23 เมษายน 2554

การเจิมแบบกษัตริย์(Royal Anointing)

ในค่ำคืนวันศุกร์ที่ 22 เม..ที่ผ่าน พี่น้องคริสเตียนในโซนฝั่งธน ได้จัดงาน Friday night prayer เป็นการร่วมใจกันอธิษฐาน ในครั้งนี้จึงจัดงานเทศกาลปัสกา ร่วมระลึกการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ ไปด้วยครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ที่เราร่วมใจกันจัดงานการอธิษฐาน โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2011
เราใช้ชื่อว่า "Burning Bush" เป็นเรื่องการทรงเรียกของพระเจ้าที่ทรงเรียกโมเสสในการรับใช้พระองค์(อพย3) (สามารถอ่านได้ใน http://pattamarot.blogspot.com/2010/12/burning-bush.html)
และครั้งที่ 2 ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 17 ..2011 ใช้ชื่อว่า Possessing the land รุกคืบสู่ดินแดนพระสัญญา เป็นการนำหลักการจากพระธรรมโยชูวา บทที่ 1 (สามารถเข้าอ่านได้ใน http://pattamarot.blogspot.com/2011/02/possessing-land.html)
ในครั้งนี้เป็นเรื่อง การเจิมแบบกษัตริย์(Royal Anointing) ผมขอให้คำนี้แทนคำว่า Kingly Anointing ซึ่งจะให้ความหมายเป็นภาพของชุมชนที่ได้รับการเจิมเพื่อทำการรับใช้จอมกษัตรา คือ พระเยซูคริสต์ที่ทรงเป็นขึ้นมาความตาย และพระองค์จะนำมาปกครองแห่งราชอาณาจักรของพระองค์ในวาระสุดท้ายของโลก สำหรับ Kingly Anointing เป็นการเจิมแบบปัจเจกบุคคล
เหตุที่เราต้องรับการเจิมแบบนี้เพราะในยุคนี้ เรากำลังเข้าสู่ยุคแห่งธรรมิกชน (The Saints) เราจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์ของคริสตจักรที่เป็นขบวนการการรื้อฟื้น (Restoration) ของพระเจ้าสู่การขับเคลื่อนคริสตจักรแบบพันธกรทั้ง 5 (Fivefold ministry) จากพระธรรมเอเฟซัส 4:11-13
ยุคของธรรมิกชน (The Saints) เป็นยุคที่พวกเราทั้งหลาย(ผู้เชื่อ)จะได้รับการแบบเจิมของปุโรหิต และการเจิมแบบกษัตริย์ รับการส่งต่อและพัฒนาของประทาน จากพันธกรทั้งห้า เพื่อการครอบครองร่วมกับพระองค์ในโลกนี้ ด้วยสิทธิอำนาจจากการเจิมที่ทรงประทานให้
ดังนั้นเราจึงต้องทำความเข้าใจถึงเรื่องการเจิมแบบต่างๆ ผมขออธิบายโดยสังเขปดังนี้

เข้าใจเรื่องการเจิม(Anointing)
คำว่า เจิม ซึ่งเป็นคำกริยา ในภาษาฮีบรู คือ คำว่า Mashach คำนี้ให้ความหมายหลายอย่าง เช่น ขัดถูด้วยน้ำมัน ถวายตัว อุทิศถวาย ทำให้เป็นที่เคารพ และทาสี
ส่วนในภาษากรีกใช้คำว่า Murizoz หมายถึง ทา ดังนั้น ความหมายโดยทั่วไป ของคำว่า เจิม คือ ทาบางสิ่งลงบนบางสิ่งบางอย่าง โดยทั่วไปเป็นการ ทาน้ำมัน นอกจากนี้คำนี้ยังให้ภาพของการทาสี หรือย้อมสีอีกด้วย
การเจิมบางคน หรือ บางสิ่งบางอย่างนั้น เป็นการกระทำเพื่อบอกว่าสิ่งนั้น หรือบุคคลนั้นได้มอบไว้ หรือถวายไว้แล้ว
ส่วน คำว่า การเจิม ซึ่งเป็นคำนามนั้น ในภาษาฮีบรู มาจากคำว่า Mashyach หมายถึง การเจิมบุคคลไว้ เพื่อให้ทำหน้าที่พิเศษบางอย่าง
การเจิมเป็นการทรงสถิตของพระวิญญาณที่เทน้ำมันแห่งการเจิมลงมาเหนือบางคน เป็นการส่งผ่านไหลด้วยกำลังที่เหนือธรรมชาติเพื่อให้บุคคลที่ถูกเจิมนั้น กระทำหน้าที่หรืองานที่ได้รับมอบหมายพิเศษนั้นได้ โดยผู้นั้นจะถูกเรียกและแต่งตั้งให้ทำ
สำรวจพระคัมภีร์เรื่องการเจิม
การเจิมในประวัติศาสตร์ชนชาติยิว ใช้ทั้งกับสิ่งของและบุคคล เหตุการณ์แรกที่มีการเจิมโดยการใช้น้ำมันคือการเจิมเสาที่ทำด้วยหินโดยยาโคบ เพื่อทำให้เสานั้นศักดิ์สิทธิ์ (ปฐก.28:18) คนอิสราเอลยุคต่อมาภายใต้ธรรมบัญญัติของโมเสส หากจะมีการแยกบุคคลหรือสิ่งของใดๆ ไว้เพื่อความศักดิ์สิทธิ์จะมีการเจิมด้วยน้ำมันเจิมอันบริสุทธิ์” (อพย.30:23-25, 30-33)
ในเรื่องการเจิมบุคคลนั้น พระคัมภีร์เดิมกล่าวถึง ปุโรหิต กษัตริย์ และผู้เผยพระวจนะ ว่าเป็นผู้ที่ได้รับการเจิม โดยการเทน้ำมันลงบนศีรษะของผู้ที่ถูกเจิม (อพย. 29:7) การเจิมกษัตริย์นั้นจะทำโดยผู้เผยพระวจนะที่กระทำในฤทธิ์อำนาจและสิทธิอำนาจ ของพระเจ้า (1ซมอ.15:1) ส่วนการเจิมผู้เผยพระวจนะก็มีอย่างน้อย 2 ตัวอย่างใน 1พกษ.19:16 และ อสย.61:1
พระเยซูคริสต์ถูกกล่าวถึงว่าเป็น ผู้ที่ถูกเจิม(คำว่า Christ แปลว่า ผู้ที่ถูกเจิม) มากมายหลายตอนในพระคัมภีร์เดิมซึ่งเป็นคำพยากรณ์ถึงพระผู้ช่วยให้รอดที่จะ เสด็จมา(สดุดี 2:2, ดาเนียล 9:25-26) และในพระคัมภีร์ใหม่ก็บันทึกไว้ในคำเทศนาของเปโตร (กิจการ 4:26)
ในสมัยพระคัมภีร์เดิม พระเจ้าเจิมเป็นรายบุคคล ให้ทำหน้าที่ที่เฉพาะเจาะจงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น พระเจ้าเลือกบุคคล และเจิมให้บางคนเป็นผู้เผยพระวจนะ บางคนพระเจ้าเจิมให้ทำบทบาทปุโรหิต บางคนก็ได้รับการเจิมเป็นกษัตริย์
พระเจ้าทรงเจิมดาวิด ให้เป็นทั้งกษัตริย์ ผู้เผยพระวจนะและปุโรหิต
1 ซมอ.16:12 ดาวิดในฐานะกษัตริย์
2 ซมอ.23:2 ดาวิดในฐานะผู้เผยพระวจนะ
2 ซมอ.24:25 ดาวิดในฐานะปุโรหิต
ในพระคัมภีร์ใหม่ การเจิมมักถูกใช้ควบคู่ไปกับการรักษาโรค ให้ภาพของกิจกรรมที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทำในชีวิตของผู้เชื่อที่เกี่ยวข้อง กับการเจิม
เช่น สาวกของพระเยซูเจิมคนป่วยใน (มก.6:13) ยก.5:14 การเจิมในลักษณะนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาความเจ็บป่วย
นอกจากนั้นการเจิมในพระคัมภีร์ใหม่ยังหมายถึงการเจิมของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ด้วย ซึ่งจะนำมาซึ่งสติปัญญาและความเข้าใจฝ่ายวิญญาณในชีวิตของผู้เชื่อ (1ยน.2:20,27)
การเจิมแบบนี้ ไม่ได้จำกัดไว้สำหรับกษัตริย์ ปุโรหิต ผู้เผยพระวจนะ หรือผู้นำเท่านั้น แต่สำหรับทุกคนที่เชื่อวางใจในพระเยซูคริสต์ การเจิมด้วยน้ำมันเห็นได้ชัดข้างนอก แต่ต้องเกี่ยวข้องกับการเจิมฝ่ายวิญญาณด้วย เพราะพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเจิมใจของผู้เชื่อด้วยพระคุณ ความรักและความจริงของพระเจ้า
เมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องการเจิมในพระคัมภีร์ เราพบว่าการเจิมนั้นเกี่ยวข้องกับการทรงสถิตของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิต ของผู้เชื่อที่พระเจ้าทรงเรียกมารับใช้พระองค์ตั้งแต่ในพระคัมภีร์เดิม
(1ซมอ.10:1,6 ,13 ซามูเอลจึงนำขวดเขาน้ำมันและเจิมตั้งดาวิด)
แต่เมื่อพระเจ้าได้ทำให้พระสัญญาในพระธรรมโยเอล 2:28 เป็นจริงใน กจ.2 พระวิญญาณของพระองค์ก็มาสถิตอยู่กับผู้เชื่อทุกคน

สรรเสริญพระเจ้า สำหรับสิทธิพิเศษของผู้เชื่อในยุคนี้ที่เป็นพระคุณของพระเจ้า ที่เราเป็นธรรมิกชนที่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์
เราจึงสามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่า การเจิม คือ การ ที่พระเจ้าได้แยกผู้เชื่อไว้สำหรับพระองค์ เพื่อปรนนิบัติในบทบาทหน้าที่ตามพระประสงค์ของพระองค์ โดยที่พระองค์ได้ทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้สถิตอยู่กับผู้เชื่อคนนั้น เพื่อช่วยให้สามารถทำงานที่พระองค์ได้ทรงเรียกให้สำเร็จได้ นั่นเอง
ผู้เชื่อจึงจำเป็นต้องดำเนินชีวิตให้เต็มล้นด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่เสมอ เพื่อรักษาการเจิมของพระเจ้าไว้ในชีวิต
สัญลักษณ์ของการเจิมด้วยพระวิญญาณ : น้ำมัน
น้ำมันเป็นสัญลักษณ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เนื่องด้วยลักษณะบางประการ
(อพย.30:22-25 พระเจ้าทรงให้โมเสส ใช้เครื่องเทศที่มีคุณภาพดีที่สุดเป็นส่วนผสมในการทำน้ำมันเจิม ส่วนผสมที่เป็นเครื่องเทศต่าง ๆ เหล่านี้มีค่า มีราคาแพง และหายากไม่ใช่หาได้ทั่ว ๆ ไป มีส่วนผสมของเครื่องเทศ 4 ชนิด คือ มดยอบ อบเชย ตะไคร้ การบูร และน้ำมันมะกอก ซึ่งส่วนผสมแต่ละอย่างมีความหมายในฝ่ายวิญญาณ รวมแล้วมีส่วนผสม 5 อย่าง เลขห้า ในพระคัมภีร์มีความหมายถึง พระคุณและความโปรดปรานของพระเจ้า)
การเจิมจึงเป็นการรับรองจากพระเจ้า ว่าผู้ที่ได้รับการเจิม เป็นดังภาชนะที่พระเจ้าเลือกใช้
การเจิมเป็นเรื่องที่ไม่ต้องป่าวประกาศต่อสาธารณชน ไม่ได้มีเพื่อโอ้อวด แต่พระเจ้าให้เพื่อการปรนนิบัติรับใช้พระองค์
ในเอเฟซัส บทที่ 4 พระเจ้าพูดว่า พันธกรทั้งห้า จะเตรียมธรรมิกชน คำว่า "เตรียม" ตรงนี้ มาจากภาษากรีกว่า Katartismos ให้ความหมายว่า ทำให้มีคุณภาพอย่างเต็มที่ เพื่อการรับใช้
อฟ. 4:12 เพื่อเตรียมธรรมิกชนให้เป็นคนที่จะรับใช้ เพื่อเสริมสร้างพระกายของพระคริสต์ให้จำเริญขึ้น
นี่เป็นเวลาที่พระเจ้ากำลังฝึกฝน เตรียมคริสตจักร เป็นเวลาที่เราต้องรับการฝึกฝน การเจิมของพระเจ้า ที่ให้เราเดินก้าวลึกลงไปมากยิ่งขึ้น ตามที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการเจิม 3 แบบ คือ
การเจิมแบบกษัตริย์ ผู้เผยพระวจนะและปุโรหิต
เราจึงต้องทำความเข้าใจบทบาททั้ง 3 บทบาท แม้ว่าเราจะไม่ได้รับจากเจิมทั้ง 3 แบบในคนเดียว แต่คริสตจักรจะต้องขับเคลื่อนจากเจิมทั้ง 3 แบบนี้เพื่อไปสู่พันธกรทั้ง 5
การเจิมแบบปุโรหิต (Priestly Anointing)
ในความหมายทั่วไป คำว่า ปุโรหิต คือผู้กลาง(Mediator)ที่เป็นผู้ที่ถวายการปรนนิบัติรับใช้แด่พระเจ้า
ทำหน้าที่ถวายเครื่องสัตวบูชาแทนประชาชนในยุคปัจจุปันเราไม่มีผู้กลาง เพราะพระเยซูคริสต์เป็นผู้กลางนำ
เราเข้ามาหาพระเจ้าแล้ว เราจึงเข้ามาแสวงหาพระเจ้าโดยไม่ต้องผ่านผู้กลางอีกต่อไป
ฮีบรู 9:15 เพราะเหตุนี้พระองค์จึงทรงเป็นผู้กลางแห่งพันธสัญญาใหม่ เพื่อให้คนทั้งหลายที่พระองค์ทรงเรียกมา ได้รับมรดกนิรันดร์ตามพระสัญญา เพราะการพลีชีวิตนั้นไถ่คนให้พ้นจากบาปอันเกิดใต้พันธสัญญาเดิมแล้ว
เราจึงเป็นผู้ที่ถูกเจิมให้เป็นปุโรหิตหลวงของพระเจ้าเผื่อปรนนิบัติพระเจ้า
1เปโตร 2:9 แต่ท่านทั้งหลายเป็นชาติที่พระองค์ทรงเลือกไว้แล้ว เป็นพวกปุโรหิตหลวง เป็นประชาชาติบริสุทธิ์ เป็นชนชาติของพระเจ้าโดยเฉพาะ เพื่อให้ท่านทั้งหลายประกาศพระบารมีของพระองค์ ผู้ได้ทรงเรียกท่านทั้งหลายให้ออกมาจากความมืด เข้าไปสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์
กล่าวโดยสรุป ความหมายของ ปุโรหิต มี 4 C นั่นคือ

C = Consecrated การอุทิศตัว แยกไว้เฉพาะพระเจ้า
C = Called ได้รับการทรงเรียกให้ปรนนิบัติรับใช้พรเจ้า
C = Clean ชำระตัวให้บริสุทธิ์
C = Come to God มีภารกิจในการนำคนมาถึงพระเจ้า (มาสู่ที่ประทับพระเจ้า)

ผู้เผยพระวจนะเป็นการเจิมแห่งการนำผู้เชือในมิติฝ่ายวิญญาณไม่ว่า การเผยพระวจนะ การอธิษฐานวิงวอน และการนมัสการพระเจ้า ในยุคนี้เป็นยุคธรรมิกชนที่เราได้รับการเจิมโดยพระวิญญาณจากคำเผยพระวจนะในพระธรรมโยเอล 2:28-29 สำเร็จในพระธรรมกิจการฯ ที่เราจะออกไปทำการเผยพระวจนะของพระองค์จนสุดปลายแผ่นดิน

กิจการของอัครทูต 2:17-18
17 "พระเจ้าตรัสว่าในวาระสุดท้าย เราจะเทฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณของเราโปรดประทานแก่มนุษย์ทั้งปวง บุตราบุตรีของท่านทั้งหลายจะกล่าวคำพยากรณ์ คนหนุ่มของท่านจะเห็นนิมิต และคนแก่จะฝันเห็น
18 ในคราวนั้น เราจะเทฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณของเราบนทาสทาสีของเรา และคนเหล่านั้นจะกล่าวคำพยากรณ์
การเจิมแบบกษัตริย์(Royal Anointing)
สำหรับการเจิมแบบนี้ จะเป็นเรื่องของการปกครองในสมัยพระคัมภีร์เดิมคือ กษัตริย์ ปกครองชุมชนคนอิสราเอล ชนชาติของพระเจ้า แต่ในปัจจุบัน ชุมชนของพระเจ้า คือ คริสตจักร ผู้ที่ทำหน้าที่นี้คือ อัครทูต เพราะ อัครทูต เป็นการเจิมแห่งการมองเห็นภาพรวม เห็นแบบแผนที่แท้จริงของคริสตจักร เป็นการเจิมแห่งการวางรากฐานความเชื่อให้ตั้งอยู่บนพระคริสต์อย่างแท้จริง และอัครทูตมีการเจิมแห่งการปลดปล่อยคนเข้าสู่พันธกิจอย่างที่ควรจะเป็น
ดังนั้นเมื่อมีการเจิมแบบกษัตริย์จึงต้องการการขับเคลื่อนพันธกรทั้งห้า(อฟ.4:11-13) คือ ของประทานห้าอย่างที่มีความสำคัญเท่าๆกัน และเมื่อทั้งห้าของประทานทำงานร่วมกัน เราจะเห็นคริสตจักรไปสู่ความไพบูลย์ในพระคริสต์
ดังนั้นเราจึงต้องเข้ามาผูกพันอุทิศตัว (ในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า alignment บางครั้งแปลว่า ร่วมหัวจมท้าย )กับคริสตจักร เพื่อรับการเจิมแบบกษัตริย์ที่ส่งผ่านเป็นการขับเคลื่อนคริสตจักรแบบอัครทูต
เมื่อเรารับการเจิมแบบนี้ เราจะเห็นมิติอัศจรรย์มากกว่าการรับใช้ในอดีตที่ผ่านมา
ข้อแนะนำในการปฎิบัติในคริสตจักรในเรื่องการเจิม
1. ผู้ที่ได้รับการเจิมคือผู้เชื่อทุกคน โดยพระวิญญาณฯ เราทุกคนจึงสามารถทำพระราชกิจของพระเจ้าได้ ทุกคนทำได้ (Everyone can play) แต่เราต้องเข้าใจรับการเรื่องการเจิม มีการส่งผ่านการเจิม (Impartation) เราต้องรับการเจิมส่งผ่านจากผู้มีของประทานและมีสิทธิอำนาจจึงจะส่งต่อไปได้ หากเราไม่ได้รับมาจะส่งต่อได้อย่างไร
2.ทำความเข้าใจในเรื่องการเจิม อย่านำไปเจิมโดยปราศจากความเข้าใจและทำเป็นพิธีกรรมและรูปแบบ
3.น้ำมันและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการเจิม ไม่ได้มีความศักดิ์สิทธ์ในตัวเอง สิ่งที่สำคัญมากกว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการเจิมคือ ชีวิตของผู้ที่ส่งผ่านการเจิม สิทธิอำนาจมาจากชีวิตและชีวิตของผู้มีสิทธิอำนาจจะเป็นผู้ส่งผ่านการเจิมลงไป
4.การเจิมควบคู่ด้วยสิทธิอำนาจ สิทธิอำนาจไหลจากบนไปสู่ข้างล่าง
สดุดี 133:2-3
2 เหมือนน้ำมันประเสริฐอยู่บนศีรษะไหลอาบลงมาบนหนวดเครา บนหนวดเคราของอาโรน ไหลอาบลงมาบนคอเสื้อของท่าน
3 เหมือนน้ำค้างของภูเขาเฮอร์โมน ซึ่งตกลงบนเทือกเขาศิโยน เพราะว่าพระเจ้าทรงบังคับบัญชาพระพรที่นั่น คือชีวิตจำเริญเป็นนิตย์
5.การวางมือในการส่งผ่านการเจิม เราต้องทำความเข้าใจในเรื่องการวางมือ มี 3 ระดับคือ
ระดับที่ 1 กรวางมือเพื่ออวยพรทุกคนทำได้
ระดับที่ 2 การวางมือเพื่ออธิษฐานเพื่อเยียวยา บำบัดปลดปล่อย ทุกคนที่มีความเชื่อหรือในบรรยากาสที่ประชุมมีความเชื่ออธิษฐานร่วมกัน และผู้มีของประทานวางมือ
ระดับที่ 3 วางมือเพื่อส่งผ่าน (Impartation) ต้องให้ผู้ที่มีสิทธิอำนาจ ผู้ที่มีของประทานนั้นส่งผ่าน
กล่าวคือเรื่องของการเจิม เป็นการเห็นคุณค่าการเจิม ทำความเข้าใจ ใช้อย่างมีความหมาย

สุดท้ายขอฝากข้อคิดเรื่องการเจิม เพื่อจำก่อนจบ
1.การเจิม-เริ่มมาจากการเจียม (เจิม+เตรียม) - เตรียมใจ เตรียมชีวิตให้พร้อมเพื่อรับการเจิมจากพระเจ้าโดยพระวิญญาณ ด้วยท่าทีถ่อมใจเจียมเนื้อเจียมตัว ไม่ได้อวดอ้างแต่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า
2.การเจิม-จบด้วยการจาก สิ่งสำคัญมากกว่าการรับการเจิม คือ การรักษาการเจิม เพราะการเจิมอาจจะพรากจากไปได้ หากไม่รักษาชีวิตให้ดี ตัวอย่างเช่นซาอูล(1ซมอ.15)
3.การเจิม-จะแจ๋วถ้านำมาจอยกัน การเจิมจะถูกพัฒนามากขึ้นคือการนำของประทานที่ได้รับการเจิม มาเสริมสร้างกันในคริสตจักร เรีกว่า มาจอย(Joint)กัน มาร่วมกันรับใช้ตามของประทาน (อฟ.4:11-13) มีการขับเคลื่อนในของประทานต่างๆ ทั้ง 5 คือ อัครทูต ผู้เผยพระวจนะ ศิษยาภิบาล อาจารย์และผู้ประกาศ เพื่อจะพัฒนาคริสตจักรไปสู่ความไพบูลย์ในพระคริสต์
ทำได้แบบนี้รับรองการเจิมในคริสตจักร จะแจ๋วจริง วันนี้ขอแจ๋วหลบ จบแล้ว
ขอพระเจ้าอวยพระพรครับ

19 เมษายน 2554

อาหารในเทศกาลปัสกา


รายการอาหารในเทศกาลปัสกา มี 6 อย่างด้วยกัน คือ

  1. ขนมปังมาทซาห์ไร้เชื้อ (Matzot) เพื่อระลึกถึงอาหาร ซึ่งบรรพบุรุษของเราถูกบังคับให้กินระหว่างการลี้ภัยในอียิปต์ (อพยพ 12:15-20,เลวีนิติ 23:6)

  2. กระดูกซี่โครง (Shank bone) เป็นสัญญาลักษณ์ทำให้เราระลึกลูกแกะแห่งปัสกา ซึ่งเป็นสัตว์ที่ใช้ในพิธีสัตวบูชาบนโต๊ะบูชาในพระวิหารแห่งกรุงเยรูซาเรม (อพยพ 12:3-13)

  3. ไข่ เพื่อระลึกถึงการนำไข่ไปถวายบูชาในพระวิหารระหว่างงานเทศกาลสำคัญ

  4. มอโรร์ (Moror) หรือผักขมเพื่อระลึกถึงความขมขื่นของบรรพบุรุษที่อดทนต่อการตกเป็นทาส (อพยพ 12:8)

  5. คาโรเซต (Charoset) คาโรเชต คืออาหารผสมที่มีสัดส่วนของแอปเปิ้ล ถั่ว ไวน์และอบเชย มีลักษณะคล้ายดินสอซึ่งบรรพบุรุษของเราใช้ทำก้อนอิฐในการก่อสร้างหัวเมืองอียิปต์ (อพย1:8-14,3:7-9,5:7-9)

  6. ผักเขียวสด (ภาษาฮีบรู แปลว่า คาพัส Karpas) ทำให้เราจำได้ว่า ปัสกาจะนำไปสู่ฤดูใบไม้ผลิและการเก็บเกี่ยว ในยุคสมัยก่อนปัสกามีความหมายทางการเกษตรเพื่อถวายขอบพระคุณสำหรับความอุดมสมบูรณ์แห่งแผ่นดิน

มีการจุดเทียนไว้ 2 เล่ม เป็นสัญลักษณ์แทนพระหัตถ์แห่งการทรงนำของพระเจ้าที่ทรงนำชาวฮีบรูออกจากอียิปต์


มีการตั้งถ้วยเหล้าองุ่นไว้ 4 ถ้วยมีความหมายดังนี้


1. ถ้วยแห่งการชำระให้บริสุทธิ์
2. ถ้วยแห่งการทรงไถ่

3. ถ้วยแห่งพระพร
4. ถ้วยแห่งการขอบคุณ
ชาวยิวยังจัดที่ว่างบนโต๊ะอาหารไว้หนึ่งที่ สำหรับเอลียาห์ผู้เผยพระวจนะ

15 เมษายน 2554

เทศกาลปัสกา : ก้าวสู่เสรีภาพใหม่ด้วยใจขอบพระคุณ

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน ในเดือนเมษายนนี้ เป็นเดือนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตคริสตชนเพราะเป็นเดือนที่มีการจัดค่ายประจำปี ของคริสตจักรต่างๆ เพื่อได้ใช้เวลาในช่วงวันหยุดพัก สามัคคีธรรมกันและฟังเสียงพระเจ้าร่วมกัน เช่นเดียวกับในพระคัมภีร์ได้บันทึกถึงเทศกาลต่างๆ ที่พระเจ้าทรงกำหนดให้คนอิสราเอลได้ถือปฎิบัติโดยมีวัตถุประสงค์ต่างๆ โดยรวมก็เพื่อการพักสงบเพื่อฟังพระสุรเสียงของพระเจ้า

เราในฐานะคริสตชนแม้ว่าเราอาจจะไม่ได้เป็นอิสราเอลในฝ่ายกายภาพแต่เราเป็นอิสราเอลในฝ่ายวิญญาณโดยพระโลหิตของพระคริสต์(อฟ
.2:12-19) เราจึงร่วมถือเทศกาลต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้เราได้รู้วาระเวลาเข้ามาในฤดูกาลของพระเจ้า และเพื่อวาระแห่งการพักผ่อนหย่อนใจ เข้าใกล้ฟังเสียงพระเจ้า

เทศกาลหลักๆของคนอิสราเอล มีประมาณ 7 เทศกาล แต่ขอยกเอาเทศกาลที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนนี้มาแบ่งปันเล่าสู่กันฟังแล้วกันคือ เทศกาลปัสกา(Passover) (สามารถอ่านบทความเรื่องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทศกาลปัสกาและอีสเตอร์ได้ที่ http://pattamarot.blogspot.com/2011/04/blog-post.html)
เทศกาลนี้ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในพระธรรมอพยพ บทที่12:1-11 ระบุว่า พระเจ้าทรงกำหนดตั้งให้คนอิสราเอลถือปฏิบัติทุกปี เพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์เมื่อพระองค์ทรงนำอิสราเอล ให้หลุดพ้นจากความเป็นทาสของอียิปต์เป็นไทแก่ตนเอง
ในปี 2011 เทศกาลนี้ จะเริ่มในวันอังคารที่ 19 เม.. และสิ้นสุดที่วันจันทร์ที่ 25 เม..2011
สำหรับคริสเตียน "ปัสกา” เป็นเทศกาลที่เล็งถึง "การผ่านความทุกข์" สู่ความยินดีโดยอาศัยความเชื่อที่มีต่อพระราชกิจแห่งการไถ่ของพระเยซูคริสต์ ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือ การฉลองการได้รับชีวิตที่เป็นอิสระจากบาปและความตายนั่นเอง
เราจึงสามารถร่วมเฉลิมฉลองและเตรียมชีวิตของเราในเทศกาลนี้โดยการ “ก้าวสู่เสรีภาพใหม่ด้วยใจขอบพระคุณ” ได้ดังนี้
1. เริ่มต้นสิ่งใหม่ กลับใจใหม่จากสิ่งเดิม (อพย.12:1-2)
1 พระเจ้าตรัสกับโมเสสและอาโรนในประเทศอียิปต์ว่า
2 "ให้เดือนนี้เป็นเดือนเริ่มต้นสำหรับเจ้าทั้งหลาย ให้เป็นเดือนแรกในปีใหม่สำหรับพวกเจ้า
คำว่าเดือนนี้ ในที่นี้หมายถึงเดือน อาบิบ (Abib) ซึ่งให้ความหมายในภาษาฮีบรูหมายถึง “green earsซึ่งอยู่ในช่วงประมาณ เดือนมีนาคม ถึงเมษายน ในปฏิทินของเรา
เป็นเดือนที่พระเจ้านำให้คนอิสราเอลอพยพออกมา
ในระหว่างการอพยพออกจากอียิปต์ มีการเปลี่ยนมาใช้ชื่อเดือนใหม่ว่า นิสาน แทน ซึ่งให้ความหมายว่า "การเริ่มต้น การเปิด"
เดือนนิสานนี้ เป็นเดือนแห่งการเริ่มต้นและประกาศตัวอย่างชัดเจนของอิสราเอลในฐานะ “ประชากรของพระเจ้า” เป็นเดือนที่เขาได้ผ่านพ้นสิ่งเก่า ๆ เพื่อก้าวไปสู่สิ่งใหม่ในพระองค์
ปัสกา เป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้เราเข้าใจว่า เมื่อใดที่เป็นเวลา ปัสกา พระเจ้าจะกระทำสิ่งใหม่ สิ่งที่ยิ่งใหญ่ สิ่งที่เป็นพรแก่ชีวิตของเราอยู่ทุกครั้งไป
พระวจนะใน 1 คร.5:7-8 เปาโลกล่าวถึงการชำระตัว หรือเชื้อเก่า เพื่อจะเป็นสิ่งใหม่ในพระองค์
คนอิสราเอลจะไปกับการนำของพระเจ้าไม่ได้ ถ้าหากเขายังยึดติดกับสิ่งเก่า
เราเห็นว่า แม้แต่วิธีการปรุงอาหารก็เปลี่ยนไป แต่เดิมคนอิสราเอลที่อยู่ในอียิปต์มักเอาเนื้อมาต้ม หรือกินแบบดิบ ๆ นี่เป็นวัฒนธรรมของคนอียิปต์ในเวลานั้น ที่เขาต้มเนื้อ หรือ กินดิบ เพื่อบูชายกย่องโอสิริส (Osiris) และเมื่อคนอิสราเอลอยู่ในอียิปต์ก็รับเอาวัฒนธรรมสิ่งนี้มา
ข้อ 9 เนื้อที่ยังดิบหรือเนื้อต้มอย่ากินเลย แต่จงปิ้งทั้งหัวและขา และเครื่องในด้วย
แต่พระเจ้าเปลี่ยนให้เขาทำวิธีการใหม่ คือปิ้งแทน การปิ้งหรือ เอาสัตว์ไปย่างบนไฟ สะท้อนการมอบถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า
สิ่งที่นำมาย่างหรือปิ้งนั้นไม่เพียงอวัยวะภายนอก แต่เป็นอวัยวะภายในด้วยที่ต้องมอบถวายแด่พระเจ้า
พระเจ้าให้เขากินอาหารที่ย่างนั้นให้หมด ถ้าไม่หมดให้เผาทิ้ง ทั้งนี้เป็นสัญลักษณ์ของการพร้อมไปข้างหน้า ไม่ต้องมาหลงเหลือความกังวลเรื่องใดอีก แต่พร้อมที่จะไปกับพระเจ้า และการมอบถวายให้พระองค์หมดสิ้นแล้ว
ในพิธีนี้มีการกินเนื้อแกะปิ้ง ขนมปังไร้เชื้อ และผักขม
การกินผักขม สะท้อน ความปรารถนาที่จะลืมความขมขื่นในอียิปต์เพื่อจะไปรับสิ่งใหม่ในพระองค์ คือ เวลาแห่งเสรีภาพ แทนและการกินขนมปังไร้เชื้อเล็งถึงการชำระ การมีชีวิตที่บริสุทธิ์ พร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่กับพระองค์
ดังนั้นในปัสกาปีนี้ เราจึงเข้ามาด้วยการอธิษฐานเผื่อชำระชีวิตให้บริสุทธิ์ ละทิ้งสิ่งเดิมๆที่ไม่ได้
พระเจ้าจะนำเราเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ในสิ่งที่เราจะได้เห็นด้วยมิติที่เกินความเข้าใจของเรา เราพร้อมหรือยังที่จะก้าวไป
อิสยาห์ 48:7 เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ ไม่ใช่นานแล้ว ก่อนวันนี้เจ้าไม่เคยได้ยินถึง เกรงเจ้าจะพูดว่า 'ดูเถิด เรารู้แล้ว'
2. เตรียมพร้อมก้าวไปไม่เหมือนเดิม (อพย.12:3,11)
ข้อ 3 จงสั่งชุมนุมคนอิสราเอลว่า ในวันที่สิบเดือนนี้ ให้ผู้ชายทุกคนเตรียมลูกแกะ ครอบครัวละตัว ตามตระกูลของตน
ข้อ 11 เจ้าทั้งหลายจงเลี้ยงกันดังนี้ คือให้คาดเอว สวมรองเท้า และถือไม้เท้าไว้ และรีบกินโดยเร็ว การเลี้ยงนี้เป็นปัสกา ของพระเจ้า
ตั้งแต่ข้อ 3 -11 เราเห็นการเตรียมพร้อมของคนอิสราเอลที่จะออกจากอียิปต์ถ้าไม่เตรียมพร้อมจะพลาดการนำ หรือ การเคลื่อนทัพของพระเจ้า เพราะพระเจ้ามีเวลา และกำหนดของพระองค์ คนที่พร้อมเท่านั้นถึงจะร่วมในทัพนี้ได้
เป็นการเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อจะพบเจอสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน เมื่อพระเจ้าเรียกให้เราเคลื่อนไปกับพระองค์ เราได้เตรียมพร้อมชีวิตของเราหรือยัง และเตรียมอย่างไรบ้าง
เราเห็นได้จากพระธรรมตอนนี้คือ
  1. เตรียมเฟ้นหาลูกแกะ หรือลูกแพะอย่างดี ตัวที่ปราศจากตำหนิ และมีอายุไม่เกินหนึ่งขวบ
  2. เตรียมการคำนวณว่ากินหมดหรือไม่ ต้องเชิญเพื่อนบ้านอีกกี่คนมาร่วมกินด้วย
  3. เตรียมขนมปังไร้เชื้อ เตรียมบ้านเรือนให้สะอาดสะอ้าน เตรียมอาหาร
  4. เตรียมพร้อมที่จะคาดเอว เตรียมเสื้อผ้า รองเท้า ไม้เท้า พร้อมออกเดินทาง
เหตุใดจึงต้องเตรียมพร้อม ? นั่นคือ ถ้าไม่เตรียมพร้อมจะพลาดการนำ หรือ การเคลื่อนทัพของพระเจ้า เพราะพระเจ้ามีเวลา และกำหนดของพระองค์ คนที่พร้อมเท่านั้นถึงจะร่วมในทัพนี้ได้
เป็นการเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อจะพบเจอสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน
ในปัสกาปีนี้ เราสามารถที่จะเชิญเพื่อนของเรามารับประทานอาหาร รับพิธีมหาสนิทซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงปัสกาในฝ่ายวิญญาณร่วมกัน ด้วยใจที่โมทนาขอบพระคุณพระเจ้าที่ทรงไถ่เรา
การกินขนมปังไร้เชื้อ สะท้อนการเตรียมพร้อมที่จะเป็นชนชาติบริสุทธิ์ เป็นชนชาติแท้ของพระเจ้า
อิสราเอลต้องมีชีวิตที่บริสุทธิ์ จะเป็นเหมือนเดิมที่ยุ่งเกี่ยวกับพระต่างชาติไม่ได้แล้ว เตรียมพร้อมชีวิตให้บริสุทธิ์ สมกับการเป็นชนชาติของพระเจ้าผู้บริสุทธิ์
ในพระธรรมอพยพ 12:15-20 พระเจ้าทรงให้อิสราเอล กินขนมปังไร้เชื้อเป็นเวลา 7 วัน โดยเริ่มจากเย็นวันที่ 14 ของเดือนแรก ไปจนกระทั่งเย็นวันที่ 21 ของเดือนดังกล่าว จะต้องปัดกวาดบ้าน ให้ปราศจากเชื้อใดใด
หากคนใดคนหนึ่งเฉยเมย ไม่เตรียมพร้อม ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร ต้องเตรียมอะไร
ผลที่ได้รับ คือ เขาไม่คู่ควรที่จะเป็นชนชาติของพระองค์
ดังที่พระวจนะกล่าวว่า หากผู้ใดรับประทานขนมปังที่มีเชื้อในช่วงเวลาดังกล่าว จะถูกอัปเปหิออกจากชุมชน
ปัสกาเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ และบริสุทธิ์ และคนที่ไม่ได้รับการชำระตน จะไม่มีสิทธิในพิธีนี้ แม้แต่ของทุกอย่างที่เข้าสู่พิธีนี้ ก็จะมีการเตรียมเป็นพิเศษ
ดังนั้น การจะเข้าร่วมพิธีมหาสนิทก็เช่นเดียวกัน เราจะต้องมีการเตรียมตัว เตรียมชีวิตของเราให้พร้อมก่อนที่จะเข้าร่วมสู่พิธีศักดิ์สิทธิ์นี้ โดยก่อนที่จะเข้าพิธีนี้ควรจะมีการเตรียมตัว มีการสารภาพบาป เพื่อรับการชำระให้บริสุทธิ์ก่อนที่จะเข้าสู่พิธีนี้ เพื่อที่จะไม่ต้องรับพระอาชญาจากการเข้าสู่พิธีมหาสนิทอย่างไม่สมควร (1 คร.11:27-32)
เมื่อพระเจ้าเรียกให้เราเคลื่อนไปกับพระองค์ เราได้เตรียมพร้อมชีวิตของเราหรือยัง และเตรียมอย่างไรบ้าง
หากเรายังไม่ได้เตรียมเลย ถึงเวลาที่ต้องลุกขึ้นเตรียมแล้ว เพราะพระเจ้าเริ่ม Start การเคลื่อนไหวในงานของพระองค์ในมิติใหม่แล้ว
เริ่มต้นดีก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว!
3. เชื่อฟังการทรงนำก้าวไปไกลกว่าเดิม (อพย.12:7)
ข้อ 7 แล้วเอาเลือดทาที่ไม้วงกบประตูทั้งสองข้าง และไม้ข้างบนณเรือนที่เขาเลี้ยงกันนั้นด้วย

พระวจนะบอกว่า เมื่อเตรียมแกะที่มีคุณสมบัติพร้อมแ
ล้ว เมื่อถึงเวลากำหนดนั้นให้ฆ่าแกะ แล้วเอาเลือดมาป้ายที่วงกบประตูทั้งสองข้าง
ถ้าทำดังนี้แล้ว ทูตแห่งความมรณะ ก็จะข้ามผ่านบ้านนั้นไป
พระวจนะบอกว่า เมื่อเตรียมแกะที่มีคุณสมบัติพร้อมแล้ว เมื่อถึงเวลากำหนดนั้นให้ฆ่าแกะ แล้วเอาเลือดมาป้ายที่วงกบประตูทั้งสองข้าง ถ้าทำดังนี้แล้ว ทูตแห่งความมรณะ ก็จะข้ามผ่านบ้านนั้นไป (อพย.12:12-13,21-28) นี่เป็นคำสั่งของพระเจ้าที่เรียกร้องให้เกิดการเชื่อฟัง ปฏิบัติตาม ถ้าเชื่อฟังก็จะรอด ถ้าเชื่อฟังก็จะปลอดภัย
จากเหตุการณ์ในสมัยโมเสส คืนที่พระเจ้าจะทรงประหารบุตรหัวปีของชาวอียิปต์นั้น พระเจ้าได้ทรงประทานพิธีปัสกาให้แก่ชาวอิสราเอล ซึ่งถ้าชาวอิสราเอลกระทำตาม พระองค์ก็จะทรงเว้นจากชีวิตของบุตรหัวปีของบ้านนั้นไป เป็นการช่วยชีวิตแก่บุตรหัวปีชาวอิสราเอล
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับพิธีมหาสนิทนั้น เป็นพิธีที่พระเยซูคริสต์ทรงสถาปนาขึ้น เพื่อเป็นเครื่องหมายที่บ่งถึงการเว้นจากพระอาชญา เราจึงมีพระเยซูเป็นผู้นำทรงไปสู่แผนการความรอดของพระเจ้า เราจึงก้าวไปไม่ใช่กำลังของเราแต่ด้วยใจที่เชื่อฟังและพึ่งพาพระคุณพระเจ้า
ฮีบรู 12:1-2 1 ก็ขอให้เราละทิ้งทุกอย่างที่ถ่วงอยู่ และบาปที่เกาะแน่น ขอให้เราวิ่งแข่งด้วยความเพียรพยายาม 2 หมายเอาพระเยซูเป็นผู้บุกเบิกความเชื่อ และผู้ทรงทำให้ความเชื่อของเราสมบูรณ์ พระองค์ได้ทรงอดทนต่อกางเขน เพื่อความรื่นเริงยินดีที่ได้เตรียมไว้สำหรับพระองค์ ... 
เพราะพระเจ้าของท่านยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใด ๆ จงมั่นคงในพระเจ้า และท่านจะมีชัยชนะในที่สุด 

“พระเจ้าไม่ได้นำเราออกจากจุดริ่มต้นเท่านั้น แต่ทรงนำเราตลอดเส้นทางสู่เส้นชัย” 


07 เมษายน 2554

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทศกาลปัสกาและอีสเตอร์

(สรุปความจากบทความเรื่อง Why passover? ทำไมต้องมีเทศกาลปัสกา เขียนโดย Dr.Chuck D. Pierce และ Dr.Robert Heidler :Glory of Zion International Ministries แปลภาษาไทยโดย อ.วรรณา ไพบูลย์เกษมสุทธิ)

มีหลายคนที่ได้ถามคำถามนี้ ทำไมต้องมีเทศกาลปัสกาด้วย ในหนังสือ อพยพ 12:13-14

13แต่เลือดที่บ้านที่เจ้าทั้งหลายอยู่นั้น จะเป็นหมายสำคัญสำหรับเจ้า เมื่อเราเห็นเลือดนั้น เราจะผ่านเว้นเจ้าทั้งหลายไป จะไม่มีภัยพิบัติบังเกิดแก่เจ้า ขณะที่เราประหารชาว อียิปต์

14“วันนี้จะเป็นวันที่ระลึกสำหรับเจ้า ให้เจ้าทั้งหลายถือไว้เป็นเทศกาลแด่พระเจ้า ชั่วชาติพันธุ์ของเจ้า เจ้าจงฉลองเทศกาลนี้และถือเป็นกฎถาวร

เมื่อการเฉลิมฉลองเทศกาลปัสกาใกล้เข้ามา เราต้องระลึกไว้ว่าเทศกาลนี้เป็นการเฉลิมฉลองที่ออกแบบโดยพระเจ้า พระเจ้าทรงประทาน เทศกาลนี้ และ งานฉลองนี้ไว้เพื่อเพิ่มพูนความเชื่อของเรา เพื่อเตรียมเราให้เข้าสู่พระพรอันบริบูรณ์ของพระองค์ ในพระคัมภีร์เดิมพระเจ้าสั่งให้คนยิวถือเทศกาลปัสกาเพื่อสอนให้เข้าใจเรื่องความสำคัญของการไถ่ด้วยโลหิต แต่สำหรับคริสเตียนในพระคัมภีร์ใหม่ ก็ให้จดจำและเข้าใจงานแห่งการไถ่ของพระเจ้า พระคัมภีร์บอกเราว่า ให้เจ้าทั้งหลายถือไว้เป็นเทศกาลแด่พระเจ้า ชั่วชาติพันธุ์ของเจ้า เจ้าจงฉลองเทศกาลนี้ ….ตลอดไป

คริสเตียนมากมายไม่ตระหนักว่าเทศกาลปัสกาในพระคัมภีร์เดิมก็มีคุณค่าเท่ากับเทศกาลต่างๆในพระคัมภีร์ใหม่เช่นกัน ตลอดทั้งพระคัมภีร์ใหม่ ที่พระเยซูและอัครทูตได้เฉลิมฉลองเทศกาลปัสกา อาหารมื้อสุดท้ายฉบับดั้งเดิมก็คืออาหารมื้อปัสกานั่นเอง อัครทูตได้สอนคริสตจักรต่างชาติให้เฉลิมฉลองเทศกาลปัสกา ใน 1 โครินธ์ อาจาย์เปาโลได้เขียนถึงคริสตจักรที่ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ พระคริสต์ผู้ทรงเป็นแกะปัสกาของพระเจ้า ได้ถูกปลงพระชนม์ ดั้งนั้นให้เราเฉลิมฉลองเทศกาลนี้ หลายร้อยปีมาแล้ว ที่การเฉลิมฉลองเทศกาลปัสกาเป็นการเฉลิมฉลองที่สำคัญในรอบปีของคริสจักรยุคแรกๆ

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เทศกาลปัสกามีความสำคัญมาก

อ.เดริก ปรินซ์ (Derek Prince) เคยกล่าวไว้ว่า การประกาศของความเชื่อที่ทรงพลานุภาพเพื่อการปลดปล่อยคือ ฉันได้รับการไถ่ด้วยพระโลหิตของพระเมษโปดก ได้รับการปลดปล่อยจากมือของศัตรู

ท่านได้กล่าวว่า ถ้าคุณสามารถประกาศด้วยความเชื่อและประกาศต่อไปเรื่อยๆ บางสิ่งบางอย่างจะเกิดขึ้น คุณจะได้รับการปลดปล่อยจากอำนาจของศัตรู นั่นคือสาระของเทศกาลปัสกา การเฉลิมฉลองเทศกาลปัสกาคือการประกาศความเชื่อว่าเราได้รับการไถ่ด้วยพระ โลหิตของพระเมษโปดก เมื่อเราเฉลิมฉลองปัสกาก็มีผลต่อชีวิตภายในเรา เมื่อเรามาร่วมกันระลึกถึงงานไถ่ที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า เราประกาศอำนาจของการไถ่ในชีวิตของเราวันนี้ก็จะส่งผลบางสิ่งบางอย่างต่อเรา ด้วยเช่นกัน

เทศกาลปัสกานั้นสำคัญสำหรับพระเจ้า แต่ซาตานเกลียดเทศกาลนี้ ศัตรูได้ทำงานอย่างขมีขมันที่จะขโมยเทศกาลปัสกาไป ข่าวดีก็คือว่าพระเจ้ากำลังรื้อฟื้นเทศกาลปัสกา และนี่คือสงคราม สงครามเพื่อปัสกาคือสงครามเพื่อเลือด ซาตานต้องการหยิบยื่นศาสนาที่ปราศจากโลหิตแก่เรา เพราะศาสนาที่ไม่มีโลหิตนั้นไม่มีฤทธ์อำนาจ ฤทธ์อำนาจอยู่ในพระโลหิต

การสงครามเพื่อเทศกาลปัสกาเกิดขึ้นบ่อยๆ เราจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์คริสตจักร ในศตวรรษที่4 เมื่อจักรพรรดิ์คอนสแตนตินได้พยายามผสมผสานศาสนาคริสเตียนกับศาสนาต่างชาติ หลายคนอาจจะชอบความคิดนี้ พระองค์ทรงทำให้ศาสนาคริสเตียนนั้นถูกต้องตามกฎหมาย คุณสามารถไปคริสตจักรได้โดยไม่ต้องกลัวถูกโยนให้สิงโตกิน และจักรพรรดิ์คอนสแตนตินก็ไม่ถือสาถ้าคริสเตียนจะเฉลิมฉลองการฟื้นคืนพระชนม์ ของพระเยซู

แต่พระองค์ทรงติดใจกับเรื่องเทศกาลปัสกา พระองค์ประสงค์ให้คริสเตียนไม่เฉลิมฉลองการฟื้นคืนพระชนม์ในช่วงเวลาของเทศ กาลปัสกา ที่สภาไนเซีย (คศ 325 ) พระองค์ประกาศว่า การอนุรักษ์การเฉลิมฉลองเทศกาลปัสกาต้องได้รับการแก้ไข
และที่สภาไนเซีย นี้เอง พระองค์ ได้ทำให้เทศกาลปัสกาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และนำให้คนเฉลิมฉลองการตายและการฟื้นพระชนม์ ใน วันอาทิตย์หลังจากวันพระจันทร์เต็มดวงหลังจากวันที่กลางวันและกลางคืนยาว เท่ากันในฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นเวลาที่เชื่อมโยงกับการเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิของพระต่างด้าว เจ้าแม่ อิสตาร์ หรือ เป็นที่รู้จักว่า อีสเตอร์ เจ้าแม่แห่งการเจริญพันธุ์ (นี่คือสาเหตุที่คริสตจักรทุกวันนี้เฉลิมฉลองเทศกาลอีสเตอร์แทนเทศกาลปัสกา )

พระประสงค์ของกษัตริย์คอนแสตนตินคือเอาพระเยซูออกไปจากบริบทของเทศกาลปัสกา

สงครามยังคงดำเนินต่อไป หลายคริสตจักรต่อต้านคำปฤฎีกาของกษัตริย์คอนแสตนติน ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไปหลายทศวรรษแล้วก็ตาม สงครามเรื่องเทสกาลปัสกาก็คงดำเนินต่อไปหลังจากสมัยของจักรพรรดิ์คอนสแตนติน

เช่น ในศตวรรษที่ 6 จักรพรรดิจัสติเนียนส่งทหารโรมันออกไปทั่งอาณาจักรเพื่อห้ามการเฉลิมฉลองเทศ กาลปัสกา เพื่อจะลบคำสอนที่ ผิดเกี่ยวกับปัสกาส่งผลให้ ผู้ชาย ผู้หญิง และ เด็กๆ นับพันๆคนถูกฆ่าอย่างโหดร้าย เมืองทั้งเมืองถูกสังหารหมู่ เพราะปฎิเสธิที่จะหยุดฉลองเทศกาลปัสกา (สงครามเพื่อปัสกานำมาซึ่งการสูญเสียมากมาย) ความกดดันจากรัฐบาล คริสตจักรโรมันในการลบล้างเทศกาลปัสกาให้หมดไป ให้สังเกตว่ามีหลักข้อเชื่อบางข้อที่ต่อต้านปัสกาในสภาของคริสตจักรต่างๆ


การกล่าว คำแช่งสาป

สภาแอนติโอก(คศ 345) ถ้าบิชช๊อบ ผู้ปกครอง หรือมัคคนายกคนใด กล้าเฉลิมฉลองเทศกาลปัสกา หลังการประกาศนี้ให้สภาตัดสินให้เป็นบุคคลที่ถูกแช่งสาบจากคริสตจักร สภานี้ไม่เพียงแต่ขับไล่เขาออกจากงานรับใช้ แต่จะขับไล่ทุกคนที่กล้าติดต่อสื่อสารกับเขาด้วย (คำว่า anathema หมายถึงแช่งสาป คริสตจักรจะแช่งสาปคริสเตียนที่เฉลิมฉลองเทศกาลปัสกา)

สภา เลาดีเซีย(คศ.365) “ ไม่อนุญาตให้รับการเฉลิมฉลองเทศกาลของชาวยิว
สภา แอกดี ประเทศฝรั่งเศล(
คศ.506) “ คริสเตียนไม่ควรมีส่วนในเทศกาลของชาวยิว

สภา เทเลโด (ศตวรรษที่7) การเฉลิมฉลองเทสกาลอีสเตอร์ต้องใช้ช่วงเวลาที่กำหนดไว้ในคำประกาศของไนเซีย

สงครามของเทศกาลปัสกาปรากฏชัดเจนในประวัติศาสตร์คริสตจักร สงครามต่อต้านเทศกาลปัสกาไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เราพบเห็นสิ่งเดียวกันนี้ในพระคัมภีร์ ซาตานพยายามขโมยเอาเทศกาลปัสกาไป เพราะมันรู้ว่าการเฉลิมฉลองพระโลหิตจะปลดปล่อยฤทธ์อำนาจ ให้มองดูว่าเกิดอะไรขึ้นในยุคสมัยของกษัตริย์เฮเซคียาห์

กษัตริย์เฮเซคียาห์ ทำในสิ่งที่ถูกต้องในสายตาของพระเจ้า เขาซ่อมแซมและชำระพระวิหาร ทำลายปูชณียสถานสูง รื้อฟื้นการถวายเครื่องบูชา และการนมัสการพระเจ้าแบบดาวิด แล้วเฮเซคียาห์ส่งราชสารออกไปทั่วอิสราเอลและยูเดีย เชิญเขามาฉลองเทศกาลปัสกา

พระราชสารของพระองค์ไปทั่วอิสราเอลและยูเดียประชาชนอิสราเอลกลับมาหาพระเจ้าพระหัตถ์ของพระเจ้าอยู่เหนือประชากรของพระองค์ ให้เขามีใจเดียวกันที่จะทำตามพระบัญชาของกษัตริย์ ประชาชนกลุ่มใหญ่มาร่วมประชุมกันที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อการเฉลิมฉลอง เขาได้ฆ่าลูกแกะปัสกา ฉลองเทศกาลอยู่ 7 วัน ด้วยความชื่นชมยินดียิ่งนัก ขณะที่คนเลวีร้องเพลง เล่นเครื่องดนตรี สรรเสริญ พระเจ้าทุกวัน แล้วที่ประชุมก็เห็นพ้องต้องกันที่จะเฉลิมฉลองเทศกาลอีก 7 วัน

ดังนั้นจึงมีการฉลองด้วยความรื่นเริงยินดีอีก 7 วัน มีความยินดีเป็นอันมากในกรุงเยรูซาเล็ม เพราะว่าตั้งแต่สมัยกษัตริย์โซโลมอนมาก็ไม่มีการเฉลิมฉลองแบบนี้ในกรุงเยรู ซาเลยเลย ปุโรหิตและคนเลวียืนอวยพรประชาชน และพระเจ้าทรงฟังเพราะว่าคำอธิษฐานของเขาถึงฟ้าสวรรค์ที่ประทับอันบริสุทธิ์ ของพระองค์ ( อ่านดูใน 2 พศด 29-30 และ บทต่อมา)

สิ่งเดียวกันนี้ก็เกิดในสมัยของกษัตริย์โยสิยาห์เช่นกัน โยสิยาห์ได้ทำสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรพระเจ้า ในรัชสมัยของพระองค์ ปี่ที่18 ขณะที่กำลังซ่อมแซมพระวิหาร เขาพบหนังสือม้วนในพระวิหาร เมื่อกษัตริย์ได้ยินคำเกี่ยวกับหนังสือม้วน พระองค์ได้ฉีกฉลองพระองค์ออก พระองค์เสด็จขึ้นไปที่พระวิหารพร้อมกับข้าราชบริพารของพระองค์ พระองค์ทรงอ่านถ้อยคำแห่งพันธสัญญาในหนังสือม้วนให้ประชาชนฟัง แล้วประชาชนก็สาบานต่อหนังสือม้วนนั้น กษัตริย์สั่งให้ประชาชนเอารูปเคารพ พระบาอัล รูปดวงดาวต่างๆที่กราบไห้ว ออกจากพระวิหาร พระองค์ทรงทำลายลานส่วนที่เป็นของโสเภณีชายที่อยู่ในพระวิหาร กษัตริย์ได้สั่งประชาชนทุกคนให้เฉลิมฉลองเทศกาลปัสกาแด่พระเจ้าผู้เป็นจอม เจ้านายของเจ้า ตามที่มีคำเขียนไว้ในหนังสือม้วนในปีที่ 18 ในรัชสมัยของกษัตริย์โยสิยาห์ เทศกาลปัสกาได้เฉลิมฉลองในกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่ง ไม่เหมือนสมัยของผู้วินิฉัยที่ได้นำประชาชนอิสราเอล หรือ ตลอดสมัยของกษัตริย์อิสราเอลและยูดาห์ ที่ได้มีการเฉลิมฉลองเทศกาลปัสกาแบบนี้ (ดูใน2 พกษ.22-23และ ต่อไป)

เราเห็นแบบแผนในพระคัมภีร์จากพระธรรมสองตอนนี้ที่คนของพระเจ้าได้เดินออกห่าง จากพระเจ้าสู่การไห้วรูปเคารพ พระพรของพระเจ้าก็หายไป แล้วเขาก็กลับมาหาพระเจ้าและแสวงหาพระองค์ และสิ่งแรกที่พระเจ้าทรงทำคือรื้อฟื้นเทศกาลปัสกา ขณะที่เขาหันจากการไหว้รูปเคารพของคนต่างชาติ กลับมาสู่การเฉลิมฉลองปัสกา เขาก็ได้รับการรื้อฟื้นกลับมาหาพระเจ้า มีประสพการณ์ที่เต็มไปด้วยความยินดีและพระพร ช่างเป็นแบบแผนที่น่าสนใจยิ่งนัก ครั้งแล้วครั้งเล่าในพระคัมภีร์เราพบว่าเทศกาลปัสกาได้สูญหายไป แม้แต่ในยุคสมัยของพระคัมภีร์เดิมและแม้แต่ท่ามกลางชาวยิว คนรุ่นหนึ่งมีชีวิตและตายไปโดยปราศจากการเฉลิมฉลองเทศกาลปัสกาเลย
ทำไมเทศกาลปัสกาได้สูญหายไป ก็เพราะว่าซาตานได้ขโมยมันไป ซาตานต้องการขโมยเทศกาลปัสกาไป

เมื่อคนรุ่นใหม่ได้กลับมาหาพระเจ้าและเริ่มที่จะอ่านพระคัมภีร์ เขาอ่านพบเทศกาลปัสกาเป็นครั้งแรก

เขารู้สึกประหลาดใจ กล่าวว่า เราไม่เคยทำมาก่อน” (นี่คือสิ่งที่เราพบในคริสตจักรทุกวันนี้ ) แต่เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์เคลื่อนในหัวใจของเขา เขาก็เฉลิมฉลองเทศกาลแห่งการไถ่ของพระเจ้า ฤทธานุภาพของพระเจ้า แล้วความชื่นชมยินดีก็ได้รับการรื้อฟื้นกลับมา

ตารางเวลาของเทศกาลปัสกา

สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นคือ ตารางเวลาของการตรึงพระเยซูกับการเฉลิมฉลองเทศกาลปัสกา ตามหนังสือโทรา ตามเวลาของเทศกาลปีสกาแล้วเหตุการณ์ต่างๆที่เฉพาะเจาะจงได้เกิดขึ้นในเวลา ที่เฉพาะเจาะจงด้วย

1. ในวันที่เจาะจง ลูกแกะปัสกาจะถูกเลือก หนังสือ อพยพบทที่ 12 ให้คำแนะนำว่า ลูกแกะปัสกาจะได้รับการเลือกในวันที่ 10 ของเดือนที่1 ในสมัยของพระเยซูลูกแกะจากเมืองเบ็ธเลเฮม ได้รับการคัดเลือกเป็นลูกแกะปัสกา ลูกแกะที่เกิดเมืองเบ็ธเลเฮมได้ถูกเลือกและนำมาที่กรุงเยรูซาเล็ม มาจากทางตะวันออก ( ลงมาทางภูเขามะกอกเทศ) เข้าไปในเมืองผ่านทางประตูแกะ ในวันที่ 10 ของเดือนแรก พระเยซูลูกแกะที่เกิดเมืองเบ็ธเลเฮ็มเสด็จลงมาที่ภูเขามะกอกเทศและเสด็จเข้า กรุงเยรูซาเล็มโดยผ่านทางประตูแกะ (เรียกว่า การเสด็จเข้าเมืองด้วยชัยชนะ )

ขณะที่พระองค์ได้เสด็จเข้าเมือง ประชาชนโบกกิ่งใบตาลและร้องตะโกนว่า ขอให้ผู้ที่เสด็จมาในนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงพระเจริญ บุตรดาวิด ของทรงช่วยเราให้รอด(Hosanna Baruch Haba B’shem Adonai) โดยการประกาศของมวลชน พระเยซูได้ถูกกำหนดเป็นพระเมสิยาห์ของอิสราเอล ฝูงชนได้เลือกแกะปัสกาสำหรับพวกเขาเอง

2. ลูกแกะจะถูกตรวจสอบ หนังสือโทราได้ให้คำแนะนำว่า เมื่อได้คัดเลือกลูกแกะแล้วจะต้องมีการตรวจสอบว่ามีตำหนิหรือไม่ ลูกแกะที่สมบูรณ์และไม่มีตำหนิด่างพร้อยเท่านั้นที่เหมาะสมสำหรับปัสกา เมื่อพระองค์มาถึงเยรูซาเล็มพระองค์เสด็จไปที่พระวิหารเพื่อที่จะสอน และที่นั่นเองที่พวกฟารีซาย ซาดูกาย พวกเฮโรเดียน และ ครูสอนธรรมบัญญัติมาหาพระองค์ แล้วแต่ละกลุ่มก็ตั้งคำถามที่ยากเพื่อวางกับดักพระองค์ ที่จริงแล้วพวกเขาคาดหวังที่จะจับผิดพระองค์ เพื่อเป็นข้ออ้างว่าพระองค์ไม่สมควรเป็นพระเมสิยาห์ แต่ก็ไม่มีใครจับผิดพระองค์ได้เพราะพระองค์ทรงปราศจากตำหนิ

3.เชื้อขนมปัง ( ความไม่บริสุทธิ์) ต้องถูกเอาออกไป หนังสือโทราให้คำแนะนำว่า ก่อนเทศกาลทุกต้องเอาเชื้อขนมออกไปจากบ้านเรือน บรรดาคุณแม่จะใช้เทียนส่องหาและเอาเชื้อขนมออกไปจากบ้านของเธอ กฎเกณฑ์นี้ยังคงรักษาไว้จนทุกวันนี้ เทศกาลปัสกาเป็นเวลาที่จะทำความสะอาดบ้านทุกหลัง ครอบครัวชาวยิวที่อนุรักษ์นิยมจะทำความสะอาดบ้านของเขาก่อนปัสกา ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความไม่บริสุทธิ์ต้องถูกเอาออกไปจากบ้าน เมื่อพระเยซูเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มพระองค์ไปที่พระวิหารและขับไล่คนแลก เงินออกไป พระองค์ทรงทำตามคำสอนในพระคัมภีร์ในการเตรียมปัสกาด้วยการชำระพระนิเวศน์ของ พระบิดาของพระองค์

4.ลูกแกะถูกนำไปที่แท่นบูชาในที่สาธารณะ เช้าวันที่ 14 ของดือนแรก เมื่อทุกอย่างถูกเตรียมให้พร้อมแล้ว ลูกแกะถูกวางบนแท่นบูชา เวลา 9 โมงเช้า ลูกแกะจะถูกมัดบนแท่นบูชาซึ่งเป็นที่ที่ทุกคนจะเห็น ในเช้าวันที่ 14 ของเดือนแรกเมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วพระเยซูทรงถูกนำไปที่ไม้กางเขน เวลา 9 โมงเช้าวันนั้น เหมือนอย่างที่ลูกแกะถูกมัดบนแท่นบูชา พระเยซูก็ถูกตรึงบนไม้กางเขนต่อหน้าสาธารณชน

5.ลูกแกะถูกประหาร ณ เวลาที่กำหนดอย่างเจาะจง เวลาบ่ายสามโมงมหาปุโรหิตเสด็จไปที่แท่นบูชา ขณะที่ปุโรหิตอีกคนหนึ่งได้เป่าโชวฟาร์ที่บนกำแพงพระวิหาร มหาปุโรหิตได้เชือดคอลูกแกะปัสกา ประกาศว่า สำเร็จแล้วตอนบ่ายสามโมง วันอันบริสุทธิ์นั้น ณ จังหวะที่ลูกแกะปัสกาถูกฆ่า พระองค์ทรงร้องเสียงดังว่าสำเร็จแล้วและ ก้มพระเศียรลงสิ้นพระชนม์ ในภาษากรีก คำว่า สำเร็จแล้ว “( เทเลลิสเทีย) หมายถึง ได้ชำระหนี้ครบแล้ว

การเฉลิมฉลองเทศกาลของพระเยซู

คุณเห็นแล้วใช่หรือไม่ว่า วิธีการที่พระเจ้า สร้างความเชื่อมโยงพระเยซูกับเทศกาลปัสกาเข้าด้วยกันเป็นอย่างไร ไม่ใช่เรื่องประหลาดใจเลยที่ยอนห์ได้กล่าวว่า ดูเถิด พระเมษโปดกของพระเจ้าและ ไม่น่าประหลาดใจเลยที่อาจารย์เปาโลเขียนว่า ลูกแกะปัสกาที่ถูกประหารความหมายของเทศกาลปัสกานั้นเกี่ยวกับพระเยซูทั้งสิ้น แล้วคุณเห็นแล้วใช่ไหมว่าเทศกาลปัสกานั้นเกี่ยวกับพระเยซูทั้งสิ้น
พระองค์ ทรงเสด็จมาเป็นพระเมษโปดก (ลูกแกะของพระเจ้า) เพื่อไถ่บาปเราและประทานชีวิตนิรันดร์ให้กับเรา

ปัสกาคือการ เฉลิมฉลอง พระเยซูยิ่งคุณเข้าใจความหมายของเทศกาลปัสกามากเท่าไร คุณก็ยิ่งซาบซึ้งในพระเยซูมากเท่านั้น ถ้าคุณไม่เข้าใจเทศกาลปัสกา คุณก็ยากที่จะเข้าใจว่าพระเยซูได้ทรงทำอะไร ขณะที่คุณเฉลิมฉลองเทศกาลปัสกา คุณกำลังประกาศถึงความเชื่อในฤทธิ์อำนาจในพระโลหิตและการไถ่ของพระองค์

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ประหลาดที่สุดในโลกที่ยอมรับคำหลอกลวงของซาตานว่าเทศกาลปัสกาไม่ใช่ของคริสเตียน ซาตานพยายามขโมยเทศกาลปัสกาไป เพราะมันรู้ว่าการเฉลิมฉลองพระโลหิตจะปลดปล่อยฤทธิ์อำนาจ เมื่อการเฉลิมฉลองเทศกาลปัสกาถูกเอาออกไป ฤทธิ์อำนาจก็หมดไป แต่เมื่อเทศกาลปัสกาได้รับการรื้อฟื้น ฤทธิ์อำนาจก็กลับมา


ประวัติอีสเตอร์ (Easter) (ข้อมูลจากเครือคริสตจักรคาทอลิกแห่งประเทศไทย)

อีสเตอร์ คือ เทศกาลฉลองวันพระคริสต์คืนพระชนม์ (Easter Season) หรือ การสมโภชปัสกา (Passover)

วันคืนพระชนม์ขององค์พระเยซูคริสต์เป็นเทศกาลสำคัญที่สุดในปฏิทินของพระศาสนจักร และเป็นหัวใจแห่งความเชื่อศรัทธาของคริสตชนทั้งปวง หากปราศจากวันพระคริสต์คืนพระชนม์นี้ การเป็นผู้ติดตามพระเยซูคริสต์จะไม่มีความหมายใดๆ เลย

เทศกาลพระคริสต์คืนพระชนม์จะใช้เวลา 6 สัปดาห์โดยเริ่มตั้งแต่เช้าวันอาทิตย์ที่ทรงเป็นขึ้นมาจากความตาย กระทั่งถึงวันที่พระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จมาเพื่อคริสตจักร

การนับวันอีสเตอร์ตามปฏิทินเทศกาลของคริสตจักรสากล (The Universal Christian Year)

ปฏิทินในรอบปีของเทศกาลต่างๆ ที่คริสตจักรสากลถือปฏิบัติร่วมกัน ทั้งพระศาสนจักรของโรมันคาทอลิกและคริสตจักรของโปรเตสแตนต์ ต่างยึดเอาวันคืนพระชนม์ (Easter)
เป็นหลักซึ่งในแต่ละปีวันคืนพระชนม์จะไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะตรงกับวันไหน
เพราะขึ้นอยู่กับการนับวันตามจันทรคติ คือถือเอาวันอาทิตย์แรกหลังวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 เป็นวันคืนพระชนม์ โดยปกติแล้วมักจะอยู่หลังวันที่ 21 ของเดือนมีนาคม

ส่วนคริสตจักรของพวกกรีกออธอร์ดอกซ์จะกำหนดวันคืนพระชนม์โดยขึ้นอยู่กับเทศกาลปัสกาของพวกยิว

สีที่ใช้ประจำเทศกาลนี้คือ สีขาว

ข้อพระคัมภีร์สำหรับเทศกาลนี้คือ หมวดจดหมายฝากของอัครทูตเปาโล ที่ได้กล่าวถึงการเป็นขึ้นมาจากความตาย เช่น พระธรรม 1 โครินธ์ บทที่ 1-2 และบทที่ 15 พระธรรมเธสะโลนิกาทั้งฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 รวมไปถึงการอ่านจากพระธรรมอพยพ พระธรรมฮีบรู และพระธรรมอิสยาห์ บทที่ 40-56

ประวัติและพัฒนาการของเทศกาลวันอีสเตอร์

วันอีสเตอร์ ซึ่งเป็นวันระลึกถึงวันเป็นขึ้นมาจากความตายขององค์พระเยซูคริสต์ ตรงกับวันอาทิตย์ คำว่า "อีสเตอร์" ที่นำมาใช้สำหรับการฉลองนั้นมาจากคำว่า "EOSTRE" ซึ่ง เป็นชื่อของเทพเจ้าแห่งฤดูใบไม้ผลิตของพวกทูโทนิค เป็นเทพเจ้าแห่งการฟื้นคืนชีพ เพราะก่อนถึงฤดูนี้ ต้นไม้ ใบหญ้า ดอกร่วงหล่นเหลือแต่ซาก พอถึงฤดูใบไม้ผลิมันจะกลับผลิดอกออกใบมีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นฤดูใบไม้ผลิ จึงถูกนำมาเปรียบกับการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูด้วย จึงเรียกวันนี้ว่า "อีสเตอร์"

สมัยก่อน พระศาสนจักรจัดฉลองวันอีสเตอร์ในวันอาทิตย์ที่ไม่ตรงกัน จนถึงปี ค.ศ.325 สภา ไนเซียหรือสภาผู้นำชาวคริสต์ทั่วโลกได้ประชุม และมีมติให้กำหนดแน่นอน ให้คริสตชนทั่วโลกฉลองเทศกาลอีสเตอร์ให้ตรงกัน โดยกำหนดวันอีสเตอร์คำนวนตามระบบจันทรคติ ทั้งนี้เนื่องจากต้องการให้การฉลองวันที่พระเยซูเป็นขึ้นมาจากความตาย ตรงกับเหตุการณ์ในครั้งแรกจริงๆ

การฉลองวันอีสเตอร์ โดยทั่วไปจะเริ่มตั้งแต่เช้ามืดของวันอาทิตย์ คริสตชนจะไปรวมตัวกันที่โบสถ์ หรือที่สุสาน หรือในทุ่งกว้าง หรือตามป่าเขา ร้องเพลงนมัสการพระเจ้าตั้งแต่ยังมืดอยู่ พอดวงอาทิตย์ค่อยๆ โผล่ขึ้นจากขอบฟ้า เสียงเพลง "เป็นขึ้นแล้ว" ก็จะดังกระหึ่มขึ้น เขาจะร้องเพลงอธิษฐานโมทนาพระคุณพระเจ้า และสรรเสริญพระองค์ที่ทรงเป็นพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ได้มีชัยชนะเหนือความตาย และทรงพระชนม์อยู่เป็นนิตย์

หลัง จากนั้นก็ บรรยายถึงการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูคริสต์ หนุนใจให้คริสตชนดำเนินชีวิตอย่างมีชัย เหนือความบาป และความตาย ยืนหยัดอยู่ในความเชื่อศรัทธาที่มีต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า จากนั้นส่วนใหญ่ก็จะรับประทานอาหารเช้าร่วมกัน เสร็จแล้วบางแห่งก็จะมีการเล่นเกมสนุกๆ หลายๆแห่งนิยมเอาไข่มาระบายสีต่างๆ ให้ดูสวยงาม และนำไปซ่อนให้เด็กๆ หรือหนุ่มสาวค้นหาอย่างสนุกสนาน

พัฒนาการของเทศกาลอีสเตอร์

แม้ว่าคำว่าอีสเตอร์ไม่ได้ปรากฏในพระคัมภีร์ แต่ถูกนำมาใช้เรียกเทศกาลเฉลิมฉลองการที่พระเยซูคริสต์ทรงเป็นขึ้นจากความตายนามอีสเตอร์นี้ได้มาจากชื่อของเทพธิดาหรือพระแม่เจ้าแห่งฤดูใบไม้ผลิ ของพวกแองโกลแซงซอนที่นามว่า “Eastre” ซึ่งคำนี้เข้าใจกันว่ามาจากภาษาเยอรมันโบราณ คือ Eostarun แปลว่ารุ่งอรุณและเข้าใจว่าการฉลองการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์เกี่ยวกับฤดูใบไม้ผลินั่น เหมาะสมเพราะ...

1. วันอีสเตอร์อยู่ในฤดูใบไม้ผลิ (ระหว่างเดือนมีนาคม และเมษายน )
2. ฤดูใบไม้ผลิเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตใหม่ ต้นไม้ใบไม้ที่ดูเหมือนตายในฤดูหนาว
กลับผลิใบออกดอกดุจเกิดใหม่ ดังนั้นจึงเป็นภาพที่เหมาะสมที่จะพรรณาถึงการ
กลับเป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์

อย่างไรก็ตามตัวเทศกาลนี้ได้พัฒนามาจากเทศกาล ปัสกา” (Passover) ของยิว ซึ่งในภาษาฮีบรูนั้นคือ Pesah ส่วนกรีกคือ Pascha เมื่อ กลับไปที่พระคัมภีร์ใหม่เหตุการณ์ต่างๆช่วงสุดท้ายในพระชนม์ชีพของพระ เยซูคริสต์ อยู่ในช่วงเทศกาลปัสกาดั้งเดิม วันอีสเตอร์ได้ถือปฏิบัติกันในวันปัสกา เป็นวันที่ 14 เดือนนิสาน เดือนนิสาน (Nisan) คือเดือนแรกของปีของชาวยิว (ซึ่งคล้ายกับเดือนมกราคมของสากล) เดิมมีชื่อว่า อาบีบ (Abib) ตรงกับช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนในสมัยปัจจุบัน

และวันปัสกานั้นตรงกับวันที่ 14 เดือนนิสาน (ดูอพยพ 12:18; เลวีนิติ 23.5; อิสยาห์ 3.7; เนหะมีย์ 2.1) จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 2 คริสตชนบางกลุ่มเริ่มเฉลิมฉลองวันอีสเตอร์ในวันอาทิตย์ หลังจากวันที่ 14 เดือน นิสาน โดยถือเอาว่าวันศุกร์ก่อนวันอาทิตย์นั้นคือวันที่พระเยซูคริสตืเจ้าถูกตรึง ที่ไม้กางเขนจนสิ้นพระชนม์ ผลสุดท้ายก็เกิดการโต้เถียงในเรื่องวันที่ถูกต้องในการฉลองเทศกาลอีสเตอร์

จนกระทั่งในปี ค.ศ.197 วิคเตอร์แห่งโรม ได้บีบคริสตชนที่ยืนยันการเฉลิมฉลองอีสเตอร์ในวันที่ 14 เดือนนิสาน ไปจากหมู่คณะ แต่การถกเถียงยังคงดำเนินอยู่ต่อไป จนกระทั่งมาถึงต้นศตวรรษ ที่ 4 “จักรพรรดิคอนสแตนตินทรงบัญชาให้ฉลองวันอีสเตอร์เป็นวันอาทิตย์หลังวันที่ 14 เดือนนิสาน แทนการเฉลิมฉลองวันที่ 14 เดือนนิสาน เหมือนที่เคยปฏิบัติกันมา

โดยเหตุนี้ วันอีสเตอร์จึงได้รับการเฉลิมฉลองในวันอาทิตย์แรก หลังจากวันเพ็ญแรกที่ตามหลัง วสันวิษุสวัต” (Vernal Equinox) ซึ่งเป็นวันที่เวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน ตรงกับวันที่ 21 มีนาคม พูดกันง่ายๆคือจากวันนั้น ถึงวันนี้ วันอีสเตอร์จะต้องหลังจากวันที่ 21 มีนาคม ของทุกๆปี

จึงสรุปได้ดังนี้เมื่อเริ่มแรกนั้น วันอีสเตอร์เป็นงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง ความสอดคล้องของเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงนำชาวอิสราเอลให้อพยพรอดออกมาจาก อียิปต์ในวัน ปัสกาและเหตุการณ์ที่พระเยซูคริสต์ทรงไถ่ ผู้ศรัทธาในพระองค์ให้รอดจากความบาป

จนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 4 อีสเตอร์จึงแยกออกมาและประกาศอย่างชัดเจนว่า เป็นการเฉลิมฉลองเพื่อระลึกถึง การเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูคริสต์หลัง จากที่พระองค์ถูกตรึงบนไม้กางเขนเพื่อไถ่บาปของมนุษย์ และการฉลองนี้จะอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่เคยเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิ ของชาวยุโรป
สรุปหลักการจากบทความ (ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน)

  1. การนับวันที่คาดเคลื่อนระหว่างเทศกาลอีสเตอร์และปัสกา แต่จักรพรรดิ์คอนสแตนติน พยายามทำให้มันเกี่ยวข้องกัน โดยมีแรงจูงใจไม่ให้คนยิวฉลองเทศกาลปัสกาและให้เป็นการฉลองวันอิสเตอร์แทน และพยายามทำให้ตรงกับวันอาทิตย์ เพื่อจะสนับความเชื่อของตนในเรื่องการนมัสการในวันอาทิตย์ ในสมัยเดิมคนยิวนมัสการในวันเสาร์ (ประเด็นนี้วันสะบาโต จะเป็นวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ก็ไม่สำคัญเท่าต้องมี 1 วันเพื่อพักสงบมาแสวงหาพระเจ้าเพื่อนมัสการ)
  2. การใช้วันอีสเตอร์มาแทนที่เทศกาลปัสกา เป็นการยอมรับเทพเจ้าแบบพวกโรมัน คือ เทพธิดาหรือพระแม่เจ้าแห่งฤดูใบไม้ผลิ (แนวความคิดนี้ จักรวรรดิโรมันก็นำวันที่ 25 ธันวาคม ที่ใช้นมัสการเทพเจ้ามาเพื่อให้เป็นวันประสูติของพระเยซูคริสต์ หรือวันคริสต์มาส แท้ทริงแล้วหาศึกษาและนับตามปฎิทินยิวจริงๆ พระเยซูน่าจะประสูติในช่วงเทศกาลอยู่เพิง) ทำให้ส่งผลคือจดจ่อกับประเพณีนิยม เช่นเล่นเกมตามหาไข่ที่เป็นสัญลักษณ์วันอีสเตอร์ หรือระบายสีเปลือกไข่ มากกว่าความหมายแท้จริงของเทศกาลปัสกา
  3. เทศกาลปัสกามีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็น 1 ใน 3 ของเทศกาลหลักที่พระเจ้าทรงบัญชาให้คนยิวถือเพื่อเฉลิมฉลองและเป็นการระลึกถึงการไถ่จากการเป็นทาสในอียิปต์

แนวทางภาคประยุกต์ในปัจจุบัน

  1. ในแต่ละคริสตจักร ควรจะมีการสอนบทเรียนเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทศกาลปัสกาและอีสเตอร์ มีความแตกต่างกันอย่างไร ทำไมเราถึงเชื่อในเทศกาลปัสกาและทำไมเราถึงให้สมาชิกทำร่วมกัน
  2. ในแต่ละคริสตจักรน่าจะหนุนใจให้พี่น้องได้ระลึกถึงเทศกาลปัสกา เป็นเทศกาลปัสกาในฝ่ายวิญญาณ ระลึกถึงการอวยพระพรของพระเจ้าที่ทรงไถ่ในชีวิต อธิษฐานชำระชีวิต อธิษฐานชำระบ้าน รับพิธีมหาสนิทร่วมกัน ฟังคำสอนร่วมกัน โดยในปี 2011 หากนับตามปฎิทินยิว ในปี 2011 เทศกาลนี้ จะเริ่มในวันอังคารที่ 19 เม.. และสิ้นสุดที่วันจันทร์ที่ 25 เม..2011
  3. ในวันอาทิตย์ที่ 24 เม..เป็นวันประชุมนมัสการ ให้มีการระลึกถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์มีกิจกรรมที่สมาชิกมีส่วนร่วมแต่ไม่ได้เป็นแบบเทศกาลอิสเตอร์เช่นเล่นเกมหาไข่ เป็นต้น
ดังนั้นเทศกาลต่างๆ มีความหมายในฝ่ายวิญญาณที่พระเจ้าทรงกำหนดขึ้น เราในฐานะคริสตชนควรที่จะตระหนักและทำความเข้าใจถึงความหมาย เข้าใจถึงวาระเวลาของพระเจ้าในการให้เราระลึกถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำ พักจากการงานเพื่อฟังพระสุรเสียงของพระเจ้า
เราไม่ควรจัดงานเทศกาลต่างๆ อย่างเป็นประเพณีนิยมที่ทำตามกันมา โดยปราศจากความเข้าใจถึงความสำคัญที่แท้จริง เน้นกิจกรรมมากกว่า วัตถุประสงค์ของพระเจ้าในเทศกาลต่างๆ

สรรเสริญพระเจ้า สำหรับเทศกาลปัสกาที่เราได้ผ่านพ้นจากการเป็นทาสในความบาปและเป็นไทโดยพระโลหิตของพระคริสต์ ฮาเลลูยา!