กระบวนการเคลื่อนไหวด้านอัครทูตได้ต่อยอดมาจนเกิดศัพท์ใหม่คือคำว่า “Apostolic
Center”
โดยศัพท์คำนี้มีความหมายที่สื่อถึงคริสตจักรที่ขับเคลื่อนในมิติแบบอัครทูต
ซึ่งต่างกับคริสตจักรที่ขับเคลื่อนในมิติของศิษยาภิบาล
แล้วการขับเคลื่อนแบบศิษยาภิบาลกับการขับเคลื่อนแบบอัครทูตมีความแตกต่างกันอย่างไร
?
คริสตจักรที่ขับเคลื่อนแบบอัครทูต
เรียกว่า
Apostolic Center (ศูนย์บัญชาการเชิงอัครทูต)
คริสตจักรที่ขับเคลื่อนแบบศิษยาภิบาล
เรียกว่า Pastoral
Church (โบสถ์แบบศิษยาภิบาล)
คำว่า “ศิษยาภิบาล” ในภาษาเดิมแล้วมีความหมายที่สื่อถึง “ผู้เลี้ยงแกะ” ลักษณะของโบสถ์แบบศิษยาภิบาลจึงให้ภาพของ “ฟาร์ม”
ที่มีศิษยาภิบาลเป็นผู้ดูแล
การขับเคลื่อนแบบศิษยาภิบาลจึงเน้นพันธกิจของการป้องกันสมาชิกหรือฝูงแกะไม่ให้หลงหายและเน้นให้ผู้คนในโบสถ์มีความรักต่อกัน
ส่วนพันธกิจที่มีต่อสังคมก็จะเน้นการประกาศและการเก็บเกี่ยว
เพื่อให้คนภายนอกได้รับความรอดและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของฝูงแกะในฟาร์ม
(มาเป็นสมาชิกของคริสตจักร)
ในทางตรงกันข้าม “อัครทูต” เป็นคำศัพท์ที่มีความหมายที่ต่างกับ “ศิษยาภิบาล” ทั้งนี้ตามประวัติศาสตร์แล้ว พระเยซูไม่ใช่บุคคลแรกที่ใช้คำว่า “อัครทูต” แต่พระเยซูทรงยืมศัพท์คำนี้จากวัฒนธรรมของโรมอีกทีหนึ่ง
ในสมัยของอาณาจักรโรมเมื่อจักรพรรดิได้ทำสงครามและยึดครองประเทศหนึ่งได้แล้ว
จักรพรรดิจะไม่เพียงแค่ส่งนายพลไปปกครองประเทศที่เพิ่งยึดมาได้เท่านั้น
แต่จักรพรรดิจะส่งคนกลุ่มหนึ่งไปเพิ่มเติมด้วย
โดยคนกลุ่มนี้จะมีตำแหน่งที่เรียกว่า “อัครทูต” ทั้งนี้อัครทูตจะมีหน้าที่ในการปฏิรูปวัฒนธรรมของประเทศที่เพิ่งยึดมาได้
อัครทูตบางคนจะมีหน้าที่ในการปฏิรูปด้านภาษา
โดยมุ่งเน้นให้ผู้คนในประเทศใช้ภาษาราชการของอาณาจักรโรม
อัครทูตบางคนจะมีหน้าที่ในการปฏิรูปการค้าขาย โดยให้ผู้คนในประเทศใช้เงินสกุลเดียวกันกับที่อาณาจักรโรมใช้
อัครทูตบางคนจะมีหน้าที่ในการปฏิรูปด้านอาหาร โดยการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมอาหารการกินของประเทศให้เหมือนกับอาณาจักรโรม
เหตุสำคัญของการส่งอัครทูตเข้าไป เนื่องจากจักรพรรดิโรมมีความเข้าใจว่า
หากยึดครองประเทศโดยการใช้กำลังทางทหารเพียงอย่างเดียว การยึดครองก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน
แต่ถ้าประเทศที่ถูกยึดนั้นได้รับการปฏิรูปทางวัฒนธรรมให้เหมือนกับอาณาจักรโรมแล้ว
จักรพรรดิก็สามารถปกครองประเทศนั้นๆได้อย่างยั่งยืน
ตามบริบททางประวัติศาสตร์แล้ว
“อัครทูต” ไม่ได้เป็นศัพท์ที่หมายถึงการเลี้ยงแกะ
แต่เป็นศัพท์ที่สื่อถึง
“การปกครองกับการปฏิรูป”
คริสตจักรที่ขับเคลื่อนในมิติอัครทูตเป็นคริสตจักรที่ไม่ได้มุ่งเน้นอยู่กับการอภิบาลหรือดูแลสมาชิกในลักษณะของศิษยาภิบาลเท่านั้น
แต่เป็นคริสตจักรที่มุ่งเน้นการตระเตรียมสมาชิกให้มีความพรักพร้อมต่อการปฏิรูปสังคม
เหมือนกับจักรพรรดิโรมที่ส่งทีมงานเข้าไปปฏิรูปวัฒนธรรม ผู้นำของคริสตจักรแบบอัครทูตจะมีเป้าประสงค์ในการส่งผู้คนเข้าไปปฏิรูปวัฒนธรรมต่างๆของประเทศ
ด้วยเหตุนี้ลักษณะของคริสตจักรที่ขับเคลื่อนแบบอัครทูตจึงเปรียบดั่งศูนย์บัญชาการ
โดยศูนย์บัญชาการจะมีหน้าที่ตระเตรียมสมาชิกให้มีความพรักพร้อมและส่งผู้คนออกไปทำพันธกิจแห่งการปฏิรูป
คริสตจักรแบบศิษยาภิบาล
เปรียบดั่ง ฟาร์มเลี้ยงแกะ
คริสตจักรแบบอัครทูต
เปรียบดั่ง ศูนย์บัญชาการ
Apostolic Center เป็นลักษณะของคริสตจักรที่ขับเคลื่อนแบบอัครทูตโดยการส่งผู้คนออกไปยึดครอง
การแปลศัพท์คำนี้เป็น “ศูนย์อัครทูต”
จึงเป็นการแปลที่ดูไม่ชัดเจนและงงๆ แต่ถ้าแปลศัพท์คำนี้เป็น “ศูนย์บัญชาการเชิงอัครทูต” ก็จะให้ภาพของ Apostolic
Center ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ Apostolic Center สามารถแปลสั้นๆเป็น “ศูนย์บัญชาการ” ก็ได้
พระคุณจงทวีคูณแด่เพื่อนๆ
Philip Kavilar
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
หนังสือ
Apostolic
Centers เขียนโดย Alain Caron
หนังสือ
The Apostolic Church Arising เขียนโดย Chuck D.
Pierce and Robert Heidler