน้ำใจ
ขอให้ครอบครัว "มั่นคงด้วยรากฐานพระคำ รักษาอย่างสุดใจ"
ความรักแบบธ.ทหารไทย (TMB)- มั่นคงจริงใจรับใช้ประชาชน
ขอให้ครอบครัว จง"มั่นคงให้อภัยด้วยใจอดทน"
นั่นคือสิ่งแรก คือ ฝากประจำความรักด้วยใจอดทนนาน สิ่งต่อไปคือ
2. ถอนความผิดด้วยใจให้อภัย(ข้อ 4-5)
4 ความรักไม่อิจฉา ไม่อวดตัว
5 ไม่หยิ่งผยอง ไม่หยาบคาย ไม่คิดเห็นแก่ตนเองฝ่ายเดียว ไม่ฉุนเฉียว ไม่ช่างจดจำความผิด
ผมขอหนุนใจข้อคิดของครอบครัวจะมี 3 ท.คือ ต้อง "ทน ทำ และทิ้ง"
การ"ทิ้ง"ไม่ใช่ทอดทิ้งกัน แต่เป็นการทิ้งสิ่งที่ไม่ดีที่มีระหว่างกัน คือ "การถอน" ดังนั้นหากพบสิ่งผิดก็สามารถถอนได้ คือ การทิ้ง
ปกติเวลาเราฝากธนาคารเราจะถอนเอาเงินมาใช้ แต่ธนาคารแห่งความรักต้องถอนความผิดออกด้วยใจให้อภัย มีอะไรที่ต้องถอนทิ้ง
ความอิจฉา คำว่า “อิจฉา” (Envy) ตามความหมายในภาษาเดิม หมายถึง ความรู้สึกรุ่มร้อนอยู่ภายในที่อยากต่อสู้ มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า ความหึงหวงหรือหวงแหน(Jealousy)
ความหึงหวงหรือหวงแหน (Jealousy)มีจุดยืนต่างกัน ความหึงนั้นใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่ความหวงแหนให้ผู้อื่นเป็นศูนย์กลาง เป็นความรักแบบพระเจ้าที่พระองค์ทรงหวงแหนเรา ไม่ประสงค์ให้เราแบ่งปันใจให้กับรูปเคารพอื่น
เพราะสิ่งนั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตของเราในฝ่ายวิญญาณ
อพยพ 20:5 อย่ากราบไหว้หรือปรนนิบัติรูปเหล่านั้น เพราะเราคือพระเจ้าของเจ้า เป็นพระเจ้าที่หวงแหน ให้โทษบิดาตกทอดไปถึงลูกหลานของผู้ที่ชังเราจนถึงสามชั่วสี่ชั่วอายุคน
ความรักของพระเจ้าจึงเป็นความรักแท้ที่กระทำคุณให้นั้น สำแดงออกมาเป็นการไม่อิจฉา เมื่อเห็นคนอื่นได้ดี ก็รู้สึกชื่นชมยินดีด้วยอย่างจริงใจ
สามีภรรยาจึงต้องมีวางใจต่อกัน ไม่ระแวง แต่ต้องมีการสื่อสารต่อกัน จะไปไหนจะต้องมีการสื่อสารบอกให้อีกฝ่ายรับรู้ซึ่งกัน เพื่อละช่องว่างไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดได้
สิ่งที่ต้องถอนทิ้งอื่นๆ คือ การอวดตัว หยิ่งผยอง และหยาบคาย
พระคัมภีร์สั่งให้เราต้อง ไม่อวดตัว ไม่หยิ่งผยอง และไม่หยาบคาย
การแสดงออกของความรักแท้ที่ต้องอยู่คู่กันเสมอ เพราะถ้าไม่อวดตัว ก็ย่อมไม่หยิ่งผยอง การแสดงออกที่ไม่งดงาม คือ
การหยาบคายนั้นก็ย่อมไม่ปรากฏออกมา ความรักแท้ที่จะมีชัยเหนือสิ่งต่างๆ ได้ต้องแสดงออกถึงการให้เกียรติต่อกันและกัน ไม่ยกตนว่าอยู่เหนือผู้อื่น (รม.12:10;
ฟป.2:3)
ครอบครัวจะต้องรักกันและกันด้วยการให้เกียรติ คำเรียกกันในครอบครัวอาจจะเรียกว่า "ฮันนี่"หรือ"ที่รักขา" มาจากความรักให้เกียรติเห็นคุณค่า และเราต้องรักษาไว้ ไม่ใช่ว่าเวลาผ่านไป การให้เกียรติน้อยลง จาก "ฮันนี่ ที่รักขา"
กลับกลายเป็น "โดน ขาที่รัก ต้องหันหนี" แบบนี้เรียกว่า หยาบคาย คือการแดงออกด้วยอารมณ์ที่โกรธอย่างรุนแรง ดั่งเช่นละครทองเนื้อเก้า ตัวละครนางลำยองทำร้ายลูกคือวันเฉลิม
ข้อคิดเพื่อครอบครัว คือ เราต้องไม่หยิ่งผยองเหมือนนางลำยอง ที่หยาบคายทำร้ายลูกวันเฉลิม
สิ่งอิ่นๆนอกจากนี้ที่ต้องถอนทิ้งคือ การเห็นแก่ตัว ฉุนเฉียว ช่างจดจำความผิด
ครอบครัวจะต้องมีความรักที่กระทำคุณให้ โดยมาจากจิตใจที่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นมากกว่าตนเอง ไม่ยึดตนเองเป็นจุดศูนย์กลาง ทำให้ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ฉุนเฉียว และไม่ช่างจดจำความผิดของผู้อื่น
โดยทั่วไปในครอบครัว ฝ่ายผู้หญิง(ภรรยา)จะเป็นเหมือน "นักบัญชี" คือชอบ"คิดบัญชี" คือการจดจำความผิด และเป็น "นักโบราณคดี" นั่นคือการไปนำเอาคดีเก่ามาเล่าใหม่ เป็นความโกรธไหลที่ย้อนกลับ
เธอมักจะกล่าวกับสามีว่า "ฉันเป็น "นักบัญชีชอบตัวเลข เป็น "เลขคณิตที่คิดในใจ" แต่ "เธอ(สามี) อย่าคิดนอกใจ" ไม่งั้นอาจจะถูก คิดบัญชี ปิดคดีได้"
ฉะนั้นผมขอหนุนใจโดยเฉพาะภรรยาขอให้ถอนความผิดด้วยใจให้อภัย นิรโทษความคิดเรื่องเก่าอย่าเอามาเก็บไว้และให้อภัย จะได้เกฺดความสงบสุขในครอบครัว
สำหรับผู้ชาย(สามี)ต้องไม่เห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่ครอบครัว ต้องจัดเวลาให้ เมื่อก่อนแต่งงานอาจจะมีเพื่อนฝูงมากมาย ไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน พอแต่งงานแล้วต้องจัดเวลาให้ครอบครัวอย่างสมดุล ความรักไม่ใช่สะกดด้วย LOVE อย่างเดียวต้องสะกดด้วย TIME หากรักครอบครัวต้องจัดเวลาให้ครอบครัว
ผู้ชายต้องไม่ใช้กำลังในการทำร้ายร่างกายหรือโมโหฉุนเฉียว แต่ต้องใช้ความรักในการดูแลภรรยาอย่างทะนุถนอม
พระวจนะของพระเจ้าใน เอเฟซัส 5:22-29 กล่าวให้ "ผู้ชายต้องรักภรรยา และผู้หญิงต้องเชื่อฟังสามี" เป็นหลักการนี้ให้บทบาทในครอบครัวที่ทั้งภรรยาและสามีควรจะต้องทำคือ
ภรรยาจงเชื่อฟังสามีด้วยใจภักดี (Wife:Submit your husband with loyalty)(22-24) พระวจนะบอกกับภรรยาว่า “จงยอมฟังสามีของตน” ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Submit yourselves unto your own husbands” ซึ่งให้ความหมายถึง การยอมจำนน หรือนบนอบ
และสามีจงรักภรรยาด้วยสุดใจ (Husband : Love (your
wife) wholeheartedly) พระวจนะบอกในข้อ 25 ว่า “ฝ่ายสามีก็จงรักภรรยาของตน” พระวจนะสั่งให้สามีรักและดูแลทะนุถนอมภรรยาเหมือนกับการดูแลร่างกายของตนเอง
(สามารถอ่านในบทความ“เชื่อฟังด้วยใจภักดิ์ รักด้วยสุดใจ” ได้ )
และสิ่งที่ 3 นั่นคือ "โอนถ่ายความรักที่กระทำคุณให้”
เมื่อครอบครัวเปิดบัญชีหัวใจฝากไว้ในธนาคารแห่งความรัก นั่นหมายถึงว่าความรักของทั้ง 2 คนที่เป็นต้นทุนในการลงทุน สิ่งที่จะได้รับคือความรักที่เป็นดอกเบี้ยที่เพิ่มพูนขึ้น เพราะความรักเป็นสิ่งที่กระทำคุณให้กับทุกคน เมื่อแจกจ่ายความรักออกไป ความรักจะไม่สูญหายไปแต่จะเป็นความรักที่ได้กลับมาสู่ผู้ให้ นี่คือหลักการของพระเจ้า ที่ประทานพระบัญญัติแห่งรักไว้ คือ "ให้เรารักพระเจ้าด้วยสุดใจและรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง"
3.โอนถ่ายความรักที่กระทำคุณให้ (ข้อ 4,6-7)
ดังนั้นแต่ละครอบครัวจึงต้องโอนถ่ายความรักออกไปอย่าเพียงเก็บไว้อย่างเดียว เมื่อสะสมความรักก็ต้องส่งผ่านไปถึงครอบครัวอื่นๆด้วย โดยความรักที่กระทำคุณให้มีลักษณะดังนี้
คำว่า “กระทำคุณให้” ในภาษากรีกหมายถึง มีความเมตตากรุณา ความรักที่กระทำคุณให้เป็นความรักที่สำแดงความเมตตาออกดังนี้
เป็นรักที่ชื่นชมยินดีในความชอบธรรม (ข้อ 6)
ไม่ชื่นชมยินดีเมื่อมีการประพฤติผิด แต่ชื่นชมยินดีเมื่อประพฤติชอบ
พระวจนะสอนให้ชื่นชมยินดีเมื่อผู้อื่นกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม แต่ไม่ชื่นชมยินดีหรือคล้อยตามเมื่อผู้นั้นกระทำผิด เพราะการกระทำผิดย่อมนำมาซึ่งการถูกลงโทษ ดังนั้นการที่รักใครต้องไม่เพิกเฉยหรือเห็นคนที่เรารักทำผิด ต้องมีการตักเตือน เพื่อให้กลับใจและไม่ทำผิด การกลับใจเป็นเหตุที่ได้รับการอภัยจากพระเจ้า ดังนั้นคนที่ทำผิดอย่าชะล่าใจคิดว่าทำผิดแล้วไม่มีใครรู้เห็น จะมีการพิพากษาแน่ และเมื่อทำผิดอย่าใช้การอภัยมาเป็นข้ออ้าง เพื่อจะทำผิดต่อไป คนที่ทำผิดต้องพิสูจน์การกลับใจด้วยการกระทำ(มธ.3:8)
ครอบครัวเช่นเดียวกัน ต้องชื่นชมยินดีเมื่อทำดี แต่ไม่ชื่นชมเห็นด้วยเมื่อทำผิด สามีและภรรยาต้องตักเตือนกันอย่างเหมาะสม
เป็นรักที่เชื่อในส่วนดีและมีความหวังอยู่เสมอ (ข้อ 7)
ความรักทนได้ทุกอย่างแม้ความผิดของคนอื่นและเชื่อในส่วนดีของเขาอยู่เสมอและมีความหวังอยู่เสมอและทนต่อทุกอย่าง
ความรักที่ทนได้ทุกอย่างแม้ความผิดของคนอื่น โดยเชื่อในส่วนดีของเขาอยู่เสมอ และมีความหวังอยู่เสมอ เป็นความรักที่ให้ "ความเป็นธรรม"เพื่อให้คนที่ทำผิดได้มีจุดยืนให้โอกาส โดยการเชื่อในส่วนที่ดีอยู่เสมอ ไม่ตัดสินว่าผิดไปก่อนการวินิจฉัย และคิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน
ดังนั้นสำหรับคริสเตียนไม่มี "ความเป็นกลาง"คือ อยู่แบบเทาๆ ไม่ขาวไม่ดำ แต่เราต้องอยู่ข้างสิ่งที่ถูกคือ สีขาว ผิดก็บอกว่าผิด ถูกก็บอกว่าถูก เราจะต้องนำความสว่างของความชอบธรรมของพระเจ้าไปสู่สังคม(อสย.60:1-2)
แต่เราต้องให้ความเป็นธรรม เมื่อทำผิดและให้อภัยกัน ก็ต้องมีความหวังใจกับคนให้เขาได้รับการเปลี่ยนแปลงชีวิตในพระเจ้า
ครอบครัวเช่นเดียวกัน ต้องส่งผ่านความรักต่อกันและโอนถ่ายความรักของพระเจ้าออกไปสู่สังคม เพราะสังคมในวันนี้อาจจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความแตกแยกในความคิด แต่ความรักจะทำให้ความแตกต่างกลายเป็นความเสริมสร้าง การให้โอกาสเป็นสิ่งที่สำคัญของคนที่ทำผิดและกลับใจ เริ่มต้นใหม่ได้ทุกคน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าครอบครัวทุกครอบครัวจะได้รับข้อคิดนี้นะครับ
ขอให้มีใจอดทนนาน ถอนความผิดด้วยใจให้อภัย และโอนถ่ายความรักที่กระทำคุณให้ออกไปสู่สังคมนะครับ
ขอให้สังคมทุกวันนี้ อย่าเอาแต่มองที่ความผิด เลิกคิดบัญชีแก้แค้นและปิดบัญชีเกลียดชัง แต่เปิดบัญชีหัวใจฝากไว้ในธนาคารแห่งความรัก
ผมขอปิดท้ายด้วยบทกลอนสำหรับครอบครัวไว้ หากพอใจให้กด Like
ไม่ชอบใจอย่ากดไล่นะครับ
เอารักฝาก ธนาคารใจ ไว้กินดอก
ไม่ถอนออก ประจำไว้ ตลอดชีพ
หากทำผิด ขอนิรโทษ โปรดอภัย
กลับใจใหม่ ด้วยสำนึก อย่างสุดใจ
เชื่อในรักแท้ ต้องดูแล และรักษา
ขอพึ่งพา พระองค์ ทรงนำหน้า
ทำสัญญา รักฝากไว้ ให้สุดซอย
ขอทรงคอย ประคองรักไว้ ไปสุดทาง
ขอพระเจ้าอวยพระพรครับ