18 สิงหาคม 2555

เดินในพันธสัญญาร่วมกับอิสราเอล

สวัสดีครับเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ผมได้เขียนบทความนี้เพื่อบันทึกการเดินทางสู่ประเทศอิสราเอล ดินแดนแห่งพันธสัญญาของพระเจ้า ซึ่งผมจะเดินทางไปในช่วงวันที่ 28 ส.ค.-5ก.ย.12 ผมเชื่อว่าการเดินทางในครั้งนี้จะมีสิ่งที่ดีและพระพรที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ให้ หลังจากกลับมาจากประเทศอิสราเอล ผมจะมาเขียนเล่าสู่กันฟังนะครับ 

ในครั้งนี้ขอแบ่งปันในเรื่อง "เดินในพันธสัญญาร่วมกับอิสราเอล" ครั้งนี้ขอกล่าวในเรื่องของเครื่องหมายพันธสัญญาและการเดินร่วมกันไปในพันธสัญญาระหว่างคริสตจักรและชนชาติอิสราเอล 

คำว่า "พันธสัญญา" อ.นิมิต พานิช ศบ.คริสตจักรแห่งพระบัญชา ได้ให้นิยามว่า “พันธสัญญาเป็นเรื่องสองหัวใจที่มาเชื่อมกัน ไม่ใช่เรื่อง2สมองที่เชื่อมกัน และมีบททดสอบและพิสูจน์ในการดำเนินในพันธสัญญา”   

 
ดังนั้นพันธสัญญาจึงเป็นการเชื่อมกันที่หัวใจ ไม่ใช่เพียงคำสัญญาหรือการทำสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษร
ในช่วงวันที่ 9-16 เม.ย.12 คริสตจักรแห่งพระบัญชาได้ส่งคณะผู้นำและตัวแทนคริสตจักร เดินทางไปประเทศอิสราเอล เพื่อเป็นการร่วมทำพันธสัญญาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชนชาติแห่งพระพรของพระเจ้า
การเดินทางครั้งนี้เป็นพระบัญชาของพระเจ้า ซึ่งเป็นพระสัญญาที่เรียกให้เรายืนอยู่เคียงข้าง และเราได้อธิษฐานวิงวอนและสนับสนุนของอิสราเอลด้วยคำมั่นสัญญาตามพระวจนะที่กล่าวว่า
สดุดี 122:6 จงอธิษฐานขอสันติภาพให้แก่เยรูซาเล็ม ว่า "ขอบรรดาผู้ที่รักเธอจงจำเริญ
หากเรานึกถึงคำสอนของ Dr.Robert Heidler ท่านกล่าวว่า "ในปี 2012 ตรงกับปีปฏิทินฮีบรู 5772 ความหมายคือ “ปีที่พระเจ้าเฝ้าดูอยู่เหนือบ้านของพระองค์ และปีของการเข้าใจพันธสัญญา”
ปฏิทินฮีบรูแต่ละปีมีการให้สัญลักษณ์ ตัวอักษรฮีบรูโดยดั้งเดิมเป็นอักษรภาพ ซึ่งให้ภาพการเผยพระวจนะสำหรับปีนั้น

ปี 5772 มีความหมายว่าอย่างไร?
5700 = “ขอให้เป็นปีแห่ง....” 70= อักษรฮีบรูคือ “อัยยิน” Y
2=อักษรฮีบรู คือ “เบท” ב: เรียกว่า "ปีแห่ง อัยยิน เบท"
คำว่าดวงตาในภาษาฮีบรูคือ อัยยิน!
อัยยินเป็นภาพของ ดวงตา! ดังนั้น ปีของอัยยินคือ “ปีแห่งดวงตา”
ปีนี้เป็นปีที่จะมองเห็น! พระเจ้าต้องการจะเพิ่มความสามารถให้การเห็นของเรา!มันเป็นฤดูกาลที่พระเจ้ากำลังเฝ้ามองดู!
2พศด.16:9 เพราะว่าพระเนตรของพระยาห์เวห์สอดส่องอยู่เหนือแผ่นดินโลกทั้งหมด
ตัวอักษรอีกตัวคือ เบท ซึ่งเป็นภาพของบ้าน ดังนั้น อัยยินและเบทรวมกันหมายถึง...ดวงตาของพระเจ้ากำลังเฝ้ามองอยู่ เหนือบ้านของพระองค์! พระเจ้ากำลังเฝ้ามองเหนือบ้านของพระองค์ปีนี้!
พระองค์ต้องการที่จะอวยพรบ้านของพระองค์ ด้วยการจัดเตรียมที่อุดมสมบูรณ์! และที่สำคัญที่สุดคือพันธสัญญา! ที่มีต่อบ้านของพระองค์ คือ คริสตจักร
(ในช่วงวันที่ 16 ก.ย.12จะเป็นการเริ่มต้นในปีใหม่หรือหัวของปี(Head of Year)5773 ปีแห่งตัวอักษร Ayin Gimel ปีแห่งมวลอูฐที่นำพาความมั่่งคั่ง (อสย.60:6) จะมีการฉลองเทศกาลขึ้นปีใหม่ Rosh Hashanah ปี 5773 การรื้อฟื้นสู่การไถ่กลับมาทั้งหมด ปีที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างช่องว่างของอดีตไปสู่อนาคต)

คำว่า "พันธสัญญา" คือ ข้อตกลงระหว่างคนสองคนหรือคนสองกลุ่มที่เกี่ยวข้องกันด้วยสัญญาระหว่างกัน
แนวคามคิดในเรื่องพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับคนของพระองค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในความสำคัญของความจริงแห่งศาสนศาสตร์ในพระคัมภีร์

โดยพระองค์ทรงสัญญากับอับราฮัม จะอวยพรลูกหลานของเขาให้เป็นคนพิเศษของพระองค์ ผู้ที่หะนกลับมาและรักษาความสัตย์ซื่อในการติดตามพระเจ้า และรับใช้พระองค์ นี่เป็นช่องทางที่พระเจ้าจะใช้เอาให้เป็นพรไปสู่ประชาชาติ
ปฐมกาล 12:1-3
1 พระเจ้าตรัสแก่อับรามว่า "เจ้าจงออกจากเมืองจากญาติพี่น้องจากบ้านบิดาของเจ้า ไปยังดินแดนที่เราจะบอกให้เจ้ารู้
2 เราจะให้เจ้าเป็นชนชาติใหญ่ เราจะอวยพรแก่เจ้า จะให้เจ้ามีชื่อเสียงใหญ่โตเลื่องลือไป แล้วเจ้าจะช่วยให้ผู้อื่นได้รับพร
3 เราจะอำนวยพรแก่คนที่อวยพรเจ้า เราจะสาปคนที่แช่งเจ้า บรรดาเผ่าพันธุ์ทั่วโลกจะได้พรเพราะเจ้า"

ความหมายของคำว่า “ พันธสัญญา” คือคำที่สำคัญที่สุดสำหรับปีนี้ และอาจเป็นคำหนึ่งในคำที่สำคัญที่สุดในพระคัมภีร์ แต่คำว่า “ พันธสัญญา” กลับเป็นคำที่คริสเตียนมากมายไม่เข้าใจ
แต่ปีนี้พระเจ้าต้องการให้เราเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า “พันธสัญญา” และต้องการให้เราเรียนรู้ที่จะเดินในพันธสัญญา เพื่อรับพระพรแห่งพันธสัญญา

เราจะต้องทำความเข้าใจว่า “พันธสัญญา” คืออะไรและอะไรไม่ใช่พันธสัญญา  ชุมชนคริสเตียนในโลกมักจะสับสนกับคำว่า “พันธสัญญา” กับคำว่า “สัญญา” 
การทำ “สัญญา” นั้นเป็นการกระทำระหว่างคนที่มีการตกลงร่วมกันและต้องใช้ความพยายาม
ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุข้อตกลงในที่สุด ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ทำตาม
ข้อตกลงนั้น สัญญานั้นก็จะขาดลงและอีกฝ่ายก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ท่าทีที่อยู่เบื้องหลังสัญญานี้คือ “ถ้าคุณทำอย่างนี้ให้ฉัน ฉันก็จะทำอย่างนั้นเป็นการตอบแทน”
ความสัมพันธ์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องของข้อแม้ และเป็นเพียงชั่วคราว จนกว่าสัญญานั้นจะสำเร็จหรือขาดลง
“พันธสัญญา” นั้นต่างกันโดยสิ้นเชิงและเพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ ผู้มองเหตุการณ์จะต้องมองด้วยความคิดจากมุมมองของชาวฮีบรู ไม่ใช่จากมุมมองแบบชาวตะวันตก

พันธสัญญาเกิดขึ้นเพราะผู้คนมีนิมิตและเป้าหมายเดียวกัน และความเชื่อในสัมพันธ์ภาพระหว่างกันเป็นพลังที่ช่วยรักษาพันธสัญญานี้ไว้ พันธสัญญามักจะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่ไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบของเวลาหรือระยะทาง ยุคสมัยหรือสถานที่ พันธสัญญานั้นผูกมัดไม่เพียงในแง่มุมของกฎหมาย แต่ในแง่จิตวิญญาณและความรู้สึก
เกือบทุกครั้งจะมีพยานเกี่ยวข้องและด้วยเหตุนี้จึงมีความรับผิดชอบสูง ในพระคัมภีร์ พันธสัญญานั้นทำทุกเวลา ความสัมพันธ์ในพันธสัญญานี้ดำรงอยู่ไกลกว่าการพิจารณาเรื่องข้อกฎหมาย และผู้ที่กระทำพันธสัญญาร่วมกันจะเห็นกันและกันเป็นเพื่อนที่ตลอดชั่วนิ รันดร์จะผูกมัดกับพันธสัญญานี้

พระเจ้าของเราเป็นพระเจ้าแห่งพันธสัญญา พระเจ้าเป็นผู้ริ่เริ่มที่จะทำพันธสัญญากับคนของพระองค์
ปฐก.9:8-9
8 พระเจ้าจึงตรัสแก่โนอาห์และบุตรทั้งหลายว่า
9 "นี่แน่ะ เราเองเป็นผู้ตั้งพันธสัญญาของเราไว้กับพวกเจ้าและกับพงศ์พันธุ์ของเจ้า

ทุกสิ่งที่พระเจ้าทำอยู่บนพื้นฐานของพันธสัญญา พระเจ้าทำตามสิ่งที่พระองค์ทรงสัญญาไว้ เราสังเกตเห็นได้หลายเหตุการณ์ในพระคัมภีร์ เช่น พระเจ้าสัญญาว่าอับราฮัมจะเป็นบิดาแห่งประชาชาติ , พระเยซูสัญญาว่าพระบิดาจะส่งพระวิญญาณบริสุทธิ์มาเป็นองค์พระผู้ช่วยในพระธรรมกิจการ ฯลฯ

ความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า เป็นความสัมพันธ์ตามพันธสัญญา เข้าส่วนเป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนในพระธรรมยอห์น 15 เรื่องเถาองุ่นกับแขนง
แผนการของพระเจ้าเป็นแผนการแห่งพันธสัญญา พระพรของพระเจ้าเป็นพระพรตามพันธสัญญา พระเจ้าต้องการให้เราดำเนินชีวิตในพันธสัญญาต่อกันและกัน พระเจ้าเรียกให้เราเป็นคนแห่งพันธสัญญา

คำว่า “พันธสัญญา” เป็นการอุทิศตนที่จริงจัง และผูกเข้าด้วยกันระหว่างคนสองคนหรือมากกว่านั้น เป็นการปฏิญาณถึงการจงรักภักดีและการอุทิศตนอย่างสิ้นเชิงต่ออีกฝ่ายหนึ่ง มีความหมายมากกว่าสัญญาหรือการอุทิศตนใด ๆ มีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าชีวิต เป็นหุ้นส่วนชั่วกัลปาวสาน (จนสิ้นชีวิต) ไม่สามารถละเมิดได้

ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Covenant : a compact (because made by passing between pieces of flesh) คำว่า Compact พจนานุกรมให้ความหมายว่า สัญญา ข้อตกลง

ดังนั้น พันธสัญญา จึงมีความหมายสำหรับคู่สมรสที่ต้องกล่าวคำสัญญาต่อกันในวันแต่งงาน (Marriage vows) มีความหมายถึง การทำสัญญาที่กลั่นออกมาจากเลือดเนื้อจิตวิญญาณภายใน พันธสัญญาระหว่างชายและหญิงโดยพระเจ้าเป็นผู้ที่ผูกพันครอบครัวด้วยพันธสัญญา คู่สมรสจึงเป็นเนื้อเดียวกัน
มธ.19:4-6
4 พระองค์ตรัสตอบเขาว่า "พวกท่านไม่ได้อ่านหรือว่า พระผู้ทรงสร้างมนุษย์แต่เดิม ได้ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง
5 และตรัสว่า เพราะเหตุนั้นบุรุษจึงต้องละบิดามารดาของตน ไปผูกพันอยู่กับภรรยาและเขาทั้งสองจะเป็นเนื้ออันเดียวกัน
6 เขาจึงไม่เป็นสองต่อไป แต่เป็นเนื้ออันเดียวกัน เหตุฉะนั้นซึ่งพระเจ้าได้ทรงผูกพันกันแล้ว อย่าให้มนุษย์ทำให้พรากจากกันเลย"
ในทำนองเดียวกัน วันนี้เราได้ทำพันธสัญญาร่วมยืนเคียงข้างกับชนชาติของพระเจ้าคืออิสราเอล เป็นการแสดงตัวร่วมความเป็นพี่น้องร่วมสายโลหิตของพระเยซู (Yeshua) คือเป็นคนใหม่คนเดียวกัน (One New Man)
อฟ.2:14-15 14 เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นสันติสุขของเรา เป็นผู้ทรงกระทำให้ทั้งสองฝ่ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และทรงรื้อกำแพงที่กั้นระหว่างสองฝ่ายลง
15 คือการเป็นปฏิปักษ์กัน โดยในเนื้อหนังของพระองค์ ได้ทรงให้ธรรมบัญญัติอันประกอบด้วยบทบัญญัติและกฎหมายต่างๆนั้นเป็นโมฆะ เพื่อจะกระทำให้ทั้งสองฝ่ายเป็นคนใหม่คนเดียวในพระองค์ เช่นนั้นแหละ จึงทรงกระทำให้เกิดสันติสุข

การทำพันธสัญญาระหว่างคริสตจักรกับอิสราเอล เป็นเรื่องสองหัวใจที่มาเชื่อมกัน ไม่ใช่เรื่องสองสมองที่เชื่อมกัน และมีบททดสอบและพิสูจน์ในการดำเนินในพันธสัญญา
พูดง่ายๆ คือ เมื่อก่อนเรามองอิสราเอลแบบผู้ชายดูใจคบกับผู้หญิง แต่ตอนนี้เมื่อทำพันธสัญญา หมายถึงตกลงปลงใจมาแต่งงานกันนั่นเอง
เราจึงต้องทำความเข้าใจกัน ตกลงใจกัน เพื่อจะร่วมเดินในพันธสัญญาด้วยกัน การทำพันธสัญญาครั้งนี้จึงเป็นภาพความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งคริสตจักรที่มีต่อชนชาติอิสราเอล
 อมส. 3:3 "สองคนจะเดินไปด้วยกันได้หรือ นอกจากทั้งสองจะได้ตกลงกันไว้ก่อน

ผมจึงขอหนุนใจให้เราร่วมทำพันธสัญญาร่วมกันกับชนชาติอิสราเอลตามที่ตัวแทนของคริสตจักรได้ไปทำแล้วในช่วงที่ผ่านมา ที่เราจะยืนเคียงข้างและร่วมเดินในพันธสัญญากับพระเจ้าร่วมกัน

"หัวใจ" หมายถึง เครื่องหมายแห่งพันธสัญญา และ "บททดสอบ คือสถานที่แห่งพันธสัญญา" แต่ละสถานที่ในประเทศอิสราเอลล้วนเป็นบททดสอบชีวิต ที่มีความสำคัญในฝ่ายวิญญาณ ที่เราควรจะได้เดินทางไปเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิตของเรา 

ในครั้งนี้ผมขอกล่าวถึงเครื่องหมายแห่งพันธสัญญา ส่วนในเรื่องบททดสอบการก้าวเดินในดินแดนแห่งพันธสัญญา ผมจะขอแบ่งปันในโอกาสต่อไปเมื่อผมกลับมาจากประเทศอิสราเอล  

เครื่องหมายของพันธสัญญา : พระเยซูมีเครื่องหมายของพันธสัญญาบนมือของพระองค์
อสย.49:15-16
15 “ผู้หญิงจะลืมบุตรที่ยังกินนมของนาง และจะไม่เมตตาบุตรจากครรภ์ของนางได้หรือ” แม้ว่าคนเหล่านี้ยังลืมได้ กระนั้นเราก็จะไม่ลืมเจ้า
16 ดูเถิด เราได้สลักเจ้าไว้บนฝ่ามือของเรา กำแพงเมืองของเจ้าอยู่ต่อหน้าเราเสมอ
เครื่องหมายพันธสัญญาของเรากับพระเจ้าคือ การตัดความเป็นเนื้อหนังออก และดำเนินชีวิตในความบริสุทธิ์
เมื่อเราอยู่ต่อหน้าพระองค์ ให้เรายกมือที่บริสุทธิ์ขึ้นต่อหน้าพระองค์
เมือเราอยู่ต่อหน้าศัตรู ให้เรายกมือของเราขึ้นเพื่อเตือนศัตรูว่า ฉันมีผู้ปกป้อง เพราะพระเจ้าสลักเราไว้บนฝ่ามือของพระองค์
อสย.9:17 ผู้ก่อสร้างเจ้าก็เอาชนะผู้ทำลายเจ้า และบรรดาผู้ที่ทำให้เจ้าถูกทิ้งร้างก็ออกไปจากเจ้า
และเมื่อเรายกมือของเราขึ้นต่อหน้าของเรา ก็คือเป็นการเตือนว่า เราทำพันธสัญญากับพระเจ้า
พันธสัญญานั้นเป็นเรื่องจริงจัง แต่ก็เป็นพระพรที่ยิ่งใหญ่

วันนี้พระเยซูเชื้อเชิญเราทุกคนเข้าสู่พันธสัญญา ที่มาจากการเสียสละชีวิตของพระองค์ เป็นเครื่องบูชาไถ่บาปให้กับเรา

การทำพันธสัญญาว่า “ผ่าพันธสัญญา” เพราะว่าการฆ่าสัตว์เพื่อบูชาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมในการทำพัธสัญญา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าต่างฝ่ายต่างจะรักษาพันธสัญญานี้ด้วยชีวิตของตนเอง

สิ่งที่ไม่ธรรมดาเกี่ยวกับพันธสัญญาระหว่างอิสราเอลและชนชาติยิวก็คือพระ เจ้าพระองค์เองเป็นผู้ “ผ่าพันธสัญญา”นี้กับพวกเขาโดยผ่านทางอับราฮัมในปฐมกาล 15:1-17 พิธีกรรมในการทำพันธสัญญาในตะวันออกกลางโบราณที่ใช้วิธีเดินระหว่างกลางซาก สัตว์ที่ผ่าครึ่งซีกนั้น โดยปกติมักกระทำโดยทั้งสองฝ่าย เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่า “ขอให้สิ่งที่เกิดขึ้นกับซากสัตว์นี้ ได้เกิดขึ้นกับตัวฉันหากฉันผิดพันธสัญญากับพี่น้องของฉัน”
พันธสัญญาที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง “ชั่วนิจนิรันดร์” ที่พระเจ้าได้ทรงกระทำกับอับราฮัมและลูกหลานของเขานี้ ไม่เพียงมีผลต่อประชากรเท่านั้น แต่มีผลต่อแผ่นดินอิสราเอลด้วย
ปฐมกาล 17:7-8 “เราจะตั้งพันธสัญญาของเราไว้ระหว่างเรากับเจ้า และเชื้อสายของเจ้าที่สืบมาตลอดชั่วชาติพันธุ์ของเขาให้เป็นพันธสัญญานิรัน ดร์ คือเป็นพระเจ้าแก่เจ้าและแก่เชื้อสายของเจ้าที่สืบมา เราจะให้ดินแดนที่เจ้าอาศัยอยู่นี้ คือแผ่นดินคานาอันทั้งสิ้นแก่เจ้าและแก่เชื้อสายของเจ้าที่จะสืบมา ให้เป็นกรรมสิทธิ์นิรันดร์ และเราจะเป็นพระเจ้าของเขา”


เครื่องหมายแห่งพันสัญญา : พิธีมหาสนิท
1คร.11:23-28
23 เพราะว่าเรื่องซึ่งข้าพเจ้าได้มอบไว้กับท่านแล้วนั้น ข้าพเจ้าได้รับจากองค์พระผู้เป็นเจ้า คือในคืนที่เขาอายัดพระเยซูเจ้านั้น พระองค์ทรงหยิบขนมปัง
24 ครั้นขอบพระคุณแล้วจึงทรงหัก แล้วตรัสว่า “นี่เป็นกายของเรา ซึ่งให้แก่ท่านทั้งหลาย จงกระทำอย่างนี้ให้เป็นที่ระลึกถึงเรา”
25 เมื่อรับประทานแล้ว พระองค์จึงทรงหยิบถ้วยด้วยอาการอย่างเดียวกัน ตรัสว่า “ถ้วยนี้คือพันธสัญญาใหม่ โดยโลหิตของเรา เมื่อท่านดื่มจากถ้วยนี้เวลาใด จงดื่มเป็นที่ระลึกถึงเรา”
26 เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลายกินขนมปังนี้และดื่มจากถ้วยนี้เวลาใด ท่านก็ประกาศการวายพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา
27เหตุฉะนั้นถ้าผู้ใดกินขนมปัง หรือดื่มจากถ้วยขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไม่สมควร ผู้นั้นก็ทำผิดต่อพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า
28ขอให้ทุกคนพิจารณาตนเอง แล้วจึงกินขนมปังและดื่มจากถ้วยนี้
พระเยซูทรงสละชีวิตของพระองค์ลงเพื่อเรา เพื่อทำให้พระสัญญาแห่งการไถ่ของพระเจ้าเป็นจริง
ยน.3:16 เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก จนได้ทรงประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์
เหมือนดังภาพของกางเขน องค์ประกอบของแนวตั้งคือ ถ้วยน้ำองุ่นในพิธีมหาสนิท ด้วยพระโลหิตของพระองค์ได้ชำระเราและนำเราเข้าสู่พันธสัญญากับพระเจ้า
1ยน.3:16 ดังนี้แหละเราจึงรู้จักความรัก โดยที่พระองค์ได้ทรงยอมสละพระชนม์ของพระองค์เพื่อเราทั้งหลาย และเราทั้งหลายก็ควรจะสละชีวิตของเราเพื่อพี่น้อง
องค์ประกอบของแนวนอน คือ ขนมปัง เล็งถึงพระกายของพระเยซู ด้วยพระกายของพระคริสต์ที่ได้วายพระชนม์ เราจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอิสราเอล และผู้เชื่อ
1คร.10:16-17
16 ถ้วยแห่งพระพร ซึ่งเราได้ขอพระพรนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีส่วนร่วมในพระโลหิตของพระคริสต์มิใช่หรือ ขนมปังซึ่งเราหักนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีส่วนร่วมในพระกายของพระคริสต์มิใช่หรือ
17แม้เราซึ่งเป็นบุคคลหลายคน แต่เนื่องจากมีขนมก้อนเดียว เราจึงเป็นร่างกายเดียว เพราะว่าเราทุกคนรับประทานขนมก้อนเดียวกัน
ดังนั้น เมื่อเรารับมหาสนิท เรากำลังปฏิญาณตัวเองในพันธสัญญาต่อพระเจ้า และต่อพี่น้องชายหญิงของเรา คือ ชนชาติอิสราเอล ซึ่งเป็นพื้นฐานของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เหมือนดังช่วงเทศกาลปัสกา(Passover) ชาวอิสราเอล เข้ารับประทานขนมปังไร้เชื้อเพื่อระลึกการไถ่จากการเป็นทาสในอียิปต์
นอกจากหัวใจ ที่เป็นเครื่องหมายที่เราเชื่อมต่อทางใจ กับชนชาติอิสราเอล สิ่งต่อมาคือ สถานที่ เป็นบททดสอบในร่วมเดินในพันธสัญญา
Dr.Jack Hayford เขียนในหนังสือชื่อ Why stand with Israel today ว่า “เมื่อเราพูดเกี่ยวกับอิสราเอลเรากำลังข้องเกี่ยวกับ:
1) ดินแดน ทรัพย์สินผืนหนึ่งที่พระเจ้าประกาศถึง
2) ประชากรของพระเจ้าที่พระองค์ได้ประทานแผ่นดินผืนนั้นไว้

นี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับพระผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งและเป็นเรื่องที่ไม่สามารถต่อรองได้ สิ่งที่พระเจ้าได้ตรัสอย่างพิเศษเกี่ยวกับอิสราเอลนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย ดังนั้นสถานที่ในประเทศอิสราเอลจึงเป็นดินแดนแห่งพันธสัญญาและเมื่อเราได้เข้ามีส่วนร่วมในพันธสัญญานี้ มรดกที่พระเจ้าสัญญากับอิสราเอลจะไหลผ่านพระพรมาสู่ผู้ที่อยู่ในพันธสัญญาอันนี้ด้วย
"ไม่เพียงแต่แผ่นดินเท่านั้นที่เป็นของพระเจ้า แต่พระเจ้ายังได้มอบแผ่นดินนี้ให้แก่อับราฮัมและลูกหลานของเขาผ่านทางอิสอัค (ปฐก.17:7-8)

ตัวอย่างสถานที่ในดินแดนพันธสัญญา
ภูเขาโมริยาห์ :สถานที่พระเจ้าทรงทำพันธสัญญากับอับราฮัม  บทบดสอบความเชื่อของอับราฮัม ท่านได้ตัดสินใจมอบถวายบุตรคนเดียวของท่าน ทำให้ท่านได้รับพระสัญญาว่าจะเป็นบิดาแห่งมวลชน
ปฐมกาล 22:2-17... 
12 ทูตสวรรค์ว่า "อย่าแตะต้องเด็กนั้นหรือกระทำอะไรเขาเลย เพราะบัดนี้เรารู้แล้วว่าเจ้ายำเกรงพระเจ้า ด้วยเห็นว่าเจ้ามิได้หวงบุตรชายของเจ้า แต่ยอมถวายบุตรชายคนเดียวของเจ้าให้เรา"...
14 อับราฮัมจึงเรียกสถานที่นั้นว่า เยโฮวาห์ยิเรห์ {แปลว่า พระเจ้าจะทรงจัดหาไว้ให้} อย่างที่เขาพูดกันทุกวันนี้ว่า "จะจัดไว้บนภูเขาของพระเยโฮวาห์"
15 ทูตของพระเจ้าเรียกอับราฮัมครั้งที่สองมาจากฟ้าสวรรค์ว่า
16 "พระเจ้าตรัสว่า เราปฏิญาณในนามของเราว่า เพราะเจ้ากระทำอย่างนี้และมิได้หวงบุตรชายของเจ้า คือบุตรชายคนเดียวของเจ้า
17 เราจะอวยพรเจ้าแน่ เราจะทวีเชื้อสายของเจ้าให้มากขึ้น ดังดวงดาวในท้องฟ้า และดังเม็ดทรายบนฝั่งทะเล เชื้อสายของเจ้าจะได้ประตูเมืองศัตรูของเจ้าเป็นกรรมสิทธิ์

นี่คือสถานที่แห่งพันธสัญญา ที่เป็นบททดสอบความเชื่อและความวางใจในพระเจ้า เมื่อผ่านบททดสอบความเชื่อนี้ ผลคือได้รับพระพร หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในชีวิตของเราอาจจะเดินทางมาถึงที่ภูเขาโมริยาห์  เราจะต้องตัดสินใจถวายสิ่งที่เรารักที่สุดให้กับพระเจ้า แต่เราจะผ่านการทดสอบและรู้ว่า พระเจ้าทรงเป็นเยโฮวาห์ยิเรห์ พระเจ้าจะทรงจัดหาไว้ให้เราในทุกสิ่ง เราสามารถเชื่อและวางใจในพระองค์ได้เสมอ...

สถานที่ต่างๆ ในประเทศอิสราเอลซึ่งเป็นบททดสอบการเดินในดินแดนแห่งพันธสัญญา ผมจะขอแบ่งปันในโอกาสต่อไปเมื่อผมกลับมาจากประเทศอิสราเอล ขอพระเจ้าอวยพระพรครับ

17 สิงหาคม 2555

คำอธิษฐานอวยพรในเดือน Elul

เดือนที่6ตามปฎิทินฮีบรู คือเดือน Elul(อ่านว่า เอลูล หรือ เอลลูล)ช่วงวันที่ 19 สิงหาคม ถึงวันที่ 16 กันยายน 2012
(ข้อมูลจาก : http://www.arise5.com/#/resources โดย Ron Sawka)

หลายศตวรรษที่ผ่านมา ชาวฮีบรูมีธรรมเนียมในการอ่านพระคัมภีร์พระธรรมสดุดีบทที่ 27 เป็นกิจวัตรประจำวัน ตั้งแต่วันแรกของเดือนElul(ในปี 2012 ตรงกับวันที่ 19 สิงหาคม )จนไปถึงวันที่ 1ในเดือนTishrei(ในปี 2012 ตรงกับวันที่ 17กันยายน )พระธรรมสดุดีบทที่ 27 ได้เริ่มกล่าวว่า
1 พระเจ้าทรงเป็นความสว่างและความรอดของข้าพเจ้าข้าพเจ้าจะกลัวผู้ใดเล่า พระเจ้าทรงเป็นที่กำบังเข้มแข็งแห่งชีวิตข้าพเจ้าข้าพเจ้าจะต้องเกรงใคร
ดังนั้นจึงขอหนุนใจให้อ่านพระธรรมสดุดีบทที่ 27 ในทุกวันของเดือนนี้

ตามคำสอนของ ดร.ชัค เพียร์ส (Chuck Pierce)ในโรงเรียนผู้เผยพระวจนะ (Issachar School) กล่าวไว้ว่า
"ทำไมเราจึงเฉลิมฉลองและฉลองอย่างไรในแต่ละเดือนฮีบรู ทั้งนี้เพราะนี่เป็นหนึ่งในหนทางเบื้องต้นของพระเจ้าที่ทำให้เราเติบโตขึ้น พระเจ้าทรงมีแผนการไถ่ที่ถูกเขียนขึ้นในสวรรค์ เพราะพระเจ้าทรงกำหนดวงจรของฟ้าสวรรค์ไว้ เราจึงต้องดึงหลักการของพระวจนะมาสู่มิติของโลกนี้" (สดุดี19,สดุดี8:1-3)
สดุดี 8:1-3
1 ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าของบรรดาข้าพระองค์ พระนามของพระองค์สูงส่งยิ่งนักทั่วทั้งแผ่นดินโลกพระองค์ผู้ซึ่งพระสิริของพระองค์ในฟ้าสวรรค์ได้รับคำแซ่ซ้องสาธุการ
2 โดยปากของเด็กอ่อนและทารก พระองค์ทรงตั้งป้อมปราการเพราะคู่อริของพระองค์ เพื่อระงับยับยั้งศัตรูและผู้กระทำการแก้แค้น
3 เมื่อข้าพระองค์มองดูฟ้าสวรรค์อันเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ดวงจันทร์และดวงดาวซึ่งพระองค์ได้ทรงสถาปนาไว้

เมื่อฟ้าสวรรค์ประกาศถ้อยคำเหล่านั้น สิ่งเหล่านั้นเป็นเหมือนดังวงโคจร
สดุดี 19:6 ดวงอาทิตย์ขึ้นมาจากสุดปลายฟ้าสวรรค์ข้างหนึ่งและโคจรไปถึงที่สุดปลายอีกข้างหนึ่ง ไม่มีสิ่ง ใดสามารถซ่อนให้พ้นจากความร้อนของมันได้
เมื่อเราเข้าใจและเชื่อในการอวยพระพรของพระเจ้าในแต่ละเดือน และเราได้ป่าวประกาศถึงพระพร สิ่งเหล่านี้ก็จะปรากฏขึ้นในชีวิตของเรา

1.เดือนแห่งเผ่ากาด
เมื่อตอนที่กาดได้ถือกำเนิด นางเลอาห์กล่าวว่า “โชคดีจริงๆ"(ปฐก.30:11) ซึ่งมีนัยบ่งบอกถึงการเพิ่มทวี และใน ปฐก.49:19 ยาโคบได้อวยพรกาด ว่า "ฝ่ายกาดนั้นจะมีพวกปล้นไล่ปล้นเขา แต่เขาจะกลับไล่ปล้นติดส้นพวกนั้น"

เดือนนี้จึงเป็นเดือนที่บ่งบอกถึงการมีชัย ชัยชนะ มีแรงกดดัน และการทดสอบจากสองเดือนที่ผ่านมา แต่มาถึงเดือนนี้เรากำลังจะเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการทวีคูณ จงป่าวประกาศการอวยพรเพิ่มทวีเหนือชีวิตของคุณ

2.เดือนแห่งการค้นหาที่ สถานที่ที่ตนเองจะยืนเป็นที่ ๆ จะไปกับพระเจ้า
คนมากมายพลาดที่จะเปิด "หน้าต่างแห่งโอกาส" ที่จะค้นหาที่ของตัวเอง คุณจึงท่องไปทั่ว ขาดความไว้วางใจ และออกนอกการต่อติดกับพระเจ้า เมื่อหน้าต่างแห่งโอกาสเปิดออก  คุณก็ไม่อาจเชื่อมต่อติด และท้ายที่สุดก็จะจบลงด้วยการแยกตัว อยู่คนเดียว ทั้งที่ จริง ๆ แล้ว ชีวิตของเราต้องการคนอื่น ๆ ด้วย เราถูกสร้างมาแบบนี้ การไม่ไว้วางใจคนอื่น เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการมีรากแห่งการถูกปฏิเสธรากนี้กันเราไม่ให้เข้าใกล้ความสมบูรณ์ และความเข้มแข็งซึ่งเราสามารถได้รับผ่านการมีชีวิตร่วมกับคนอื่น ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณก็จะอยู่ในความทุกข์ยากตามลำพัง มันจะมีความทุกข์ยากที่จะผ่านเข้ามาในชีวิตเป็นช่วง ๆ (พระเยซูชี้ให้เห็น หลักการแห่งความทุกข์ยาก ว่าเป็นที่แห่งการทดสอบ เป็นที่ที่ทำให้เกิดคำพยานชีวิต และนำเราให้เผชิญหน้ากับศัตรู)
อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้จะเตือนเราเพื่อให้เข้ามาเชื่อมต่ออย่างถูกต้อง หากว่าเราแยกตัว ศัตรูอาจจะเข้าจู่โจมเรา
เราเดินเข้าไปสู่ความเศร้าโศก นี่จะกลายเป็นปีแห่งความโศกเศร้า ให้เราคว้าชัย บางครั้งเราต้องเดินในความทุกข์ยาก แต่ในความทุกข์ยากนั้นเรายังคงสามารถรับพระพรของแต่ละเดือนได้
ให้เราได้อธิษฐานว่า: “พระเจ้าข้า อย่าให้ข้าพระองค์พลาดโอกาสต่าง ๆ เนื่องจากชีวิตที่ขาดความวางใจของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงเข้ามาจัดการกับรากแห่งการถูกปฏิเสธในชีวิตของข้าพระองค์ พระองค์ประสงค์จะให้ข้าพระองค์เข้าสนิทกับพระองค์ และไม่แยกตัวตามลำพัง”

3.เดือนของความโชคดี รางวัลจะริ่มต้นปรากฎขึ้นเหนือสิ่งที่คุณคิดและสิ่งที่คุณทำ
"รางวัล" คือคุณจะได้เก็บเกี่ยวสิ่งที่คุณมีหว่าน ถ้าคุณไม่ลงแรงอย่างต่อเนื่อง คุณจะไม่ได้เห็นรางวัลของเพราะสิ่งเหล่านั้นจะสูญหายไป
คุณจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงการเผชิญความอุดมสมบูรณ์ ในฟิลิปปี 4:12 อัครทูตเปาโล กล่าวว่า
"ข้าพเจ้ารู้จักที่จะเผชิญกับความตกต่ำ และรู้จักที่จะเผชิญกับความอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าในกรณีใดๆข้าพเจ้ารู้จักเคล็ดลับที่จะเผชิญกับความอิ่มท้องและความอดอยาก ความสมบูรณ์พูนสุข และความขัดสน"

เริ่มต้นที่คิดถึง "ความอุดมสมบูรณ์"และ"ความมั่งมี" เริ่มต้นที่จะขอบคุณพระเจ้าสำหรับความมั่งคั่งของพระองค์และมองไปข้างหน้าว่าจะมีมากยิ่งขึ้น

4.เดือนที่องค์จอมกษัตราเสด็จมาอยู่กับเรา (The King in the field)
จงเข้าใกล้ชิดพระองค์และยอมให้พระพักตร์ของพระองค์ฉายแสงในชีวิตของคุณ คุณจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการที่จะเข้าใกล้ชิดพระองค์ ให้เราได้เข้าไปสู่ความยำเกรงพระเจ้า เพื่อพระองค์จะเทการทรงสถิตมาเหนือชีวิตของเรา จงรู้ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าทอดพระเนตรงานของคุณและทุกขอบเขตความรับผิดชอบของคุณ พระองค์ปรารถนาที่จะอวยพระพรทุกสิ่งที่คุณทำ

5.เดือนของตัวอักษรฮิบรู י "โยด"ซึ่งหมายถึง"ความเมตตาได้รับการจากพระหัตถ์ของพระเจ้า"

6.เดือนแห่งหญิงสาว
จากเพลงโซโลมอน 6:3 ตัวดิฉันเป็นกรรมสิทธิ์ของที่รักของดิฉัน และที่รักก็เป็นของดิฉัน

7.เดือนที่จะวิ่งไปสู่ป้อมปราการเข้มแข็ง
ความเข้มแข็งที่มากกว่าความสามารถของคุณที่จะห้อมล้อมคุณ เพราะคุณไม่ได้เข้มแข็งตลอดเวลา
สุภาษิต 18:10 พระนามของพระเจ้าเป็นป้อมเข้มแข็ง คนชอบธรรมวิ่งเข้าไปในนั้นและปลอดภัย แต่คุณจะไปที่นั้นและปลอดภัยในป้อมเข้มแข็งของพระองค์

8.เดือนแห่งการล่วงรู้ สัมผัสถึงสันติสุขที่อยู่ภายใน ให้เราหาเวลาที่จะจัดสิ่งต่างๆให้เข้าที่เข้าทาง


9.เป็นเดือนที่มีความสำคัญ การมีความเข้าใจตั้งแต่จุดเริ่มต้น ก็จะสามารถทำให้เราไปสู่ถึงเป้าหมายปลายทางได้

10.เดือนแห่งการซ่อมสิ่งที่แตกหักไป (ถ้าพระเจ้าไม่ได้บอกกับคุณ ว่าซ่อมแซมได้ สิ่งนั้นก็จะเสื่อมสลายและตายไป)

11.เป็นเดือนที่ระบบที่ซับซ้อน จะเริ่มต้นถูกจัดระบบ

12."เดือนแห่งมารดา" เดือนแห่งการบำรุงเลี้ยง นั้นคือเดือนแห่งอัครทูต เช่นเดียวกับเดือนอับ (Av)
คุณกำลังดูแลใครและใครคือผู้ที่คอยดูแลคุณ?

13.เดือนที่นางเรเบคาห์ให้กำเนิดยาโคบและเอซาว คุณจะให้กำเนิดการอวยพร หรือ ให้กำเนิดสิ่งที่พระเจ้าจะเกลียดชัง ใครกำลังชิงชัยกับคุณ?

14.เดือนแห่งมือซ้าย ซึ่งควบคุมการรับรู้แห่งการกระทำและควบคุมอารมณ์ดีร้าย

คุณต้องแน่ใจว่าอารมณ์ของคุณอยู่ในสภาพที่ดี และยอมให้การกระทำที่ดีออกมาจากอารมณ์ที่ดี

ความเข้าใจเกี่ยวกับผลแรกในวันต้นเดือน (Rosh Chodesh)

มีคำถามสำหรับคริสเตียนในเรื่องของผลแรกในวันต้นเดือน (Rosh Chodesh) ว่ามีที่มาอย่างไร และเราจะต้องทำอย่างไรบ้าง?

ในวันนี้ผมขอสรุปคำสอนจากอ.นิมิต พานิช ศบ.คริสตจักรแห่งพระบัญชา(UCC)และคำสอนจากDr.Rober Heidler ในสัมมนา Issachar school#1 มาเพื่ออธิบายดังนี้นะครับ

ผลแรกในวันต้นเดือน (Rosh Chodesh)
(คำว่า Rosh Chodesh רֹאשׁ חֹדֶשׁ ให้ความหมายตามตัวอักษรคือ คำว่า Rosh หมายถึง Head หัว การเริ่มต้น คำว่า Chodesh หมายถึง Month เป็นการเริ่มต้นของเดือนใหม่ (Head of the month)ยังให้ความหมายถึงการชำระ (sanctification)เป็นการชำระชีวิตในบริสุทธิ์)



พระเจ้าประสงค์ให้เราเติบโตขึ้นในเรื่องผลแรกในทุก ๆ ด้าน รวมถึงเรื่องผลแรกของเวลาด้วยเช่นกันพระเจ้ากำหนดให้มีวงจรแห่งเดือนขึ้น คนมากมายไม่รู้ไม่เข้าใจว่าการเคลื่อนตัวของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวนั้นมีความหมายพระวจนะบอกว่า ดวงสว่างบนฟ้าเป็นหมายสำคัญ(sign) ที่จะบอกให้รู้ว่าอยู่ในฤดูกาลใดนั่นคือ บอกให้รู้ว่า ถึงวาระ ฤดู ที่จะต้องทำสิ่งใด

ปฐก. 1:14 พระเจ้าตรัสว่า “จงมีดวงสว่างบนฟ้า เพื่อแยกวันออกจากคืน ให้ดวงสว่างเป็นหมายกำหนดฤดู วัน ปี
Gen. 1:14 God said, “Let there be lights in the expanse of the sky to separate the day from the night, and let them be signs to indicate seasons and days and years,

คนยิวในสมัยก่อน ดู sign เรื่องเวลาของพระเจ้า ว่าพระเจ้าเคลื่อนให้ทำอะไร โดยมองขึ้นไปบนท้องฟ้าพวกเขาทำความเข้าใจกับการเคลื่อนของดวงสว่างบนฟ้าแต่อำนาจมืดได้ทำให้คนหลงไป ด้วยการครอบงำ บิดเบื้อนให้กลายเป็นเรื่องโหราศาสตร์และเมื่อพูดถึงเรื่องดวงดาว คริสเตียนกลับรีบปฏิเสธ เพราะความกลัวว่าจะไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องพวกนั้น
แต่แท้จริง พระเจ้าเป็นผู้สร้างดวงสว่างและกำหนดความหมายที่ซ่อนอยู่ในการเคลื่อนตัวของดวงสว่างบนฟ้าเหล่านั้นโดยสิ่งทรงสร้างเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องของเวทมนตร์ ความบาป แต่อย่างใด เพราะพระเจ้าสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา แต่ทว่ามารซาตานได้ขโมย บิดเบือนและใช้สิ่งเหล่านั้นเพื่อให้คนหลงไปจากการศึกษาในประวัติศาสตร์ของคนยิว พบว่า ตามธรรมศาลามากมายในช่วงศตวรรษแรกนั้น มีเครื่องหมายจักราศี หรือรูปดวงดาวที่ประดับอยู่ตามพื้นในธรรมศาลาด้วยซ้ำ   แต่มารได้บิดเบือนให้กลายเป็นเรื่องโหราศาสตร์ คือ ความพยายามที่จะพยากรณ์อนาคตจากดวงดาวเพื่อรับการสำแดง โดยไม่ได้พามนุษย์เข้าไปเสาะหาหน้าพระเจ้า และฟังเสียงของพระองค์ โหราศาสตร์เป็นการทำนายที่เป็นความบาป

เมื่อเราดูโหราศาสตร์เราก็ไม่เชื่อฟังพระเจ้าและเปิดประตูให้มารซาตานเข้ามาครอบงำในชีวิตพระวจนะบอกเราอย่างชัดเจนว่า ดวงสว่างเป็นหมายกำหนดฤดู วัน ปีทำให้รู้ว่า ต้องทำอะไรแล้วคำว่า หมาย หรือ sign ที่ปรากฏในพระธรรมตอนนี้ ในรากศัพท์ภาษาฮีบรูมาจากคำว่า oth หมายถึง warning ดังนั้น เราจึงรู้จากการมองไปบนท้องฟ้า ว่า พระเจ้าเตือนให้ทำอะไรเช่นเดียวกับที่พระคัมภีร์หลาย ๆ ตอนกล่าวไว้ว่า ในวาระสุดท้ายนั้น there will be signs in the sky
กจ. 2:19 เราจะสำแดงการอัศจรรย์ในอากาศเบื้องบน และนิมิตที่แผ่นดินเบื้องล่าง เป็นเลือด ไฟ และไอควัน
มธ. 24:30 เมื่อนั้นนิมิตแห่งบุตรมนุษย์ จะปรากฏขึ้นในท้องฟ้า มนุษย์ทุกชาติทั่วโลกจะตีอกร้องไห้ แล้วจะเห็นบุตรมนุษย์เสด็จมาบนเมฆในท้องฟ้า ทรงฤทธานุภาพและพระสิริเป็นอันมาก
ส่วนอีกคำหนึ่ง คือคำว่า ฤดู ใน ปฐก.1:14 ที่ได้กล่าวไปนั้น ในภาษาฮีบรูมาจากคำว่า Mo’ed หมายถึง appointed time คือ เวลาที่ถูกกำหนดไว้ เป็นเวลาที่พระเจ้านัดหมายเราไว้ เป็นเวลาฤดูกาลที่จะพบพระองค์ ฟ้าสวรรค์สำแดงเวลาของพระเจ้า คนยิวเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี เมื่อคนยิวต้องการที่จะรู้ว่า นี่เป็นวันอะไร มีเทศกาลอะไรไหม เขาแหงนหน้ามองท้องฟ้าพระเจ้าได้กำหนดดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ในฟ้าสวรรค์ เพื่อจัดตั้งระเบียบเวลาของพระองค์ไว้ในชีวิตของเรา ทำให้รู้ว่าถึงวาระ เวลา ฤดูกาลใด ต้องทำสิ่งใดท้องฟ้าจึงเป็นดังนาฬิกาของคนยิวทุกเดือนคนยิวจ้องดูท้องฟ้า รอเวลาที่ดวงจันทร์ ดวงใหม่ปรากฏขึ้นอีกครั้งและเมื่อถึงวันขึ้นค่ำ
เมื่อดวงจันทร์ดวงใหม่เกิดขึ้น พวกเขาก็ป่าวประกาศ่เสียงดังว่า “เดือนใหม่เริ่มต้นขึ้นแล้ว”นั่นเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นการเฉลิมฉลองด้วยความชื่นชมยินดี เรียกว่า "โรช โคเดช (Rosh Chodesh)" ซึ่งเป็นเวลาที่เขาจะมาอยู่รวมกัน กับผู้เผยพระวจนะ และฟังเสียงพระเจ้าที่จะให้ทิศทางในเดือนนั้นRosh Chodesh ถือเป็น head of the month เป็นวันต้นเดือนนั้นพระวจนะในพระคัมภีร์เดิม ทำให้เราเห็นภาพ Rosh Chodesh ชัดเจน ถึงเวลาต้นเดือน ที่เราสามารถสนองตอบโดยทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นผลแรกของเวลา แด่พระเจ้า คือ

1)ให้เราเฉลิมฉลองต้นเดือน ด้วยความสุข ความชื่นชมยินดี
ฮชย. 2:11 เราจะให้ความร่าเริงของนางสิ้นสุดลง ทั้งเทศกาลเลี้ยง เทศกาลขึ้นหนึ่งค่ำ วันสะบาโต และบรรดาเทศกาลทั้งสิ้นของนาง

สดด.81:3-7
3จงเป่าแตรเมื่อวันขึ้นค่ำ เมื่อวันเพ็ญ ณ วันการเลี้ยงของเรา
4 เพราะเป็นกฎเกณฑ์สำหรับอิสราเอล เป็นระเบียบของพระเจ้าแห่งยาโคบ
5 พระองค์ทรงกระทำให้เป็นคำสั่งในโยเซฟ เมื่อพระองค์ทรงออกไปสู่แผ่นดินอียิปต์ ข้าพเจ้าได้ยินเสียงซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยรู้จัก
6 ว่า “เราผ่อนบ่าของเขาจากภาระ มือของเขา เราให้เป็นอิสระพ้นกระจาด
7 เมื่อทุกข์ใจเจ้าเรียก เราก็ช่วยกู้เจ้า เราตอบเจ้าในที่ลับลี้ของฟ้าร้อง เราได้ทดลองเจ้าที่น้ำ ณ เมรีบาห์

2) ให้เราหยุดพักหายเหนื่อย - พักสงบจิตใจ จิตวิญญาณ
ในสมัยก่อน ในวันขึ้นค่ำ หรือต้นเดือนนั้น เขาจะไม่ทำการงาน แต่จะให้เป็นวันหยุดพักจากการงานที่เหนื่อยล้า
อมส.8:55 โดยกล่าวว่า “เมื่อไรหนอ วันขึ้นค่ำจะหมดไป เราจะได้ขายข้าวของเรา เมื่อไรหนอวันสะบาโตจะพ้นไป เราจะได้เอาข้าวสาลีออกขาย เราจะได้กระทำทะนานให้ย่อมลงและกระทำเชเขลให้โตขึ้น และหลอกค้าด้วยตาชั่งขี้ฉ้อ

3) ให้เรามอบถวายเป็นพิเศษแด่พระเจ้า
กดว.28:11-15
11 “เวลาต้นเดือนทุกเดือน เจ้าทั้งหลายจงถวายเครื่องเผาบูชาแด่พระเจ้า คือวัวหนุ่มสองตัว แกะผู้ตัวหนึ่ง ลูกแกะผู้หนึ่งขวบ ไม่มีตำหนิเจ็ดตัว
12 สำหรับวัวตัวหนึ่งจงเอายอดแป้งสามในสิบเอฟาห์คลุกน้ำมัน สำหรับเป็นธัญญบูชาและสำหรับแกะผู้ตัวหนึ่งนั้นจงเอายอดแป้งสองในสิบคลุกน้ำมันเป็นธัญญบูชา
13 สำหรับลูกแกะทุกตัวจงเอายอดแป้งหนึ่งในสิบคลุกน้ำมันเป็นธัญญบูชา ให้เป็นเครื่องเผาบูชาเป็นกลิ่นที่พอใจ เป็นเครื่องบูชาด้วยไฟถวายแด่พระเจ้า
14 ส่วนเครื่องดื่มบูชาคู่กันนั้น สำหรับวัวผู้ตัวหนึ่งจงเอาเหล้าองุ่นครึ่งฮิน สำหรับแกะผู้ตัวหนึ่งจงเอาหนึ่งในสามฮิน สำหรับลูกแกะตัวหนึ่งจงเอาหนึ่งในสี่ฮิน นี่เป็นเครื่องเผาบูชาประจำเดือน ทุกเดือนตลอดปี
15 และเอาแพะผู้ตัวหนึ่งเป็นเครื่องบูชาไถ่บาปถวายแด่พระเจ้า ให้นำมาบูชานอกเหนือเครื่องเผาบูชาเนืองนิตย์และเครื่องดื่มบูชาคู่กัน สิ่งที่เราทำคือการถวายผลแรกและเราจะได้รับพระพรจากพระเจ้า

สภษ 3:9-10
9 จงถวายเกียรติแด่พระเจ้าด้วยทรัพย์สินของตน และด้วยผลแรกแห่งผลิตผลทั้งสิ้นของเจ้า
10 แล้วยุ้งของเจ้าจะเต็มด้วยความอุดม และบ่อเก็บของเจ้าจะล้นด้วยเหล้าองุ่น

เมื่อโรช โคเดช คือ เวลาต้นเดือนของเราที่ได้มอบให้กับพระเจ้า คือ มอบเวลาของเราแสวงหาการทรงนำ แสวงหาการพักสงบ และเฉลิมฉลองด้วยความชื่นชมยินดี เราจะเห็นการอวยพรตามมาอย่างมากมาย

โรชโคเดช เป็นเวลาไครอส(การแทรกแซงของพระเจ้า)ที่พระเจ้าจะชำระให้ทั้งเดือนบริสุทธิ์ เพื่อพระพรเต็มขนาดของพระเจ้าจะถูกปลดปล่อยให้แก่เราได้  โรชโคเดชเป็นการเฉลิมฉลองผลแรก โดยการให้พระเจ้าสิ่งแรกของแต่ละเดือน เพื่อพระองค์จะสามารถปลดปล่อยพระพรของพระองค์แก่เราตลอดทั้งเดือนนั้น

การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันคือ (สามารถประยุกต์ตามความเหมาะสมแต่ละคริสตจักร)

1.จัดให้มีการนมัสการอธิษฐานร่วมกันในช่วงต้นเดือน เช่น ใน UCC ของเราก็มีการอธิษฐานในรอบวันอาทิตย์ต้นเดือนในช่วงรอบบ่าย

2.จัดให้มีการถวายผลแรก เพื่อเป็นการขอบคุณพระเจ้า
การถวายผลแรกคือการที่สมาชิกคริสตจักรได้รับเงินรายได้ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน นำเงินส่วนนี้มาถวายในคริสตจักรและให้อ.นิมิต เป็นดังปุโรหิต อธิษฐานปลดปลอยพระพรให้กับสมาชิก
ฉธบ.26:2-3
2 ท่านจงเอาผลแรกทั้งหมดซึ่งท่านเกี่ยวเก็บมาจากแผ่นดินของท่าน ซึ่งพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านประทานแก่ท่าน จงนำผลนั้นใส่กระจาด นำไปยังที่ซึ่งพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านทรงเลือกไว้ เพื่อให้พระนามของพระองค์ประทับที่นั่น
3 ท่านจงไปหาปุโรหิตผู้ประจำเวรอยู่ในเวลานั้น และกล่าวแก่เขาว่า "ข้าพเจ้ายอมรับในวันนี้แด่พระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านว่า ข้าพเจ้าได้เข้ามาในแผ่นดินซึ่งพระเจ้าทรงปฏิญาณแก่บรรพบุรุษว่าจะประทานแก่เราทั้งหลาย"

3.ในภาพส่วนตัว ใช้เวลาในช่วงต้นเดือนอธิษฐานสารภาพบาป
เราสามารถใช้เวลาช่วงต้นเดือนอธิษฐานสารภาพบาป ขอพระเจ้าชำระชีวิตของเราแต่ละคน เพื่อให้พระเจ้าอวยพระพรตลอดทั้งเดือน  เป็นการเตรียมชีวิต เรียกว่า  "ตั้งสติก่อนสตาร์ทในแต่ละเดือน"
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะมีความเข้าใจในเรื่อง ผลแรกในวันต้นเดือน (Rosh Chodesh) นี่คือสิ่งที่จะเป็นช่วงเวลาแห่งพระพรที่พระเจ้าปรารถนาจะอวยพระพรคนของพระองค์ เมื่อเรากระทำสิ่งเหล่านี้ ผมเชื่อว่าพระเจ้าจะอวยพรตามหลักการที่พระองค์ทรงกำหนดไว้

ขอพระเจ้าอวยพระพรครับ

08 สิงหาคม 2555

แม่ผู้รักคุณเท่าฟ้า


สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน ในวันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันสำคัญของปวงชนชาวไทย เพราะเป็น วันเฉลิมพระชนม์พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และเป็นวันแม่แห่งชาติที่เราจะเทิดทูนพระคุณของคุณแม่ด้วยกัน

ในปีนี้ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติปี 2555 เพื่ออัญเชิญลงหนังสือวันแม่แห่งชาติปี 2555 ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ความว่า


มือของแม่นั้นคือมือช่างปั้น 
ขึ้นรูปอันอ่อนลออจนหล่อเหลา 
อยากให้เป็นงานดีที่งามเงา 
อยู่ที่คอยขัดเกลาแต่เบามือ

เมื่อกล่าวถึงคุณแม่ คุณแม่จึงเป็นผู้ให้ชีวิต เป็นผู้ปั้นแต่งชีวิตเราแต่ละคนดั่งช่างปั้นดินให้เป็นภาชนะที่สวยงาม และสามารถนำไปใช้สอยได้
หากเปรียบเทียบคุณครูเป็น "แม่พิมพ์ของชาติ"
คุณแม่คงเป็น “แม่แบบ”ในการสร้างตามรูปแบบที่ถ่ายทอดจากชีวิตของท่าน

สำหรับผมแล้ว คุณแม่เป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการสนับสนุนและให้การดูแลมาตั้งแต่เด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ คุณแม่ก็ยังคอยห่วงใยและให้การช่วยเหลือเสมอ

ผมภูมิใจที่ใครๆก็ว่า ผมเหมือนแม่ แม้อาจจะไม่ใช่ที่หน้าตา แต่เป็นความคิด ความอ่าน หรือ การดำเนินชีวิต เพราะผมเป็นลูกของแม่ ที่แม่สอนไว้

หากกล่าวถึงเรื่องแม่ในช่วงนี้ คงจะเป็นประเด็นที่พูดกันโจษจันสนั่นเมือง(Talk of the town) นั่นคืออิทธิพลจากละครหลังข่าว (Soap Opera) ที่บางคนอาจจะล้อว่าเป็นละครน้ำเน่า แต่แฟนละครก็จะบอกว่า “แม้น้ำเน่าก็ยังเห็นเงาจันทร์” อย่างไรก็ตามละครก็สะท้อนสังคม ทำให้เราได้ข้อคิดหากเราเลือกที่จะนำมาใช้ให้ถูกต้อง ไม่ใช่เอาแต่เพ้อฝันไปตามเหล่าดาราซุป’ตาร์ (Superstar) หรือ เหล่าคนที่มีชื่อเสียง(Celebrity)

เรื่องที่ผมกล่าวถึงคือละครเรื่อง “รักคุณเท่าฟ้า” เป็นหนังที่พระเอกคือ คุณเคน ธีระเดช รับบทเป็นกัปตันธีระ กัปตันบนเครื่องบินที่หล่อมาก เป็นที่หลงใหลของสาวๆที่เป็นแอร์โฮสเตส หรือเหล่านางฟ้าที่มารุมชอบ จนกลายเป็นสงครามนางฟ้า
ในเรื่องกัปตันธีระต้องรับภาระในการดูแลแม่ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน แต่หนักใจเมื่อสาวๆที่เข้ามาในชีวิตของลูกชาย ไม่มีใครถูกใจเธอ เธอเรียกร้องความรักจากลูกชาย ไม่ยอมให้ลูกชายคนโปรดได้แต่งงาน ยอมแม้เอาตัวเข้าเสี่ยงขัดขวางงานแต่งงานของลูก  แต่ความจริงแล้วในเรื่องนี้เป็นมุมมองที่มองต่างมุม ความเป็นแม่ที่อยากให้ลูกได้กับคนที่ดีที่สุด แม้ว่าคนที่เป็นลูกมีความขัดแย้งบ้าง แต่ความรักของแม่ลูกก็เป็นสิ่งที่สวยงาม
ผมเชื่อว่าแม่ทุกคนมีความรักและหวังดีให้กับลูก แม้จะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางก็ตาม  เราจะเห็นได้ว่าแม้ว่าคุณแม่ในโลกนี้จะมีความรักลูกอย่างไม่ถูกทาง มีความห่วงและหวงลูกจนทำให้เกิดปัญหา

ในหลักการพระคริสตธรรมคัมภีร์ได้ให้หลักการครองเรือนของคู่สมรสว่า

ปฐก.2:24 เพราะเหตุนั้นผู้ชายจึงจากบิดามารดาของตนไปผูกพันอยู่กับภรรยา และเขาทั้งสองจะเป็นเนื้อเดียวกัน
 ดังนั้นเมื่อลุกแต่งงานมีครอบครัว ต้องมีความเป็นผู้ใหญ่ และผู้ที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ก็ให้คำแนะนำและสนับสนุนอยู่ห่างๆ เพื่อเปิดทางให้รับผิดชอบครอบครัว

พระเจ้าทรงสร้างแม่เพื่อแสดงความรักของพระองค์ในโลกนี้ ดังสุภาษิตของคนยิว กล่าวว่า
"God could not be everywhere and therefore he made mothers." "เพราะพระเจ้าไม่อาจอยู่ทุกที่บนโลกใบนี้ได้ จึงสร้าง "แม่" ขึ้นมาเป็นตัวแทน"
ฉะนั้นคุณแม่จึงเป็นตัวแทนความรักของพระเจ้าในโลกนี้ แม้พระองค์ไม่ได้อยู่ในโลกแต่ทรงอุ้มชูและดูแลโลกเสมอ ในพระคริสตธรรมคัมภีร์กล่าวถึง "เอวา" ผู้ซึ่งเป็นคุณแม่คนแรกของโลก ว่าเป็นผู้ให้ชีวิต
ปฐก. 3:20 ชายนั้นเรียกภรรยาของตนว่าเอวา {ศัพท์นี้เหมือนคำที่แปลว่า มีชีวิตอยู่} เพราะนางเป็นมารดาของปวงชนที่มีชีวิต
ทั้งนี้เพราะ “แม่” คือผู้สร้างชีวิตลูก เป็นบุคคลสำคัญที่สมควรได้รับการยกย่อง เป็นผู้ที่มีความรักและความเสียสละต่อลูกเสมอ และมีส่วนสำคัญในการสร้างอนาคตชีวิตของลูก

ผมได้ข้อคิดจาก Facebook ทีนิยามคำว่า แม่ -MOTHER ที่น่าสนใจคือ

M = Million of thing to give   แม่คือผู้ให้ทุกสิ่ง
O = Obey God first             แม่คือผู้ที่เชื่อฟังพระเจ้าเป็นอันดับแรก
T = Teach with tears           แม่คือผู้สั่งสอนด้วยน้ำตา
H = Heart of purest            แม่คือผู้มีหัวใจบริสุทธิ์ผุดผ่อง
E = Eyes of love               แม่คือผู้ที่มีตาแห่งความรัก
R = Righteousness              แม่คือผู้ชอบธรรมของพระเจ้า

  สำหรับในพระวจนะของพระเจ้าได้กล่าวถึงแบบอย่างของแม่ที่ดีไว้มากมาย ผมเคยได้ยกตัวอย่างแม่ในพระคัมภีร์ที่เป็นแบบอย่างอยู่ในทำเนียบแม่ดีเด่น  3 บุคคล ดังต่อไปนี้
(จากบทความ : ความรัก “ตัวแม่”)

1.นางยูนีส-คุณแม่ อบรมลูกในทางพระเจ้า
ยูนีสเป็นแม่ของทิโมธี พระคัมภีร์กล่าวถึงทิโมธีว่าเป็นผู้ที่มีความเชื่ออย่างจริงใจเหมือนกับยายและแม่ของเขา (2ทธ.1:5) และเป็นบุคคลที่ได้เรียนรู้พระวจนะพระเจ้ามาตั้งแต่เด็ก จนมีความเชื่อที่มั่นคง
2.นางฮันนาห์-คุณแม่ที่ส่งเสริมลูกในทางพระเจ้า
ฮันนาห์เป็นแม่ของซามูเอล เธอมีความโดดเด่นในด้านการส่งเสริมลูกในทางของพระเจ้า คือได้มอบถวายซามูเอลไว้แด่พระเจ้า และพาซามูเอลเข้าไปในพระวิหารตั้งแต่เด็ก(1ซมอ.1:26-28)จนเมื่อเติบโตขึ้นซามูเอลได้กลายเป็นผู้เผยพระวจนะที่ยิ่งใหญ่และมีผลมากต่อชนชาติอิสราเอล
3.นางสะโลเม คุณแม่ที่เป็นแบบอย่างในทางพระเจ้า
เธอเป็นแม่ของยอห์นและยากอบบุตรเศเบดี เธอมีความรักที่มั่นคงต่อพระคริสต์ และเป็นแบบอย่างแก่คนทั้งหลายในการติดตามพระเจ้า (มก.15:40,16:1) ยอห์นและยากอบก็เป็นผู้ที่ติดตามพระเจ้าอย่างเหนียวแน่นตลอดชีวิตของพวกเขาเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีคุณแม่ผู้ห่วงใยรักลุกแม้ว่าพระคัมภีร์ม่ได้ระบุชื่อเอาไว้คือ "หญิงม่ายชาวเมืองศาเรฟัท"ในพระธรรม 1พกษ.17:17-24 พระธรรมตอนนี้กล่าวถึงหญิงม่ายชาวเมืองศาเรฟัท ผู้เสียลูกชายไปเนื่องจากความเจ็บป่วย หญิงม่ายผู้นี้มีความรักและความห่วงใยต่อลูกของนางอย่างมาก เมื่อลูกของนางเสียชีวิต นางแสดงออกถึงความเศร้าโศกและพยายามช่วยเหลือลูกอย่างถึงที่สุด โดยขอความช่วยเหลือจากเอลียาห์ 
นี่คือความรักของแม่ที่แผ่ไพศาล จนเป็นที่เล่าขานกันต่อไปแม้จะผ่านมาหลายชั่วอายุคนแล้ว


สิ่งที่ลูกควรที่จะตอบแทนพระคุณของแม่คือ "การเป็นคนดีเพื่อแม่” จากพระธรรม สภษ.23:22-25 ได้ให้วิธีการที่ให้ลูกประพฤติตัวอย่างเหมาะสมต่อบิดามารดา จากพระวจนะตอนนี้เป็นแนวทางภาคปฏิบัติถึงสิ่งดีงามที่เราพึงปฏิบัติต่อบิดามารดาของเรา ดังนี้
สภษ. 23:22-25
22 จง​ฟัง​บิดา​ของ​เจ้า​ผู้ให้​กำเนิด​เจ้า และ​อย่า​ดู​หมิ่น​มารดา​ของ​เจ้า​เมื่อ​นาง​แก่
23 จง​ซื้อ​ความ​จริง​และ​อย่า​ขาย​ไป​เสีย จง​ซื้อ​ปัญญา วินัย และ​ความ​รอบ​รู้
24บิดา​ของ​คน​ชอบธรรม​จะ​เปรม​ปรีดิ์​อย่าง​ยิ่ง บุคคล​ผู้ให้​เกิด​บุตร​ชาย​ที่​ฉลาด​จะ​ยินดี​ด้วย​กัน​กับ​เขา
25 จง​ให้​บิดา​มารดา​ของ​เจ้า​ยินดี จง​ให้​ผู้​ที่​คลอด​เจ้า​เปรม​ปรีดิ์

1.ตั้งใจเชื่อฟัง (ข้อ 22)
พระวจนะกล่าวว่า จงฟังผู้ให้กำเนิด คำว่า “จงฟัง” มาจากรากศัพท์ภาษาฮีบรู หมายถึง การฟังด้วยความใส่ใจ ซึ่งสะท้อนว่า ลูกจะต้องให้ความสำคัญต่อคำสอน คำแนะนำของบิดามารดา ไม่ปล่อยให้คำสอนผ่านไปอย่าง ไร้ความหมาย การฟังอย่างใส่ใจก่อให้เกิดปัญญา เพราะคำสอนของท่านล้วนเป็นประโยชน์ต่อชีวิตลูก

2.ให้เกียรติ (ข้อ 22) 
พระวจนะกล่าวต่อไปว่า “อย่าดูหมิ่นมารดาของเจ้าเมื่อนางแก่” การดูหมิ่น คือ การไม่ให้เกียรติ ไม่ให้ความเคารพนับถือ สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นกับลูก เพราะไม่เข้าใจถึงสภาพที่เปลี่ยนไปทั้งร่างกายและจิตใจของบิดามารดาเมื่อท่านอายุมากขึ้น ลูกบางคนอาจรำคาญใจต่อคำพูด หรือ การกระทำของท่านที่ช่วยตนเองได้น้อยลงตามสภาวะร่างกาย อย่างไรก็ตาม พระวจนะเตือนสติลูกทุกคนให้นบนอบ ให้เกียรติบิดามารดาเสมอ

3.เห็นคุณค่าและยึดมั่นความจริงแห่งพระวจนะ (ข้อ 23)
พระวจนะกล่าวว่า “จงซื้อความจริงและอย่าขายไป” คำว่า “จงซื้อ” ในภาษาเดิมให้ความหมายถึงการเห็นคุณค่า การพยายามที่จะครอบครองหรือเป็นเจ้าของ ส่วนคำว่า “อย่าขาย” ให้ภาพของการยึดไว้ให้มั่น พระวจนะเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ทุกคนจึงควรขวนขวายที่จะได้มา และเมื่อได้มาแล้วต้องยึดมั่นไว้ โดยพยายามที่จะดำเนินชีวิตในความชอบธรรมที่พระวจนะสอนไว้ สิ่งนี้จะนำความจำเริญมาถึงชีวิตของลูกๆ รวมทั้งผู้เชื่อทุกคน

4.ทำให้แม่มีความยินดี (ข้อ 24-25)

พระวจนะกล่าวต่อไปว่า “จงให้บิดามารดาของเจ้ายินดี จงให้ผู้ที่คลอดเจ้าเปรมปรีดิ์” ลูกที่ดีจะกระทำตนให้บิดามารดามีความยินดี ไม่กระทำให้ท่านผิดหวังหรือทุกข์ใจ พระคัมภีร์กล่าวว่า “บิดาของคนชอบธรรมจะเปรมปรีดิ์อย่างยิ่ง” หากเราเป็นคนดี ดำเนินอยู่ในทางชอบธรรม บิดามารดาจึงมีความสุข ความชื่นชมยินดี ซึ่งไม่ใช่ความยินดีเพียงเล็กๆ น้อยๆ แต่พระวจนะบอกว่า เป็นความเปรมปรีดิ์อย่างยิ่ง

ในช่วงเทศกาลวันแม่ปีนี้ ถึงเวลาทีเราจะใช้โอกาสแสดงความรักและเทิดทูนพระคุณของแม่ ด้วยการทำสิ่งที่ดีเพื่อท่าน ความจริงแล้วเราสามารถแสดงความรักให้กับคุณแม่ของเราได้ทุกวันที่มีโอกาส แต่ในเทศกาลวันแม่ถือเป็นโอกาสพิเศษ เพราะความรักของแม่นั้นยิ่งใหญ่ รักเราเท่าฟ้า

ผมชอบบทเพลงใครหนอ ที่ร้องถึง ความรักของแม่ว่า "จะเอาโลกมาทำปากกา แล้วเอานภามาแทนกระดาษ เอาน้ำหมดมหาสมุทรแทนหมึกวาด ประกาศพระคุณไม่พอ"

ความรักที่ยิ่งใหญ่เท่าฟื้นฟ้าเปรียบได้กับความรักของแม่ ที่ไม่สามารถสรรหาคำใดมาบรรยายได้ แต่ในวันนี้อย่ารอให้ฟ้าเปลี่ยน หรือเวลาจะหมุนไป ให้เรารักคุณแม่ให้เท่าฟ้า และตราบนานเท่านานจนกว่าฟ้าจะดับสูญ 
วันนี้หากคุณแม่ของเรายังอยู่ อย่าอายที่จะบอกรักแม่ และทำสิ่งที่ดีให้กับท่านก่อนที่เราจะไม่มีโอกาส

03 สิงหาคม 2555

สะบาโต หยุดพักสงบ พบพระพร

“Shabbat Shalom…!(ชาบัท ชาโลม)
สุขสันต์วันสะบาโต สันติสุขอยู่ท่ามกลางเราในวันแห่งการพักสงบ
นั่นเป็นการคำกล่าวอวยพรกันและกันในวันสะบาโตซึ่งเป็นหยุดของคนอิสราเอล ซึ่งตามธรรมเนียมนั้นจะเริ่มในเย็นวันศุกร์ไปจนถึงเย็นวันเสาร์ แต่สำหรับคริสตชนนั้นมีจะไปนมัสการพระเจ้าในคริสตจักรในวันอาทิตย์ หากศึกษาตามประวัติศาสตร์
คริสเตียนในยุคแรกๆ ก็ถือสะบาโตเป็นวันเสาร์เช่นเดียวกับชาวยิว เนื่องจากคริสเตียนในยุคแรกก็เป็นชาวยิวด้วย คริสเตียนเปลี่ยนมาถือสะบาโตเป็นวันอาทิตย์ ทั้งนี้เพราะว่าจักรพรรดิ์คอนสแตนตินได้ “เปลี่ยน” วันสะบาโตจากวันเสาร์มาเป็นวันอาทิตย์ในปีค.ศ.321 จึงเป็นแนวทางในการปฏิบัติกันมา รวมถึงวันอาทิตย์เป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ของประเทศต่างๆทั้งในยุโรปและทวีปอื่นๆทั่วไป
วันสะบาโตเป็นวันที่ถูกกำหนดไว้สำหรับคนอิสราเอล วันสะบาโตยังคงเป็นวันเสาร์ ไม่ใช่วันอาทิตย์ และไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย แต่วันสะบาโตเป็นส่วนหนึ่งของธรรมบัญญัติในพันธสัญญาเดิม และคริสตเตียนเป็นอิสระแล้วจากพันธนาการแห่งธรรมบัญญัติ (กท.4:1-26;รม.6:14)
รม.6:14 เพราะว่าบาปจะครอบงำท่านทั้งหลายต่อไปก็หามิได้ เพราะว่าท่านทั้งหลายมิได้อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ แต่อยู่ใต้พระคุณ
การรักษาวันสะบาโตไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องสำหรับคริสเตียน ไม่ว่าจะเป็นวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ วันแรกของสัปดาห์(วว.1:10) อัครทูตเปาโลบอกว่าคริสเตียนแต่ละคนควรตัดสินใจว่าจะรักษาวันสะบาโตหรือไม่ “คนหนึ่งถือว่าวันหนึ่งดีกว่าอีกวันหนึ่ง แต่อีกคนหนึ่งถือว่าทุกวันเหมือนกัน ขอให้ทุกคนมีความแน่ใจในความคิดเห็นของตนเถิด” (รม.14:5) เราสมควรที่จะนมัสการพระเจ้าทุกวัน ไม่ใช่เพียงแค่วันเสาร์หรือวันอาทิตย์เท่านั้น

สำหรับความคิดของผมแล้ว ทุกวันก็เป็นวันที่ดีในสายพระเนตรพระเจ้า เราคงไม่มาถกถียงกันเรื่องวันสะบาโตเป็นวันไหน แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องมีสักวันหนึ่งในรอบ 1 สัปดาห์ที่ต้องพักสงบ
เราต้อง "พักใจ" ก่อนเพื่อจะทำให้เราได้ "พักจริง" เพราะบางครั้งเรามัวแต่สาละวนทำงานจนสับสนไม่มีเวลาพัก แม้แต่ผู้นำคริสตจักรเองก็ตาม  บางครั้งในวันอาทิตย์ที่เป็นวันสะบาโต กลับต้องทำงานหนัก ยืนต้อนรับและทำงานรับใช้จนปวดเมื่อยตัวตลอดทั้งวัน  วันอาทิตย์จะกลายเป็นวัน “สะบ้าโต” เดินไปเดินมาจนลูกสะบ้าหัวเข่าอักเสบ พอจบวันอาทิตย์กลับบ้านไปต้องไปนอน "พักสลบ"ที่เตียงนอน

ไม่ว่าวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ เป็นวันสะบาโต เราคงจะไม่ต้องมาถกเถียงกัน เพราะแท้จริงแล้ว พระเจ้าทรงกำหนด "วันสะบาโตเพื่อมนุษย์ ไม่ใช่กำหนดมนุษย์เพื่อสะบาโต"(มก.2:27)

ในความคิดของผม คือ"วันอาทิตย์เป็นวันประชุมบริสุทธิ์" หรือจะเรียกว่า "Holy day" หมายถึงวันหยุด (Holiday)ที่เราหยุดพักจากการงานเพื่อได้มาสามัคคีธรรมกับพระเจ้าและพี่น้องในคริสตจักร เป็นวันที่มีการมาร่วมนมัสการพระเจ้าด้วยกัน และร่วมประชุมกันเพื่อเสริมสร้างชีวิตในฝ่ายวิญญาณร่วมกัน เตรียมชีวิตเฝ้ารอคอยการเสด็จกลับมาของพระเจ้าร่วมกัน ดังที่ในพระธรรมฮีบรูตักเตือนไว้ว่า "อย่าขาดการประชุม"
ฮบ.10:25 อย่าขาดการประชุม เหมือนอย่างบางคนที่ขาดอยู่นั้น แต่จงพูดหนุนใจกันให้มากยิ่งขึ้นเพราะท่านทั้งหลายก็รู้อยู่ว่าวันนั้นใกล้เข้ามาแล้ว 

ฉะนั้นจึงมีความสำคัญที่เราในฐานะคริสตชนต้องมาร่วมประชุมกันในวันอาทิตย์ หรือวันไหนๆที่คริสตจักรจัดขึ้น เพื่อมาประชุมร่วมกัน แต่เราควรจะเห็นคุณค่าการสามัคคีธรรมร่วมกันดังเช่นคริสตจักรสมัยแรกในพระธรรมกิจการฯมีการสามัคคีธรรมร่วมกันทุกวัน

สำหรับผมในฐานะผู้รับใช้พระเจ้าเต็มเวลา คริสตจักรได้กำหนดวันหยุดไว้ 1 วันคือวันจันทร์ เป็นวันพักสงบหรือเรีกกว่าเป็น "วันสะบาโตในภาพส่วนตัว" ที่จะไปใช้เวลาพักสงบเพราะวันเสาร์เป็นเตรียมงานวันอาทิตย์และวันอาทิตย์ก็เป็นวันที่ต้องทำงานปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าและพี่น้องในคริสตจักร วันจันทร์จึงเป็นวันสะบาโต หรือ บางคนอาจจะเรียกว่า "วันสบายตัว"เป็นวันที่จะไปพักผ่อน ไปรับประทานอาหารนอกบ้านหรือไม่ก็ไปทำในสิ่งที่เป็นงานอดิเรกที่อยากทำ

สำหรับพี่น้องในคริสตจักร ผมจะแนะนำในใช้วันหยุดที่มีในรอบสัปดาห์เช่นวันเสาร์ให้ไปพักสงบส่วนตัวและครอบครัว เพื่อได้ใช้เวลาส่วนตัวให้เกิดประโยชน์และเป็นการระลึกถึงพระคุณและขอบพระคุณพระเจ้าที่กำหนดเวลาในการพักสงบให้กับเรา
วันสะบาโต ทำให้กลายเป็นวันสบายตัว คือมีเวลาพักสงบ
ในยุคแห่งพระคุณนี้ เรายังจำเป็นต้องรักษาพระบัญญัติสะบาโตเคร่งครัด แต่ไม่ควรทำเป็นภาระหนักตามกฏธรรมบัญญัติ


อัครทูตเปาโลกล่าวว่า พระเยซูทรงฉีกพระบัญญัติที่ผูกมัดเราแล้วที่กางเขน ฉะนั้นอย่าให้ใครมาพิพากษาเราโดยใช้เรื่องการกินดื่ม การถือเทศกาล หรือการถือสะบาโตมาเป็นเหตุ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเงาของพระคริสต์ซึ่งจะทรงมาทำให้สิ่งเหล่านี้สมบูรณ์ในภายหลัง (คส.2:14-17)

สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เราต้องตระหนักถึงวัตถุประสงค์ที่พระเจ้าทรงกำหนดให้มีวันสะบาโตขึ้นมา นั่นคือ พระองค์ประสงค์ให้มนุษย์เรามีการ “หยุดพักเพื่อระลึกถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อมนุษย์”
วัตถุประสงค์ของวันสะบาโต คือ การหยุดพักสงบ พบพระพรที่พระเจ้าจัดเตรียมไว้ให้กับมนุษย์

“พระเจ้าทรงสถาปนาวันสะบาโตในสวนเอเดน” เนื่องจากการเกี่ยวข้องระหว่างวันสะบาโตและการทรงสร้างในหนังสืออพยพ 20:11 แม้ว่าการที่พระเจ้าจะทรงพักผ่อนในวันที่เจ็ด (ปฐก.2:3)
การถือรักษาวันสะบาโตเป็นการทำพันธสัญญาระหว่างพระเจ้าและชนชาติอิสราเอล “โมเสสขึ้นไปเฝ้าพระเจ้า พระเจ้าตรัสจากภูเขานั้นว่า "บอกวงศ์วานยาโคบและชนชาติอิสราเอลดังนี้ว่า`พวกเจ้าได้เห็นกิจการซึ่งเรากระทำกับชาวอียิปต์แล้ว และที่เราเทิดชูเจ้าขึ้น ดุจดังด้วยปีกนกอินทรี เพื่อนำเจ้ามาถึงเรา เหตุฉะนั้นถ้าเจ้าฟังเสียงเรา และรักษาพันธสัญญาของเราไว้ เจ้าจะเป็นกรรมสิทธิ์ของเราที่เราเลือกสรรท่ามกลางชนชาติทั้งปวง เพราะแผ่นดินทั้งสิ้นเป็นของเรา” (อพย.19:3–5)

“เหตุฉะนี้ ชนชาติอิสราเอลจึงถือวันสะบาโตตลอดชั่วชาติพันธุ์ของเขาเป็นพันธสัญญาเนืองนิตย์ เป็นหมายสำคัญระหว่างเรากับชนชาติอิสราเอลว่า ในหกวันพระเจ้าได้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก แต่ในวันที่เจ็ดพระองค์ได้ทรงงดการงานไว้ และได้ทรงหย่อนพระทัยในวันนั้น” (อพย.31:16–17)

ในเฉลยธรรมบัญญัติ 5 โมเสสโยงบัญญัติ 10 ประการไปถึงชนชาติอิสราเอลรุ่นถัดไป ในตอนนี้ หลังจากที่ได้สั่งให้พวกเขารักษาวันสะบาโตในข้อ 12-14 แล้ว โมเสสยังให้เหตุผลว่าทำไมคนอิสราเอลจึงต้องรักษาวันสะบาโต: “จงระลึกว่าเจ้าเคยเป็นทาสอยู่ในแผ่นดินอียิปต์ และพระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้าได้พาเจ้าออกมาจากที่นั่นด้วยพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ และด้วยพระกรที่เหยียดออก เหตุฉะนี้พระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้าได้ทรงบัญชาให้เจ้ารักษาวันสะบาโต” (ฉธบ.5:15)
สังเกตคำว่าเหตุฉะนี้ พระประสงค์ของพระเจ้าในการกำหนดวันสะบาโตให้กับคนอิสราเอลไม่ใช่เพื่อให้พวกเขาจำการทรงสร้าง แต่เพื่อให้พวกเขาจำการเป็นทาสในอียิปต์และการทรงปลดปล่อยพวกเขาให้เป็นอิสระ
ในการรักษาวันสะบาโต:คนที่ถือวันสะบาโตออกจากที่พักของตนไม่ได้ (อพย.16:29)ไม่ให้ใครทำการงานใด ๆ เลย(อพย.5:14) ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎแห่งวันสะบาโตจะต้องถูกลงโทษถึงตาย (อพย.31:15; กดว.15:32–35)


ในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่กล่าวถึงการให้ความสำคัญในวันสะบาโต นั่นคือ เพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า
“คนหนึ่งถือว่าวันหนึ่งดีกว่าอีกวันหนึ่ง แต่อีกคนหนึ่งถือว่าทุกวันเหมือนกัน ขอให้ทุกคนมีความแน่ใจในความคิดเห็นของตนเถิด ผู้ที่ถือวันก็ถือเพื่อถวายเกียรติแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่กินก็กินเพื่อถวายเกียรติแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะเขาขอบพระคุณพระเจ้า และผู้ที่ไม่ได้กิน ก็มิได้กิจเพื่อถวายเกียรติแค่องค์พระผู้เป็นเจ้า และยังขอบพระคุณพระเจ้า” (รม.14:5–6) 
ความหมายและความเป็นมา

"สะบาโต" มาจากคำฮีบรูว่า "Subbat" จากรากศัพท์ Sabat จาก Bible Dictionary แปลว่า “การหยุด” หรือ “การหยุด (กระทำบางอย่าง)” ในพระคริสตธรรมคัมภีร์มีหลักการวางไว้ว่า หนึ่งวันในเจ็ดวัน จะต้องถือเป็นวันที่ถือว่าบริสุทธิ์แด่พระเจ้า


ในพระธรรมปฐมกาลที่บันทึกไว้ยังไม่ได้ใช้ศัพท์คำว่า “สะบาโต”แต่ใช้รากศัพท์ที่มีความหมายเดียวกัน คือ “การหยุด”
ปฐก. 2:2-3 2 วันที่เจ็ด พระเจ้าก็เสร็จงานของพระองค์ที่ทรงกระทำมานั้น ในวันที่เจ็ดนั้นก็ทรงพักการงานทั้งสิ้นของพระองค์ที่ได้ทรงกระทำ 3 พระเจ้าจึงทรงอวยพระพรแก่วันที่เจ็ด ทรงตั้งไว้เป็นวันบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ เพราะในวันนั้นพระองค์ทรงหยุดพักจากการงานทั้งปวง ที่พระองค์ทรงกระทำในการเนรมิตสร้าง
ในปฐมกาลไม่มีการกล่าวถือสะบาโตนอกเหนือไปจากวันที่เจ็ดของการทรงสร้าง ที่ใช้เวลา 6 วัน และในวันที่ 7 พระเจ้าทรงพัก ใช้รากศัพท์ คำว่า หยุดจากการงานทั้งสิ้นที่ได้ทรงกระทำ
การหยุดพัก มีมาตั้งแต่การทรงสร้างของพระเจ้าที่บันทึกในปฐมกาล พระองค์ไม่ได้หยุดเพราะพระองค์เหนื่อยแต่พระองค์ทรงแสดงให้เป็นแบบอย่างในการทรงหยุดพัก(งาน) ก่อนที่จะสั่งให้มนุษย์ทำในพระธรรมอพยพ
คำว่า "สะบาโต" มาปรากฏครั้งแรกในบัญญัติสิบประการที่ระบุไว้ในพระธรรมอพยพ ประการที่สี่ได้กล่าวถึงคำสั่งให้ถือวันสะบาโต
อพย.20:8-11
8 "จงระลึกถึงวันสะบาโต {คือ วันหยุดพัก (งาน)} ถือเป็นวันบริสุทธิ์ 9 จงทำการงานทั้งสิ้นของเจ้าหกวัน 10 แต่วันที่เจ็ดนั้นเป็นสะบาโตของพระเจ้าของเจ้า ในวันนั้นอย่ากระทำการงานใดๆ ไม่ว่าเจ้าเอง หรือบุตรชายบุตรหญิงของเจ้า หรือทาสทาสีของเจ้า หรือสัตว์ใช้งานของเจ้า หรือแขกที่อาศัยอยู่ในประตูเมืองของเจ้า 11 เพราะในหกวันพระเจ้าทรงสร้างฟ้าและแผ่นดิน ทะเล และสรรพสิ่งซึ่งมีอยู่ในที่เหล่านั้น แต่ในวันที่เจ็ดทรงพัก เพราะฉะนั้นพระเจ้าทรงอวยพระพรวันสะบาโตและทรงตั้งวันนั้นไว้เป็นวันบริสุทธิ์


สังเกตดูในพระธรรมอพยพที่บันทึกบัญญัติ 10 ประการนี้ ได้บันทึกกฎเกณฑ์ของ วันสะบาโตไว้ยาวกว่าทุกเรื่อง แสดงพระเจ้าทรงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก
นอกจากการยึดถือวันสะบาโต พระเจ้ายังมีพระประสงค์ให้ประชากรของพระองค์ทุกคนยึดถือปีสะบาโต(Sabbatical year)ด้วย เพื่อให้แผ่นดินได้หยุด ปีสะบาโต เป็นการจัดสรรของพระเจ้าเกี่ยวกับแผ่นดินลนต.25:2-5
2 "จงกล่าวแก่คนอิสราเอลว่า เมื่อเจ้าทั้งหลายเข้าแผ่นดินที่เราให้เจ้านั้น จงให้แผ่นดินนั้นถือสะบาโต 3 เจ้าจงหว่านพืชในนาของเจ้าหกปี และจงลิดแขนงสวนองุ่นของเจ้าและเก็บผลหกปี 4 แต่ในปีที่เจ็ดนั้นเป็นปีสะบาโต จงให้แผ่นดินหยุดพักสงบเป็น ปีสะบาโตแด่พระเจ้า เจ้าอย่าหว่านพืชในนา หรือลิดแขนงสวนองุ่นของเจ้า
5 สิ่งใดที่งอกขึ้นมาเอง เจ้าอย่าเก็บเกี่ยว องุ่นอันเกิดอยู่ที่เถาอันเจ้ามิได้ตกแต่งก็อย่าเก็บ ให้เป็นปีที่แผ่นดินหยุดพักสงบ
ลนต.26:34-35
34"เมื่อเจ้าต้องไปอยู่ในแผ่นดินของศัตรู แผ่นดินของเจ้าจะมีสะบาโตตราบเท่าเวลา ที่ว่างเปล่าอยู่ แผ่นดินก็จะได้หยุดพัก และมีสะบาโต 35 ตราบใดที่แผ่นดินว่างเปล่าอยู่ก็จะได้หยุดพัก คือจะได้หยุดพักอย่างที่มิได้หยุดในสะบาโตขณะเมื่อเจ้าอาศัยอยู่ในแผ่นดินนั้น

จุดสูงสุดของปีสะบาโตเป็นปีที่เฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี เป็นปีเสียงเขาสัตว์(Jubilee Year) ข้อห้ามของปีสะบาโตที่พระเจ้าสั่งให้อิสราเอลต้องกระทำตามเพื่อให้แผ่นดินได้หยุดพัก
ลนต.25:8 "เจ้าจงนับปีสะบาโตเจ็ดปีคือเจ็ดคูณเจ็ดปี เวลาปีสะบาโตเจ็ดปีจึงเป็นสี่สิบเก้าปีแก่เจ้า
ปีสะบาโตเป็นปีที่ ที่ดินจะตกกลับไปเป็นของเจ้าของดั้งเดิม คือ พระเจ้า มีกฎเกณฑ์ให้มีการยกหนี้ และปล่อยทาสให้เป็นไท เป็นเวลาแห่งการสรรเสริญขอบพระคุณพระเจ้าและพัฒนาความเชื่อว่าพระเจ้าจะทรงประทานอาหารให้
ความสำคัญของการสถาปนาการพักของแผ่นดิน คือ การพักเป็นทั้งของแผ่นดิน คืออาณาจักรพระเจ้า และการพักของพระเจ้า เพื่อรักษาสิ่งต่างให้อยู่ในภาพที่สมบูรณ์
ข้อคิดคือ พระเจ้าทรงกำหนดการพักเพื่อจะให้เราได้อารักขาสิ่งต่างๆ ไม่ใช่ ใช้จนกระทั่งมันพังไป เช่น เวลาเราขับรถเดินทางไกล เราต้องมีการหยุดพักรถ เพื่อป้องกันเครื่องยนต์พัง  หรือ เราทำงานหนักเกินไปร่างกายต้องการพักผ่อน ไม่เช่นนั้นจะป่วยไข้

หลักการของพระเจ้า หมายเลข 7 เป็นเลขแห่งความสมบูรณ์ และทรงกำหนดวงจรไว้เพื่อการหยุดพักเพื่อทำให้มนุษย์ได้รับพระพรจากพระเจ้า

วันที่ 7 เป็นวันสะบาโต และนับไป 7X7 ได้ 49หรือ 7 สัปดาห์ และวันที่ 50 เป็นการฉลองเทศกาลสัปดาห์หรือเพ็นเทคอสต์(Pentecost-แปลว่า 50) เพื่อจัดเทศกาลเฉลิมฉลอง 
ปีที่ 7 เป็นปีแห่งปีสะบาโต (Sabbatical year)เพื่อหยุดพัก และปีที่ 50 เป็นปีเสียงเขาสัตว์(Jubilee Year) เพื่อจัดเทศกาลเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่


ความสำคัญที่จำเป็นต้องรักษาวันสะบาโต

1.สะบาโตเป็นของพระเจ้า(อพย.20:10-11)
ดังนั้นการที่เป็นวันของพระองค์ จึงเป็นหลักและเหตุที่คริสเตียนทุกคนจะต้องถือรักษา เพราะเป็นวันที่พระองค์ทรงอวยพระพร และทรงตั้งไว้ให้เป็นวันบริสุทธิ์ คำว่า "บริสุทธิ์" ดังนั้นต้องแยกออกมาเพื่อพระเจ้า เราต้องแยกวันหนึ่งจาก 6 วันออกมาเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า

2.เป็นคำสั่งของพระเจ้าให้มนุษย์ถือรักษาวันสะบาโต (อพย.20:8-10)
เมื่อพระเจ้าทรงตั้งอิสราเอลให้เป็นประชาชาติของพระองค์ พระองค์ทรงประทานบัญญัติ 10 ประการให้พวกเขา และพระบัญญัติข้อหนึ่งในนั้น คือ ทุกคนต้องหยุดทำงานหนึ่งวันในเจ็ดวัน (หนึ่งสัปดาห์ ทำงาน 6 วัน หยุดพักงาน 1 วัน)(อพย.20:8"จงระลึกถึงวันสะบาโต {คือ วันหยุดพัก (งาน)} ถือเป็นวันบริสุทธิ์)
คำว่า "จง" เป็นคำสั่งในใช่ทางเลือกปฏิบัติ เราจึงต้องถือรักษาให้เป็นวันบริสุทธิ์สำหรับพระเจ้า

3.การถือรักษาวันสะบาโตเป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ที่สนิทสนมระหว่างพระเจ้ากับคนของพระองค์(อพย.31:13-17)
การที่ชนชาติอิสราเอล ถือรักษาวันสะบาโตเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่แสดงว่า เขาเป็นประชากรของพระเจ้าและมีความสัมพันธ์อันแนบสนิทกับพระองค์ด้วยพันธสัญญาตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด
และเป็นการสามัคคีธรรมกับพี่น้องในคริสตจักร
พระเยซูทรงชี้ให้เห็นถึงความสำคัญที่แท้จริงของสะบาโตที่ทรงตั้งไว้สำหรับมนุษย์ และชี้ให้เห็นถึงสิทธิอำนาจของพระองค์ที่จะพูดเรื่องวัตถุประสงค์ของสะบาโต
มก. 2:27-28
27 พระองค์จึงตรัสแก่เขาว่า "วันสะบาโตนั้นทรงตั้งไว้เพื่อมนุษย์ มิใช่ทรงสร้างมนุษย์ไว้สำหรับวันสะบาโต
28 เหตุฉะนั้นบุตรมนุษย์เป็นเจ้าเป็นนาย เหนือวันสะบาโตด้วย"
พระเจ้าจึงทรงออกแบบให้มีวันพักสงบหนึ่งวันต่อสัปดาห์ โดยมีพระประสงค์เพื่อประโยชน์ของมนุษย์
เพื่อระลึกถึงพระราชกิจอันทรงพระคุณของพระเจ้า ในวันสะบาโตเราจึงขอบคุณพระเจ้าสำหรับการไถ่บาปผ่านทางพระเยซูคริสต์

4.วันสะบาโตเพื่อการพักสงบ
เราจึงได้ผ่อนคลายความอ่อนล้าของร่างกาย ได้รับการฟื้นฟูจิตใจให้สดชื่นขึ้นอีกครั้งและรับกำลังในฝ่ายวิญญาณโดยเข้ามาหาพระเจ้า มารับกำลังฝ่ายวิญญาณจากพระองค์
เราอาจจะสาละวนทำงานหนัก บางคนอยากจะทำงานในวันอาทิตย์เพื่อจะได้ค่าแรง 2 เท่าหรือ OT (Overtime)แต่ไม่ได้พักผ่อนจนป่วยไข้ต้องไปเข้า OPD(Out Patient Department )แผนกผู้ป่วยนอกแทน หรือบางคนทำงานหนักไม่มีเวลาพักผ่อน เพราะ Busy ยุ่งตลอดเวลา แต่อยากจะบอกว่า คำว่า Busy คือ BUSY: Being Under Satan's York หมายถึง ตกอยู่ภายใต้แอกของมาร
พระเจ้าปรารถนาให้เราทั้งหลายได้พักหายเหนื่อย และพระองค์ปรารถนาจะแบกภาระปัญหาของเราไว้
วันนี้เราไม่ต้องแบกภาระหนักแล้ว เพราะพระเยซูคริสต์ปรารถนาให้เราได้รับการผ่อนคลาย ทั้ง 3 ด้าน ทั้งพักผ่อนด้านร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณ
มธ.11:27
28 บรรดาผู้ทำงานเหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลาย หายเหนื่อยเป็นสุข


29 จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพและใจอ่อนน้อม และจิตใจท่านทั้งหลายจะได้พัก
30 ด้วยว่าแอกของเราก็พอเหมาะ และภาระของเราก็เบา"
ผู้รับใช้พระเจ้า ท่านหนึ่งคือ วอชแมน นี(Watchman Nee) กล่าวว่า
"ชีวิตคริสเตียนประกอบด้วยการนั่งกับพระคริสต์ เดินกับพระองค์และยืนในพระองค์ เราเริ่มต้นชีวิตฝ่ายวิญญาณของเราด้วยการพักสงบในงานที่สำเร็จแล้วของพระเยซูคริสต์ การพักสงบนั้นคือแหล่งแห่งกำลังของเรา เพื่อการดำเนินได้อย่างมั่นคงในโลกใบนี้”
ดังนั้นเราจึงสามารถเข้ามาคริสตจักรในทุกสัปดาห์ด้วยการขอบพระคุณพระเจ้า สำหรับการพักสงบในวันสะบาโต เป็นการหยุดพักชั่วคราว เพื่อจะพักสงบชั่วนิรันดร์บนแผ่นดินของพระเจ้าในสวรรคสถาน
เมื่อเราอยู่ในโลกนี้ เราเพียงแค่พักในห้องนั่งเล่น ที่ Lobby ของโรงแรมหรู แต่ในวันสุดท้ายที่พระเยซูคริสต์เสด็จมา พระองค์เตรียมห้อง Sweet suite สุดหรุูหราให้กับเราบนแผ่นสวรรค์แล้ว
เพราะเรา Check in ตั้งแต่วันที่เราตัดสินใจเชื่อแล้ว 
ได้เวลาที่เราจะพักสงบ เพื่อพบพระพรจากพระเจ้าแล้ว เพื่อเตรียมชีวิตสู่การพักสงบที่แท้จริงในสวรรค์!