21 เมษายน 2555

Acts 4:32-37_ชุมชนต้นแบบแห่งการแบ่งปัน

ศึกษาพระธรรมกิจการของอัครทูต
คริสตจักร “ต้นแบบ” ตามพระบัญชา

กิจการของอัครทูต 4:32-37
32 คนทั้งปวงที่เชื่อนั้นเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และไม่มีใครอ้างว่าสิ่งของที่ตนมีอยู่เป็นของตน แต่ทั้งหมดเป็นของกลาง
33 อัครทูตจึงประกอบด้วยฤทธิ์เดชใหญ่ยิ่ง เป็นพยานว่าพระเยซูเจ้าได้ทรงคืนพระชนม์แล้ว และพระคุณอันใหญ่ยิ่งได้อยู่กับเขาทุกคน
34 เพราะว่าในพวกศิษย์ไม่มีผู้ใดขัดสน ผู้ใดมีไร่นาบ้านเรือนก็ขายเสีย
35 และนำเงินค่าของที่ขายได้นั้นมาวางไว้ที่เท้าของอัครทูต อัครทูตจึงแจกจ่ายให้ทุกคนตามที่ต้องการ
36 เป็นต้นว่าโยเซฟ ที่อัครทูตเรียกว่า บารนาบัส แปลว่าลูกแห่งการหนุนน้ำใจ เป็นพวกเลวีชาวเกาะไซปรัส
37 มีที่ดินก็ขายเสียและนำเงินค่าที่นั้นมาวางไว้ที่เท้าของอัครทูต

อารัมภบท
สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน เราได้ศึกษาพระธรรมกิจการฯต่อเนื่องกันมาหลายครั้งแล้ว เราได้เห็นความเป็นต้นแบบของคริสตจักรที่มีชีวิต ชีวา มีการอัศจรรย์โดยฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า และในครั้งนี้เราได้เห็นถึงบรรยากาศความรัก การช่วยเหลือแบ่งปันกันและกัน ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่สำคัญของชุนชนของพระเจ้า มีคำกล่าวคำหนึ่งว่า "หากเรามีความทุกข์ เราแบ่งปันความทุกข์ของเราออกไป ทุกข์ที่มีอยู่ก็จะบรรเทาเหลือเพียงครึ่งเดียว แต่หากเรามีความสุข และเราแบ่งปันความสุขของเราออกไป ความสุขที่เรามีจะกลายเป็น สองเท่า"สิ่งนี้คงจะเป็นจริงในชุมชนคริสตจักรสมัยพระธรรมกิจการฯ เพราะพวกเขาร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน เมื่ออัครทูตเปโตรและยอห์น เผชิญการข่มเหงขัดขวางข่าวประเสริฐ พวกเขาก็ช่วยกกันอธิษฐานเผื่อและเพื่อใครมีภาระปัญหาหรือขัดสนก็มีการแบ่งปันข้าวของกัน ในวันนี้เราจะมาพิจารณาดูด้วยกัน
1.ข้อสังเกตเพื่อใคร่ครวญ
จากข้อ 32 ได้บรรยายให้เห็นบรรยากาศในชุมชนคริสเตียนที่กรุงเยรูซาเล็มที่มีความรักความผูกพันกันอย่างเด่นชัด โดยแสดงออกเป็นการกระทำ ภายนอกด้วยการแบ่งปันสิ่งที่ตนมีเพื่อพี่น้องที่มีความต้องการ เป็นต้นแบบสำคัญที่พระเจ้าปรารถนาให้เกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้ที่พี่น้องในชุมชนมีความรักความผูกพัน และ ความห่วงใยกัน โดยความรักความผูกพัน ความห่วงใยกันนั้น แสดงออกมาอย่างเด่นชัด เป็นการกระทำ ที่ไม่ได้เป็นเพียงเฉพาะคำพูดที่บอกว่ารักผูกพันกันเท่านั้น พวกเขามีท่าทีที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ข้อ 32 บอกว่า คนทั้งปวงที่เชื่อนั้นเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน...นี่เป็นภาพที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งที่คนอย่างน้อยถึงห้าพันคนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
คำว่า “เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” ในภาษากรีก มีอยู่ 2 คำที่ถูกนำมาใช้ ณ ที่นี้

คำแรก คือ การเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทางความคิดความรู้สึก
คำที่สอง คืการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในจิตวิญญาณ
ทุกคนในชุมชนมีความเสียสละ โดยถือว่าของที่ตนมีเป็นของกลาง นำมาใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ในข้อ 32 กล่าว่า ...และไม่มีใครอ้างว่าสิ่งของที่ตนมีอยู่เป็นของตน แต่ทั้งหมดเป็นของกลาง เป็นภาพที่น่าประทับใจที่คนในชุมชนทำตามคำสอนของพระเยซูคริสต์ คือ ให้มีความรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง พวกเขาเชื่อฟังอย่างสุดใจโดยไม่คิดเห็นแก่ตนเอง มีจิตใจสาธารณะ ผิดกับคนในยุคปัจจุบัน มีจิตใจเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว นำคำสอนมาบิดเบือนจาก "รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง" กลับกลายเป็น "ลักของเพื่อนบ้าน มาเป็นของตนเอง" ผมรู้สึกประทับใจในชุมชนคริสตจักรสมัยพระธรรมกิจการฯ ทีมีใจแบ้่งปันกันและกัน นี่เป็นวิถีชีวิตอันเป็นปกติของคนในสมัยนั้นด้วย ไม่ได้แจกจ่ายแบ่งปันกันเฉพาะยามที่มีเหตุฉุกเฉินเท่านั้น ดังที่ กจ.2:44-46 บรรยายไว้ว่า
44 บรรดาผู้ที่เชื่อถือนั้นก็อยู่พร้อมกัน ณ ที่แห่งเดียว และทรัพย์สิ่งของของเขาเหล่านั้น เขาเอามารวมกันเป็นของกลาง
45 เขาจึงได้ขายที่ดินและทรัพย์สิ่งของมาแบ่งให้แก่คนทั้งปวงตามซึ่งทุกคนต้องการ
46 เขาได้ร่วมใจกันไปในพระวิหารและหักขนมปังตามบ้านของเขา ร่วมรับประทานอาหาร ด้วยความชื่นชมยินดีและใจกว้างขวาง ทุกวันเรื่อยไป
นี่แหละคือ ภาคปฏิบัติที่เห็นเด่นชัดของการมีสามัคคีธรรมระหว่างพี่น้อง ที่แสดงออกด้วยการแบ่งปัน ซึ่งการแบ่งปันนั้น ความหมายในภาษาเดิม คือ koinonia ให้ความหมายว่าการเป็นหุ้นส่วนกัน การแบ่งปันกัน การแบ่งปันเกิดขึ้นได้เพราะการไม่เห็นแก่ตัว ไม่มีใครอ้างว่าสิ่งของที่ตนมีอยู่เป็นของตน แต่ทั้งหมดเป็นของกลาง
2.ข้อคิดสะกิดใจ

ข้อคิดในพระธรรมตอนนี้ เราจะเห็นผลที่เกิดขึ้นเมื่อมีการแบ่งปันกันและกัน คือ นั่นคือ “พระเจ้ารับรองการรับใช้ด้วยฤทธิ์เดช” ข้อ 33 บอกว่า อัครทูตจึงประกอบด้วยฤทธิ์เดชใหญ่ยิ่ง เป็นพยานว่า พระเยซูเจ้าได้ทรงคืนพระชนม์แล้ว ...
ผลที่เกิดขึ้นเมื่อคริสตจักรมีความเป็นน้ำใจเดียวกันในการร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่มีใครที่ยึดติดกับส่วนที่เป็นของตน ยินดีแจกจ่ายสิ่งที่มีเพื่อพี่น้องที่ยากลำบากกว่า เป็นเหตุให้ภารกิจที่พระเจ้ามอบหมายให้ทำ คือ การประกาศข่าวประเสริฐได้รับการรับรองจากพระเจ้า โดยทรงประทานฤทธิ์เดชให้ ตามที่พระเยซูคริสต์ทรงสัญญาไว้ใน มก.16:20 พวกสาวกเหล่านั้นจึงออกไปเทศนาสั่งสอนทุกแห่งทุกตำบล และพระเป็นเจ้าทรงร่วมงานกับเขาและทรงสนับสนุนคำสอนของเขาโดยหมายสำคัญที่ประกอบนั้น

เมื่อพระเจ้าร่วมงานกับพวกเขา จะเห็นถึงพระคุณและการจัดสรรที่ไม่มีผู้ใดขัดสนเลย ในข้อ 33-34 บอกไว้ว่า และพระคุณอันใหญ่ยิ่งได้อยู่กับเขาทุกคน เพราะว่าในพวกศิษย์ไม่มีผู้ใดขัดสน เป็นข้อคิดสำหรับเราว่า บางคนยิ่งให้ยิ่งได้รับ แต่บางคนยิ่งยึดฉวยไว้ยิ่งขัดสน
สภษ. 11:24 บางคนยิ่งจำหน่ายยิ่งมั่งคั่ง บางคนยิ่งยึดสิ่งที่ควรจำหน่ายไว้ยิ่งขัดสนก็มี นอกจากนี้ข้อคิดต่อไปมาจากข้อ 34 ตอนปลาย ข้อ 35 ตอนต้น และ ข้อ 36-37 บรรยายต่อไปว่า
34 ...ผู้ใดมีไร่นาบ้านเรือนก็ขายเสีย
35 และนำเงินค่าของที่ขายได้นั้นมาวางไว้ที่เท้าของอัครทูต
36 เป็นต้นว่าโยเซฟ ที่อัครทูตเรียกว่า บารนาบัส แปลว่าลูกแห่งการหนุนน้ำใจ เป็นพวกเลวีชาวเกาะไซปรัส
37 มีที่ดินก็ขายเสียและนำเงินค่าที่นั้นมาวางไว้ที่เท้าของอัครทูต

นั่นคือ “การแบ่งปันโดยอยู่ภายใต้การปกคลุมของผู้นำ” เป็นการนบนอบต่อผู้ที่มีสิทธิอำนาจอย่างสุดใจ โดยนำสิ่งของมามอบไว้ที่เท้าของอัครทูต

หลักการนี้สำคัญอย่างไร
สำคัญเพราะพระเจ้าได้ทรงกำหนดให้มีผู้นำเพื่อดูแลชุมชนของพระเจ้าให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และให้ดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้สิทธิอำนาจของพระเจ้าและสิทธิอำนาจของพระวจนะพระเจ้า โดยผู้นำที่พระเจ้าเจิมตั้งนั้นอยู่ภายใต้สิทธิอำนาจของพระเจ้า และสิทธิอำนาจของพระวจนะพระเจ้า
ดังนั้น ผู้นำคืออัครทูต จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการและดูแลให้ทุกคนในชุมชนได้รับการดูแลจัดสรรอย่างดีและเหมาะสม
การที่พี่น้องพากันนำเงินซึ่งได้จากขายบ้านเรือนไร่นามาไว้ที่เท้าของ อัครทูต เป็นภาพของการมอบให้อัครทูตเป็นผู้บริหารจัดการในการจัดสรรปันส่วน
อัครทูตเป็นบุคคลที่พระเจ้าทรงแต่งตั้ง เป็นคนของพระเจ้าที่ดำเนินชีวิตสัตย์ซื่อ ทั้งจำเพาะพระพักตร์พระเจ้าและในสายตาของคนทั้งปวงด้วย
ดังที่ อัครทูตเปาโล บอกใน 2คร.8:20-21 ว่า
20 เราเจตนาจะไม่ให้คนหนึ่งคนใดติเตียนเราได้ ในเรื่องของบริจาคเป็นอันมากซึ่งเรารับมาแจกนั้น
21 เพราะเรามุ่งที่จะเป็นคนสัตย์ซื่อ มิใช่เฉพาะแต่ในสาย พระเนตรองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น แต่ในสายตาของคนทั้งปวงด้วย
เมื่อมีการมอบหมายจากพระเจ้าในการทำหน้าที่อัครทูต จะเห็นได้ว่าอัครทูตมีความรับผิดชอบในการจัดสรรอย่างเหมาะสม มีการแจกจ่ายอย่างทั่วถึงทุกคนในข้อ 35

อัครทูตจึงแจกจ่ายให้ทุกคนตามที่ต้องการ
ดังนั้นเมื่อเป็นผู้รับใช้ที่ยิ่งใหญ่ จะต้องมีความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง ผู้ที่เป็นอัครทูตก็ไม่ได้ใช้สิทธิอำนาจในทางที่เกิดประโยชน์แก่ตนเอง แต่ทำให้เกิดประโยชน์แก่ทุกคน เพราะท่านเป็นผู้รับใช้พระเจ้า ไม่ใช่เป็นผู้รับจ้าง
เราจะเห็นได้จากตัวอย่างของอานาเนียและสัปฟีรา ที่ฉ้อโกงเรื่องเงินค่าที่ดินและถูกพระเจ้าพิพากษาให้ถึงตายในกจ.5
ในวันนี้คำถามจากพระธรรมตอนนี้ คือ เราได้ข้อคิดจากการแบ่งปันให้กับชุมชนของพระเจ้าอย่างไรบ้างและเราจะพัฒนาชีวิตของเราให้มีจิตใจแห่งการเป็นผู้ให้อย่างไรบ้าง

3.ข้อสรุปเพื่อการประยุกต์ใช้
ผมขอสรุปหลักการไว้ดังนี้ คือ การที่จะเป็นชุมชนแห่งการแบ่งปันกันและกัน จะต้องมีจิตใจที่สาธารณะไม่คิดเห็นแก่ตนเอง แต่คิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวม
สิ่งต่อมาคือ การแบ่งปันโดยอยู่ภายใต้การปกคลุมของผู้นำ เพื่อให้เกิดการจัดสรรอย่างเหมาะสม และเห็นถึงพระพรของพระเจ้าในชุมชน
ผมเชื่อว่าคริสตจักรในปัจจุบัน สามารถที่จะเป็นชุมชนแห่งการแบ่งปัน โดยเริ่มต้นจากสิ่งเล็กน้อยในวันนี้ ที่เรามีอยู่แบ่งปันกันและกัน เมื่อสิ่งที่เราแบ่งปันออกไป สิ่งนั้นพระเจ้าจะทำให้เกิดการเพิ่มพูนมากขึ้น

ขอพระเจ้าอวยพระพร พบกันในโอกาสหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น