04 เมษายน 2555

ปัสกา เทศกาลแห่งชัยชนะ

สวัสดีครับเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ในเดือนนี้เป็นเดือนเมษายนแล้ว นั่นหมายถึงเราได้ผ่านพ้นช่วงไตรมาสแรกของปี 2012 มาแล้ว มีหลายสิ่งที่น่าจดจำและมีหลายสิ่งที่ต้องกลับไปทบทวนและเรียนรู้ในความผิดพลาด และนำมาปรับปรุงใหม่ ท่านเคยคิดไหมว่าในสถานการณ์ทุกอย่างในชีวิตของท่าน ต้องเผชิญปัญหาและจำเป็นต้องก้าวข้ามผ่านไปให้ได้ เมื่อท่านได้ก้าวข้ามไปได้ ในครั้งต่อไปเมื่อเผชิญปัญหาข้างข้างหน้า แต่เมื่อย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา ท่านได้ก้าวข้ามมาด้วยชัยชนะ ปัญหาที่กำลังเผชิญครั้งใหม่ ไม่ใช่เรื่องยากเลย ผมหวังว่าพระเจ้าแห่งอิสราเอลที่เราทั้งหลายเชื่อ พระองค์มีแผนการดีสำหรับประชากรของพระองค์เสมอในทุกสถานการณ์ พระองค์ปรารถนาให้เรามีชัยชนะและผ่านการทดสอบไปได้ 

ในช่วงประมาณวันที่ 6-14เดือนเมษายน 12 นี้ มีเทศกาลที่สำคัญของชาวอิสราเอลคือ เทศกาลปัสกา(Pesach)หรือ Passover เป็นเทศกาลที่ชาวอิสราเอลจะรับประทานขนมปังไร้เชื้อและผักขม เพื่อระลึกถึงการปลดปล่อยจากจากเป็นทาสในอียิปต์ 

คำว่า "ปัสกา"ในภาษาฮีบรูแปลว่า ผ่านไป หรือ ผ่านเว้น จากเหตุการณ์ในพระธรรมอพยพบทที่ 12 พระเจ้าผ่านไปและเขาไม่ถูกทูตแห่งความตายจัดการ เพราะเลือดทาที่ประตูนั้นจะเป็นหมายสำคัญ นอกจากแปลว่า ผ่านไป หรือผ่านเว้น ยังหมายความว่า "ยืนตระหง่านปกป้อง" พระเจ้าจะยืนตระหง่านปกป้อง เมื่อเห็นเลือดที่เป็นหมายสำคัญ ทูตแห่งความตายก็จะทำอะไรบ้านนั้นไม่ได้ เพราะพระเจ้ายืนตระหง่าน ปกป้องบ้านนั้นไว้ เมื่อเห็นเลือดที่ประตู พระเจ้าจะยืนตระหง่านปกป้องชีวิตของชนชาติอิสราเอล(อพย.12:1-14) ชนชาติอิราเอล ระลึกถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อเขา ในการนำเขาออกจากชนชาติอียิปต์ที่เขาไปเป็นทาส 430 ปี แม้เวลาจะผ่านมาหลายพันปี แต่อิสราเอลก็ยังยึดเทศกาลนี้อย่างมั่นคง เพราะเป็นการนัดหมายสำหรับคนของพระเจ้า นั่นคือสิ่งที่พระคัมภีร์ได้ย้ำเตือนกับเรา 

(ข้อ14) วันนี้จะเป็นวันที่ระลึกสำหรับเจ้า ให้เจ้าทั้งหลายถือไว้เป็นเทศกาลแด่พระเจ้าชั่วชาติพันธุ์ของเจ้า เจ้าจงฉลองเทศกาลนี้และถือเป็นกฎถาวร

ดังนั้นการฉลองเทศกาลปัสกาจึงมีความหมาย สำหรับคริสตชนเช่นเดียวกัน เพราะปัสกานั้นเกี่ยวข้องกับพระเยซูคริสต์ แต่หลายคริสตจักรได้รับอิทธิพลจากความคิดทางซีกโลกตะวันตก ได้จัดเทศกาลอีสเตอร์(Easter)ซึ่งเป็นการนำเอาความเชื่อแบบศาสนาต่างชาติ (Pagan)ที่ผสมผสานความเรื่องพระเยซูคริสต์มาแทนเทศกาลปัสกา เพียงเพราะต่อต้านคนอิสราเอลนั่นเอง ซึ่งสามารถอ่านบทความที่ผมเคยเขียนได้ได้ดังนี้ครับ

(ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทศกาลปัสกาและอีสเตอร์ :
http://pattamarot.blogspot.com/2011/04/blog-post.html)
(เทศกาลปัสกา : ก้าวสู่เสรีภาพใหม่ด้วยใจขอบพระคุณ
http://pattamarot.blogspot.com/2011/04/blog-post_15.html)

สำหรับปฏิทินของพระเจ้าจะบอกกับเราในแผนการของพระเจ้า เพื่อเราจะต้องรู้วาระเวลาและฤดูกาลของพระเจ้า เพราะพระเจ้าบอกว่า พระเจ้าจะทำให้ทุกอย่างสำเร็จตามฤดูกาลของมัน พระเจ้าเป็นผู้กำหนดฤดูกาล และไม่มีอะไรเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญสำหรับพระเจ้า พระองค์มีแผนการสำหรับทุกสิ่ง (ปญจ.3:1,2-9,11) ปฏิทินของพระเจ้าจึงสำคัญ เพื่อให้เราได้เข้าใจถึงจังหวะเวลาของพระเจ้า ว่าพระองค์กำลังทรงทำอะไรในโลกนี้

ในปีนี้ตามปฎิทินฮีบรูคือปี 5772 ปีแห่งพันธสัญญาของพระเจ้า ผมชอบคำว่า "พันธสัญญา" เพราะนี่คือพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงเฝ้ามองดูบ้านของพระองค์ คือคริสตจักร และพระองค์ทรงยืนตระหง่าน ปกป้องบ้านนี้ไว้ และเรากำลังเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ของพระเจ้า (ยรม 29:11)ที่เป็นแผนงานเพื่อสวัสดิภาพ ไม่ใช่เพื่อทุกขภาพ เพื่อจะให้อนาคตและความหวังใจแก่เรา เป็นภาพของเมล็ดพันธุ์ที่ถูกหว่านลงไปในดินในฤดูกาลก่อน และฤดูกาลใหม่ที่จะมาถึง เมล็ดพันธุ์ที่หว่านไปนั้นได้กลายเป็นต้นกล้าที่เติบโตขึ้น

เทศกาลปัสกาที่ชนชาติอิสราเอลถือรักษาไว้ตลอดหลายพันปี เกี่ยวข้องกับการตรึงที่กางเขนของพระเยซูคริสต์ ถ้าเราเข้าใจปัสกาอย่างแท้จริง เราจะยิ่งเห็นคุณค่าของพระเยซูมากขึ้น พระคัมภีร์ได้บอกถึงรายละเอียดว่าพระเจ้าให้เขาเตรียมลูกแกะ(อพย.12:1-5)หลักการนี้กำลังอิงให้เห็นว่า พระเยซูถูกเตรียมไว้แล้วสำหรับการไถ่โลกนี้ สำหรับการไถ่มวลมนุษยชาติ เหมือนที่พระเจ้าทรงไถ่ชนชาติอิราเอลออกจากอียิปต์ ในเทศกาลปัสกา พระเจ้าให้เตรียมลูกแกะที่ปราศจากตำหนิ การเลี้ยงนี้เป็นปัสกาของพระเจ้า พระเจ้าให้จัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง และการเลี้ยงนี้เป็นปัสกาของพระเจ้า คนยิวจะมีความสุขในสัปดาห์นี้มาก เพราะเขาระลึกถึงสิ่งที่พระเจ้าทำ เป็นเทศกาลที่เต็มไปด้วยความชื่นชมยินดี เพราะเป็นอิสระแล้ว(อพย.12:13)เลือดจะเป็นหมายสำคัญที่พระเจ้าจะผ่านเว้นในพระคัมภีร์ตอนนี้ และพระโลหิตของพระเยซูคริสต์ที่หลั่งออกที่กางเขน นำการช่วยเราทั้งหลายพ้นจากทาสของบาปและเป็นไทในพระคุณของพระคริสต์ พระเยซูคริสต์จึงเป็นเสมือนแกะปัสกาที่ถูกนำไปฆ่า เพื่อนำการผ่านเว้นจากการลงโทษ และนำชัยชนะมาสู่ชีวิตของเราทุกคน

ยน.13:1ก่อนถึงเทศกาลปัสกา พระเยซูทรงทราบว่า ถึงเวลาแล้วที่พระองค์จะทรงจากโลกนี้ไปหาพระบิดา พระองค์ทรงรักพวกของพระองค์ซึ่งอยู่ในโลกนี้ พระองค์ทรงรักเขาจนถึงที่สุด 


พระเจ้าสำแดงความรักของพระเจ้าจนถึงที่สุดและยอมตายที่ไม้กางเขนเพื่อมวลมนุษยชาติ นี่คือความรักของพระเยซูที่มีต่อเรา สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ใช่ด้วยความบังเอิญ ปัสกาเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชกิจของพระเยซูทั้งสิ้น (ยน.12:27)พระองค์มาเพื่อมาไถ่บาปให้กับมวลมนุษย์ เพราะพระองค์เป็นพระเมษโปดก พระองค์เป็นแกะที่ปราศจากตำหนิ ที่ถูกเตรียมไว้สำหรับเทศกาลปัสกา เราขอบคุณพระเจ้า

สำหรับพระโลหิตพระเยซู ที่พระองค์หลั่งออกเพื่อเรา เทศกาลปัสกาเป็นเรื่องของพระโลหิตของพระเยซูที่พระองค์มาไถ่เราให้พ้นจาก ความบาป และพระเยซูบอกให้เราทั้งหลายถือเทศกาลนี้เหมือนอย่างที่พระองค์ถือ ในช่วงที่พระองค์กำลังจะถูกตรึง พระองค์กำลังเฉลิมฉลองเทศกาลปัสกากับสาวก (ยน.13) ดังนั้นพระเยซูคริสต์เห็นความสำคัญของเทศกาลปัสกา และปัสกาเล็งถึงชัยชนะจากความบาปความตาย เราจะเห็นได้ว่าเมื่อกษัตริย์ของอิสราเอลนำการรื้อฟื้นเทศกาลปัสกา จะเห็นการฟื้นฟู ตัวอย่างเช่น

2 พศด.29-30 ในสมัยของเฮเซคียาห์ เมื่อคนของพระเจ้าถดถอยและกลับไปหารูปเคารพ เขาให้ละเลยต่อเทศกาลปัสกาของพระเจ้า พระเจ้าได้ยกเฮเซคียาห์ขึ้นเพื่อฟื้นฟูอิสราเอลให้กลับมาหาพระเจ้า เราเห็นรูปแบบหลักการนี้ คนของพระเจ้าเมื่อห่างจากทางของพระเจ้าหันไปหารูปเคารพ และเมื่อคนของพระเจ้ากลับมาหาพระเจ้า กลับมาแสวงหาพระเจ้า สิ่งหนึ่งที่พระเจ้ามาย้ำเตือนกับคนของพระเจ้าก็คือ รื้อฟื้นเทศกาลปัสกาขึ้นมาใหม่ พวกเขารื้อฟื้นการนมัสการพระเจ้า การรื้อฟื้นการนมัสการ นำมาซึ่งการทรงสถิตของพระเจ้า ที่ใดก็ตามที่มีเสียงแห่งการสรรเสริญพระเจ้าจะอยู่ท่ามกลางที่นั่น อีกตัวอย่างหนึ่งที่เราเห็นชัดเจนที่พระคัมภีร์ได้พูดไว้คือ (2พศด.35) ในสมัยของโยสิยาห์ เป็นกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่พระเจ้าใช้ เพื่อนำคนอิสราเอลกลับมาหาพระเจ้า

อิสราเอลจึงต้องตื่นตระหนักถึงความสำคัญในการเข้าเฝ้าพระเจ้า ไม่ใช่เป็นอิสราเอลที่หลับไหลและตายในฝ่ายวิญญาณ คือ อิสรา "เอน" ไปสู่ เลบา"นอน" ข้ามทะเลอา"หลับ" หากไม่ตื่นขึ้นก็ไปสู่ ดินแดนปาเลส "ตาย"การกลับมาฉลองเทศกาลต่างๆที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้เป็นการกลับมาเข้าสู่ตารางนัดหมายของพระเจ้า (Divine Appointment)พระเจ้าทรงตั้งเทศกาลไว้เพื่ออำนวยพระพร

เทศกาลของชนชาติแห่งพระพร การก้าวข้ามอุปสรรคไปสู่พระพร

ชนชาติแห่งพระพร คือ “ชาวฮีบรู” เพราะชนชาตินี้เป็นชนชาติที่พระเจ้าทรงตั้งไว้เพื่อที่จะอวยพระพรและนำพระพรไปสู่ประชาชาติดังที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้กับอับบราฮัม (ปฐก.12:2-3) 2 เราจะให้เจ้าเป็นชนชาติใหญ่ เราจะอวยพรแก่เจ้า จะให้เจ้ามีชื่อเสียงใหญ่โตเลื่องลือไป แล้วเจ้าจะช่วยให้ผู้อื่นได้รับพร 3 เราจะอำนวยพรแก่คนที่อวยพรเจ้า เราจะสาปคนที่แช่งเจ้า บรรดาเผ่าพันธุ์ทั่วโลกจะได้พรเพราะเจ้า"

อับราฮัมเป็นคนแรกที่พระเจ้าทรงเรียกมาเพื่อรับพระพร เขาถูกเรียกโดยพระเจ้าว่าเป็นชาวฮีบรูคำว่า "ฮีบรู" (Hebrew) หมายถึง การก้าวข้าม (crossover) ที่เป็นอย่างนั้นเพราะท่านได้รับการทรงเรียกให้ออกจากเมืองไปสู่สถานที่แห่งพระพร

ปฐก.14:13 มีคนหนึ่งหนีมาจากที่รบนั้นบอกให้อับรามคนฮีบรูรู้ เพราะอับรามอาศัยอยู่ที่หมู่ต้นก่อหลวงของมัมเร ...
คำนี้มีความหมายคือ คนแปลกถิ่น(Alien) ที่เที่ยวไปบนอยู่โลกผู้เขียนพระธรรมฮีบรูได้ให้ความหมายไว้
ฮบ.11:13 คนเหล่านั้นได้ตายไปขณะที่มีความเชื่อเต็มที่ และไม่ได้รับสิ่งที่ได้ทรงสัญญาไว้ แต่เขาก็ได้เห็นและได้เตรียมรับไว้ตั้งแต่ไกล และรู้ดีว่าเขาเป็นคนแปลกถิ่นที่ท่องเที่ยวไปในโลก


ข้อคิดคือ พระเจ้ามักจะเรียกร้องคนของพระองค์ให้ตัดสินใจก้าวข้ามอุปสรรค ด่านทดสอบความเชื่อ และเมื่อผ่านไปแล้ว นั่นหมายถึงพระพรที่เราจะได้รับ

สำหรับผมแล้วเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกใจเลย ที่คริสตชน คนอย่างพวกเราต้องเป็นเหมือนคนต่างถิ่น ที่อยู่บนโลก เพราะบ้านเมืองเราอยู่สวรรค์ต่างหาก(ฟป.3:20) ที่เราจะต้องเดินทางไปให้ถึง แม้ในโลกนี้จะเต็มไปด้วยอุปสรรคปัญหา แต่เราต้องก้าวข้ามให้ได้

จากชาวฮีบรูไปสู่นามอิสราเอล


ชื่อว่าฮีบรูถูกใช้จนถึงพงศ์พันธ์ของยาโคบ จึงเปลี่ยนเป็น "อิสราเอล คือผู้ที่ปล้ำสู้"
คำว่า “อิสราเอล” (Israel)สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากรากศัพท์ภาษาอาโมไรท์ (Amorite) โบราณที่ใช้กันในช่วงเวลาประมาณปี 2,000 กคศ. ซึ่งท้ายคำหลัง “ el-เอล” มีความหมายถึง “God (พระเจ้า)” ในพระคัมภีร์บันทึกว่ายาโคบ ได้ปล้ำสู้เพื่อขอพระพรจากพระเจ้า (ปฐก.29:31-30;24)

ปฐก. 32:28 บุรุษนั้นจึงว่า "เขาจะไม่เรียกเจ้าว่ายาโคบต่อไป แต่จะเรียกว่า อิสราเอล {แปลว่า เขาผู้ปล้ำสู้กับพระเจ้า หรือพระเจ้าทรงปล้ำสู้} เพราะเจ้าสู้กับพระเจ้าและมนุษย์ และได้ชัยชนะ"

ชนชาติอิสราเอล 12 เผ่ามาจากเชื้อสายของยาโคบ พวกเขาต้องตกไปเป็นทาสในอียิปต์มากกว่า 430 ปี พวกเขาต้องออกเดินทางอีกครั้งนำโดยโมเสส และต้องก้าวข้ามผ่านทะเลแดง ถิ่นทุรกันดาร และแม่น้ำจอร์แดน จนกว่าจะได้เข้าดินแดนแห่งพระสัญญาคือคานาอันนี่คือ การเดินทาง"อพยพ" มาสู่"กันดารวิถี" สถานที่มีการทดสอบจากพระเจ้า แต่ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่สามารถสอบผ่านได้ เพราะมีการเฉลยบททดสอบนั้นไว้แล้ว คือ "เฉลยธรรมบัญญัติ" 

ฉธบ.31:8 ผู้ที่ไปข้างหน้าคือพระเจ้า พระองค์ทรงสถิตอยู่ด้วย พระองค์จะไม่ทรงปล่อยท่านให้ล้มเหลวหรือทอดทิ้งท่านเสีย อย่ากลัวและอย่าขยาดเลย"

อิสราเอลที่หลงเจิ่นไป แต่ยิว สิงห์แห่งยูดาห์นำมาซึ่งพระพร ผ่านทางพระเยซูคริสต์คำว่า "ยิว"(Jew)มาจากชื่อของบุตรคนที่สี่ของยาโคบ,ยิวมาจากคำว่า ยูดาห์ - Yehudah ในภาษาฮีบรู ซึ่งดาวิดเป็นกษัตริย์ปกครองอิสราเอลซึ่งประกอบด้วยหนึ่งในสิบสองเผ่าของอิสราเอล สิ้นราชวงศ์ของดาวิด อาณาจักรอิสราเอลก็แตก แบ่งออกเป็น 2 ประเทศ คือ

ฝ่ายเหนือ "อิสราเอล" มีเมืองหลวงที่ สะมาเรีย(Samaria) อยู่ได้มาอีก 200 ปี (720 BC) แล้วโดนเผ่าอัสซีเรียตีแตกไป
ฝ่ายใต้ "ยูดาห์" (Judah) เมืองหลวงที่เยรูซาเล็ม สืบทอดวัฒนธรรมของอาณาจักรเดิม อยู่มาได้ประมาณ 300 ปี (586BC) แล้วโดนบาบีโลน (อิรักในปัจจุบัน) ตีแตก


ฝ่ายยูดาห์ที่ปกครองเยรูซาเล็ม สูญเสียเอกราชตั้งแต่แพ้บาบีโลน ชาวยิวก็ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจแถวๆ นั้นเรื่อยมา ถัดจากบาบีโลนก็เป็น เปอร์เซีย (อิหร่าน),
กรีก (เริ่มยุคของอเล็กซานเดอร์),โรมัน (พระเยซูคริสต์ประสูติในยุคนี้)...จนถึงการล่มสลายในปี ค.ศ. 70 พระวิหารถูกทำลาย และกระจัดกระจายไปทั่วโลก จนในที่สุดในปี ค.ศ.1948 ชาวยิวจึงได้กลับมารวมชาติกันอีกครั้ง
สิ่งที่สำคัญคือการกลับมาสู่รากของความเป็นยิว เพราะชาวยิวเข้าใจวาระเวลาและฤดูกาลของพระเจ้า มากกว่าคนต่างชาติ ดังที่พระเยซูคริสต์พูดกับหญิงชาวสะมาเรียใน 


ยน.4:22-25
22 ซึ่งเจ้านมัสการนั้นเจ้าไม่รู้จัก ซึ่งพวกเรานมัสการเรารู้จัก เพราะความรอดนั้นมาจากพวกยิว
23 แต่วาระนั้นใกล้เข้ามาแล้ว และบัดนี้ก็ถึงแล้ว คือเมื่อผู้ที่นมัสการอย่างถูกต้องจะนมัสการพระบิดา ด้วยจิตวิญญาณและความจริง เพราะว่าพระบิดาทรงแสวงหาคนเช่นนั้นนมัสการพระองค์
24 พระเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณ และผู้ที่นมัสการพระองค์ ต้องนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง"
25 นางทูลพระองค์ว่า "ดิฉันทราบว่าพระมาซีฮา (ที่เรียกว่าพระคริสต์) จะเสด็จมา เมื่อพระองค์เสด็จมาพระองค์จะทรงชี้แจงทุกสิ่งแก่เรา"


พระเยซูคริสต์ กษัตริย์แห่งยูดาห์ จึงเป็นพระมาซีฮาผู้นำการปลดปล่อย และเป็นพระเจ้าผู้ประทานความรอดให้กับคนทั้งหลาย !
เทศกาลปัสกาให้ภาพของพระโลหิตของพระเยซูคริสต์ที่หลั่งออก และความตายของพระองค์บนกางเขนเพื่อชำระบาปผิด ภาพของพระเยซูคริสต์ก้าวไปมากกว่าแค่การเสด็จมาสิ้นพระชนม์ แต่คือภาพแห่งชัยชนะ และภาพแห่งการเป็นผู้พิชิต นั่นคือภาพที่พระเยซูคริสต์ ออกจากหลุมฝังศพ ออกจากหลุมแห่งความตาย และประกาศก้องให้โลกได้รู้ว่า “ทรงชนะโลกแล้ว” เหล็กไนแห่งความตายพ่ายแพ้แล้ว (1 คร.15:16-22) เราควรจะดำเนินชีวิตด้วยสิ่งที่ได้รับจากพระเจ้านั่นคือ

1.รับชัยชนะ (1คร.15:54-57) 


ภาคปฏิบัติเพื่อรับชัยชนะเหนือความบาปและความตาย รับพระคริสต์ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าใหญ่ยิ่งสูงสุดในชีวิตเรา (รม.10:9) ทั้งยอมรับด้วยปาก ด้วยใจ และด้วยการกระทำให้พระองค์เข้ามาครอบครองทุกห้องหัวใจของเรา ดำเนินชีวิตในเสรีภาพของพระวิญญาณแห่งชีวิต (รม.8:2), (รม.8:5-6)คือ การดำเนินชีวิตโดยไม่ตามใจเนื้อหนัง โดยการพึ่งพาการช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่พระเยซูคริสต์ประทานให้แก่ผู้เชื่อ

2.รับฤทธิ์เดชในการรับใช้พระเจ้า (ฟป.3:10-11)


พระเจ้าทรงพระประสงค์ให้เรารู้จักฤทธานุภาพซึ่งชุบพระเยซูคริสต์ขึ้นมาจากความตาย โดยการฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสต์ เราจึงมีชีวิตใหม่ พระคริสต์ทรงพระชนม์อยู่ในเรา
3. ดำเนินชีวิตในชัยชนะ (รม.6:4)พระเยซูคริสต์ฟื้นขึ้นมาจากความตายอย่างมีสง่าราศี มีกายใหม่ ชีวิตในปัจจุบันของเราก็สามารถมีสง่าราศี มีชีวิตใหม่ที่ลอกคราบตัวเก่าออกได้ เมื่อชีวิตเก่าลอกคราบ ชีวิตใหม่ก็สวยสดงดงาม ดังภาพผีเสื้อ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทะลุทะลวงผ่านสิ่งที่เป็นเปลื้องดักแด้ที่ห่อหุ้ม และเพื่อทะลุทลวงผ่านไปได้จะเป็นผีเสื้อที่สวยงาม (2 คร.5:17) (ลก.24:46-50) นี่เป็นเหตุการณ์ภายหลังจากที่พระเยซูคริสต์ถูกตรึงบนกางเขน และในวันที่สามพระองค์ทรงฟื้นคืนพระชนม์ ทรงเสด็จมาหาสาวกของพระองค์ และกำชับเขาให้ออกไปเป็นพยานด้วยฤทธิ์เดชจากเบื้องบน นี่จึงเป็นการรับใช้ที่พระเจ้าสถิตอยู่ด้วย เป็นการรับใช้ที่ไม่ได้เคลื่อนตามใจมนุษย์ แต่เคลื่อนตามฤทธิ์เดชพระวิญญาณที่พระเยซูคริสต์มอบให้ และเมื่อเคลื่อนตามพระเจ้า มันจะสำเร็จตามพระทัยของพระองค์และรับใช้อย่างผู้ชนะ ไม่ใช่ผู้พ่ายแพ้


วันนี้พระเยซูคริสต์ไม่ได้ทรงอยู่ในหลุมฝั่งศพ แต่พระองค์เป็นขึ้นมาจากความตาย การที่พระเยซูคริสต์เป็นขึ้นมาจากความตายนั้นเป็นการประกาศชัยชนะเหนืออาณาจักรแห่งความมืดแล้ว เป็นเหมือนกับคำสั่งให้เราทั้งหลาย "ยกพลขึ้นบก"เป็นวัน D-day เพื่อลุกขึ้นครอบครอง

มธ.28:18-20
18 พระเยซูจึงเสด็จเข้ามาใกล้แล้วตรัสกับเขาว่า "ฤทธานุภาพทั้งสิ้นในสวรรค์ก็ดี ในแผ่นดินโลกก็ดีทรงมอบไว้แก่เราแล้ว
19 เหตุฉะนั้นเจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติ ให้เป็นสาวกของเรา ให้รับบัพติศมาในพระนามแห่งพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์
20 สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้ นี่แหละเราจะอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นยุค"


วันดีเดย์ (D-day) หรือที่เรารู้จักกันในคำที่ใช้เรียกวันที่ 6 เดือนมิถุนายน 1944 ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลกว่า 100,000 นายขึ้นฝรั่งเศสใน Operation Overlord จนเป็นจุดเปลี่ยนของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปจากนั้นมาคำว่าดีเดย์ก็ถูกใช้แทนความหมายของการเริ่มต้นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เช่น ดีเดย์ ชุมนุมใหญ่ วันที่เท่านี้เป็นต้น จนเราเข้าใจว่าการยกพลขึ้นบกในวันนั้นชื่อว่าวัน D- Day
แต่ในวันที่พระเยซูคริสต์จะกลับมาอีกครั้ง เพื่อครอบครองโลกนี้จะเป็นวัน VE day แห่งการประกาศชัยชนะของพระองค์
VE day หรือ Victory in Europe day วันนี่คือวันแห่งชัยชนะ เหนือเยอรมันนี วันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรประกาศชัยชนะร่วมกัน โดยในวันที่ 2-3 พฤษภา 1945 ฝ่ายเยอรมัน ได้ประกาศยอมแพ้สงคราม ทำให้สงครามฝั่งยุโรปสิ้นสุดลง

ในวันนี้ ให้เราทั้งหลายตั้งมั่นคงในพระสัญญาของพระเจ้า ทุกครั้งที่รับพิธีมหาสนิท เล็งถึงปัสกา ที่พระเยซูคริสต์ทรงรับร่วมกับสาวก

มธ 26:18-29
18 พระองค์จึงตรัสตอบว่า "จงเข้าไปหาผู้หนึ่งในกรุง บอกเขาว่า "พระอาจารย์ว่า "กาลกำหนดของเรามาใกล้แล้ว เราจะถือปัสกาที่บ้านของท่านพร้อมกับพวกสาวกของเรา"
19 ฝ่ายสาวกเหล่านั้นก็กระทำตามรับสั่ง แล้วได้จัดเตรียมปัสกาไว้พร้อม
20 ครั้นถึงเวลาพลบค่ำ พระองค์ประทับร่วมสำรับกับสาวกสิบสองคน
26 ระหว่างอาหารมื้อนั้น พระเยซูทรงหยิบขนมปังมา และเมื่อถวายสาธุการแล้ว ทรงหักส่งให้แก่เหล่าสาวกตรัสว่า "จงรับกินเถิด นี่เป็นกายของเรา"
27 แล้วพระองค์จึงทรงหยิบถ้วยโมทนาพระคุณและส่งให้เขา ตรัสว่า "จงรับไปดื่มทุกคนเถิด
28 ด้วยว่านี่เป็นโลหิตของเรา อันเป็นโลหิตแห่งพันธสัญญา ซึ่งต้องหลั่งออกเพื่อยกบาปโทษคนเป็นอันมาก
29 เราบอกท่านทั้งหลายว่า เราจะไม่ดื่มน้ำผลแห่งเถาองุ่นต่อไปอีกจนวันนั้นมาถึง คือวันที่เราจะดื่มกันใหม่กับพวกท่านในแผ่นดินแห่งพระบิดาของเรา"

ในเทศกาลปัสกาปีนี้ เป็นปัสกาแห่งชัยชนะที่เราทั้งหลายจะประกาศชัยชนะเหนืออุปสรรคปัญหา เหนือความบาป และเราทั้งหลายจะเตรียมชีวิตให้พร้อมเพื่อรอรับ จอมกษัตริย์ที่กำลังจะเสด็จกลับมา สรรเสริญพระเจ้า

1 คร.16:22...ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาเถิด Maranatha!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น